xs
xsm
sm
md
lg

คอป.ยันชุดดำมีจริงเอี่ยวทหารพราน - DSI แฉกระสุนยิงสื่อยุ่นตายทหารไม่ได้ใช้ 10 เมษาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะทำงานสอบชายชุดดำ กมธ.ตำรวจ สภา เรียกอธิบดีดีเอสไอ-คอป.-“นวยนิ่ม” แจง “สมชาย” คอนเฟิร์มมีชุดดำจริง เกี่ยวทหารพรานปักธงชัย เผยพบกองทัพไม่ได้เบิกเอ็ม 79-เอ็ม 67 ใช้ ด้าน “ศิริโชค” จับผิดคดี “วสันต์-กมนเกด” ซักแต่ฝั่งแดง “ธาริต” แนะส่งข้อมูลให้ศาลสอบ อ้างอยู่เขตควบคุมทหารเก็บข้อมูลยาก ยืนยันมีจริงๆ ศาลรับฟ้องแล้ว แต่คาดคดีเจ้าหน้าที่รัฐสังหารจะตามมาราว 36 ศพ ขณะที่ พนง.สอบ DSI รับ “ฮิโรยูกิ” ตายด้วยกระสุนอาก้า 10 เมษาฯ ทหารไม่ได้ใช้ “สาธิต” แนะกรมสอบสวนฯ ตั้งอนุฯ ให้คู่กรณีแจง

วันนี้ (9 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมคณะทำงานพิจารณาเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ว่ามีชายชุดดำในการชุมนุมหรือไม่ ที่มีนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวอยู่ในคณะกรรมาธิการตำรวจ ซึ่งในวันนี้มีการเชิญนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ในฐานะอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้าชี้แจง โดยนายสมชายกล่าวว่า คอป.ได้ตรวจสอบในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการชุมนุมซึ่งจากการตรวจสอบยืนยันว่าพบว่ามีบุคคลใช้อาวุธสงครามโจมตีครั้งแรกที่สี่แยกคอกวัว ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 และไม่ได้ปฏิบัติการเพียงแค่วันดังกล่าวเท่านั้น เพราะจากการพูดคุยกับหน่วยข่าวกรองทำให้เชื่อได้ว่ามีการปฏิบัติของคนชุดดำจริงในหลายเหตุการณ์ทั้งก่อนและหลัง 10 เม.ย. 2553 โดยที่กลุ่มนี้มีความเกี่ยวพันกันกับทหารพรานค่ายปักธงชัย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของทหารไม่ได้มีการเบิกใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดเอ็ม 67

ขณะที่ นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการจำลองวิถีกระสุนที่ทำให้นายวสันต์ ภู่ทอง เสียชีวิต โดยนายศิริโชคกล่าวว่า เบื้องต้นได้มีความพยายามระบุว่านายวสันต์ ตายด้วยกระสุนปืนที่ยิงออกมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งยืนประจันหน้าอยู่กับฝั่งผู้ชุมนุม แต่จากหลักฐานคือภาพถ่ายและคลิปวิดีโอจะเห็นว่า นายวสันต์ยืนอยู่หลังกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งถ้ากระสุนปืนยิงออกมาจากเจ้าหน้าที่รัฐจริงเท่ากับว่ากระสุนปืนจะต้องทะลุแนวหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุมเสียก่อน โดยในความเป็นจริงไม่มีทางเป็นไปได้ ส่วนคดีที่อยู่ในการดูแลของดีเอสไอส่วนใหญ่จะยึดพยานซึ่งอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกับผู้เสียหายเป็นหลัก เช่น หนึ่งในพยานปากเอกคดีการตายของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา นปช.ที่ดีเอสไอให้ความสำคัญ คือ นายสมพงศ์ บังชุม ซึ่งจากหลักฐานนายสมพงศ์ก็เป็นหน่วยกู้ภัยให้กับ นปช. นอกจากนั้นเห็นว่าคดีของ น.ส.กมนเกดมีความผิดปกติ เนื่องจากวิถีกระสุนที่ยิงเพียงแค่ 10 องศา แต่หากยิงจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามจะมีวิถีกระสุนอย่างน้อย 20-30 องศา

ด้านนายธาริตกล่าวว่า ในส่วนของดีเอสไอก็มีความเห็นว่านายวสันต์ไม่ได้ตายด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปรากฏว่าญาติผู้ตายได้ยื่นคำร้องกับ บช.น. ในที่สุด บช.น.จึงได้ส่งสำนวนต่อศาล ทั้งนี้ ตนเห็นว่าควรส่งข้อมูลนี้ให้กับศาล เพราะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อคดี ทั้งนี้ยอมรับว่าหลายคดีได้อาศัยพยานเป็นสาระสำคัญ เพราะการเข้าเก็บหลักฐานยากต่อการเข้าถึง เนื่องจากอยู่ในเขตควบคุมของทหาร ซึ่งกรณีของชายชุดดำนั้น ยอมรับว่ามีอยู่ในเหตุการณ์จริง โดยอยู่ในคดีก่อการร้ายที่ศาลรับฟ้องแล้ว แต่คดีที่มีการไต่สวนการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีการไต่สวนแล้ว 1 คดีและกำลังจะตามมา 35 คดีหรือคดี 36 ศพ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับชายชุดดำ

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอ กล่าวตอบคำถามของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต หนึ่งในคณะทำงาน โดยยอมรับว่า ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 จนทำให้นายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์เสียชีวิต พบว่าตายด้วยกระสุนความเร็วสูง 7.62 ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับปืนอาก้า ส่วนจะใช้กับปืนชนิดอื่นได้หรือไม่ ตนไม่รู้ แต่ในวันดังกล่าวทหารไม่ได้ใช้ปืนอาก้าในการปฏิบัติหน้าที่

ด้านนายสาธิตแถลงภายหลังประชุมว่า นายสมชายได้ระบุชัดเจนว่ากลุ่มติดอาวุธมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทหารพรานจ.นครราชสีมา ส่วนการเสียชีวิตของนายวัสนต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงนั้น นายธาริตชี้แจงว่าไม่น่าจะเกิดการจากกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนี้คณะทำงานฯ และดีเอสไอเห็นว่าการที่หนักงานสอบสวนใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตนั้นจะทำให้เกิดปัญหา เพราะเป็นการไต่สวนพยานเพียงฝ่ายเดียว จึงเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาพิจารณาให้คู่กรณีสามารถชี้แจงและนำเสนอข้อมูลมาหักล้างฝ่ายผู้ร้อง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาผลการไต่สวนเป็นไปตามคำร้องของผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น