xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.เตรียมผุด “ทีวีมลายู” ออกช่อง 11 ยะลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) (ภาพจากแฟ้ม)
ศอ.บต.เตรียมเปิดช่องรายการภาษามลายู ออกช่อง 11 ยะลา โวพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เล็งจัดเสวนาสร้างเสริมภาษามลายู ดันศูนย์ภาษามลายู หวังสร้างปัญญาชนภาคใต้

วันนี้ (11 ต.ค.) พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการประชาสัมพันธ์เป็นภาษามลายู เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องของภาษาและชาติพันธุ์ ซึ่งต้องยอมรับความจริง ว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นชาวมุสลิมที่ใช้ภาษามลายู ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมอย่างมาก โดยในช่วงที่รัฐบาลเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ก็ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ที่จะให้โรงเรียนของรัฐ มีการเรียนการสอนเป็นภาษามลายู ควบคู่ไปกับการสอนภาษาไทย จากเดิมที่มีการเรียนการสอนภาษามลายูเฉพาะในโรงเรียนสอนภาษา และโรงเรียนปอเนาะ

พล.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สำหรับโครงการประชาสัมพันธ์เป็นภาษามลายูนั้น ได้ดำเนินการไปแล้วในด้านของรายการวิทยุผ่านคลื่นเอฟเอ็ม ขณะนี้ได้เตรียมการจัดทำรายการโทรทัศน์เป็นภาษามลายู เพื่อให้เป็นรายการโทรทัศน์ท้องถิ่นในพื้นที่ โดยใช้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือช่อง 11 สำนักงานจังหวัดยะลา สำหรับการออกอากาศ ซึ่ง ศอ.บต.พยายามที่จะทำให้เป็นรายการโทรทัศน์ของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการเชิญประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการกำหนดรูปแบบรายการอย่างชัดเจน

“ศอ.บต.ต้องการให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชนในพื้นที่จริงๆ จึงมีการจัดทำรายการเป็นภาษามลายู รวมทั้งเป็นช่องทางในการรายงานข่าวสารของรัฐ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณารูปแบบรายการที่มีการเชิญประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และอยู่ในระหว่างการสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่าต้องการรูปแบบรายการแบบไหนให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง” พล.ต.อ.ทวี กล่าว

พล.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลซึ่งเห็นความสำคัญของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็นประตูสำคัญไปสู่อาเซียน เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งใช้ภาษามลายูกันอย่างแพร่หลาย จึงมีการสั่งการให้ ศอ.บต. เตรียมความพร้อมเพื่อไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดย 1.เตรียมความพร้อมเรื่องคน ด้วยการให้ความรู้เรื่องภาษาและประชาคมอาเซียน 2.เตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ โดยอาจจะมีการทำป้ายและสัญลักษณ์ในการบอกถนนหนทาง และสถานที่สำคัญ ในพื้นที่เป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ ภาษามลายู 3.การเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจชุมชน 4.การเตรียมความพร้อมเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นสากลและสามารถเชื่อมประสานกับประเทศต่างๆ ได้ และ 5.การเตรียมความพร้อมเรื่องวินัยของคน ให้เรียบร้อยก่อนที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

ด้านการเตรียมความพร้อมด้านภาษามลายูนั้น ทาง ศอ.บต.เห็นความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะประเทศส่วนใหญ่ในประชาคมอาเซียน ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน รวมไปถึงบางส่วนของพม่า และ กัมพูชา ต่างก็นิยมใช้ภาษามลายู ศอ.บต.จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดงานเสวนาเรื่อง “เสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายู สู่อาเซียน” ซึ่งเป็นงานสัมมนานานาชาติ โดยมีการเชิญนักวิชาการจากศูนย์ภาษามลายูจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และ สิงคโปร์ เข้ามาร่วมงานเสวนาในวันที่ 13 ต.ค. 2555 ที่โรงแรมปาร์ควิว ปัตตานี เพื่อเปิดเวทีทางวิชาการให้กับภาษามลายูในประเทศไทย ที่อาจจะมีศูนย์ภาษามลายูประเทศไทย เพื่อสร้างปัญญาชนทางภาษามลายูในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น