ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับทราบรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำปี 2551-2552 โดยระบุเหตุชุมนุมทางการเมือง ส่งให้วุฒิสภา พบลูกหาบเพื่อไทยพยายามให้ถอนกลับไปทำใหม่ ถึงขั้นให้โหวตญัตติ แต่ ส.ส.ปชป.เสียงแข็งขู่วอล์กเอาต์ “วัชระ” ชี้รายงานแทงใจดำ เสนอภาพเสื้อแดงรุมทหาร-ล้อมรถอภิสิทธิ์
วันนี้ (11 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำปี 2551-2552 ที่มีการระบุถึงเหตุการณ์ต่างรวมถึงการชุมนุมทางการเมืองต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่มีการปิดประชุมสภาก่อนที่จะมีการรับทราบรายงานดังกล่าว ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ อาทิ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่ารายงานฉบับนี้จะต้องส่งให้รัฐสภาร่วมพิจารณา แต่เมื่อส่งมาที่สภาฯ แล้วถือว่าไม่ถูกต้อง และต้องการให้ทางคณะกรรมการสิทธิฯ นำรายงานนี้กลับไปทบทวนเนื่องจากมีรายละเอียดบางส่วนไม่ครอบคลุม หรือ ให้ส่งรายงานไปยังคณะกรรมาธิการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏรพิจารณา
แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้แสดงความเห็นคัดค้านว่า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงการรับทราบเท่านั้นก่อนที่จะส่งไปยังวุฒิสภารับทราบด้วย อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ยืนยันแล้วว่าจะไม่มีการถอนรายงานไปทบทวนเพราะกรอบการทำงานคือว่าจบกระบวนการแล้ว โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่าทำไม่ได้ น่าบัดสี น่ารังเกียจ หากสภามีมติที่จะเสนอไปยังคณะกรรมาธิการสามัญน่าจะเป็นมติที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายและไม่ว่ามติจะออกมาอย่างไรคณะกรรมาการสิทธิ์ฯต้องยืนยันความเป็นอิสระจะถอนไม่ได้
ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวสนับสนุนโดยระบุว่าสาเหตุที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้ เพราะมีการเสนอภาพคนเสื้อแดงรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร และปิดล้อมรถนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เลยทนไม่ได้ที่เอาความจริงมารายงานต่อสภา จึงต้องการให้ส่งไปให้คณะกรรมาธิการกฏหมายของสภาแก้ไขความจริงใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนได้สนับสนุนญัตตินายขจิตร โดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ให้สมาชิกโหวตญัตติ แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันตะโกนคัดค้าน และขู่ว่าจะวอล์กเอาต์ เพราะไม่ร่วมสังฆกรรมกับตราบาปครั้งนี้
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอแนวทางออกว่า เมื่อคณะกรรมการสิทธิฯ เสนอรายงานมายังสภาตามอำนาจหน้าที่ให้สภารับทราบ หาก ส.ส. เห็นว่ามีประเด็นใดที่ควรตั้งกรรมาธิการพิจารณาก็เป็นสิทธิ์ แต่ถ้าจะให้ลงมติว่าให้สภาไม่รับทราบ หรือให้ถอนออกไปไม่ได้ และประธานต้องวินิจฉัยว่าการบรรจุวาระนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็ต้องถามคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าจะถอนหรือไม่ ถ้ายืนยันไม่ถอน สภาก็ต้องพิจารณารับทราบ หรือถ้าจะมีญัตติส่งไปตามข้อเสนอของนายขจิตรก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้
ด้านนายวิสุทธิ์ยืนยันว่าได้บรรจุวาระถูกต้องตามมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ คือให้สภาพิจารณารับทราบก่อนส่งไปยังวุฒิสภาอีกที และการอภิปรายเมื่อวันพฤหัสที่แล้วถือว่ารับทราบแล้ว เพียงแต่มีบางประเด็นที่สมาชิกติดใจ แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอให้คณะกรรมาธิการสามัญไปพิจารณาอีกครั้งได้ แต่สมาชิกยังคงแสดงความเห็นถกเถียงกันไปมาโดยไม่ได้ข้อสรุป จนในที่สุดนายวิสุทธิ์จึงตัดบทว่า เมื่อถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือส่งให้วุฒิสภา ส่วนกรณีที่มีการเสนอญัตติที่ค้างอยู่ก็ดำเนินไปตามขั้นตอน จากนั้นได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 15.50 น.