ส.ว.กาฬสินธุ์ วอนรัฐทำฝนหลวงในจังหวัดหลังเจอภัยแล้งเล่นงานหนักสุดในรอบ 20 ปี ด้าน "ส.ว.สุรศักดิ์" จี้นายกฯ สอบถุงทรายยัดท่อในกทม. ขณะที่ ปธ.กมธ.พลังงาน วุฒิ แนะทบทวนกฏหมายปิโตรเลียม
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลเร่งรัดทำฝนหลวงในจ.กาฬสินธุ์ แม้ทั่วประเทศมีปัญหาน้ำท่วม แต่จังหวัดตนกลับประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งถือว่าแล้งที่สุดในรอบ 20 ปี จึงอยากเร่งรัดให้ทำฝนเทียม เพราะขณะนี้น้ำในเขื่อนลำปาวเหลือปริมาณน้ำแค่ 24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการสำรวจทั่วไปส่วนใหญ่จะมีกว่า40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ยังการประกาศว่างดการส่งน้ำให้เกษตรกร 300,000 ไร่ ซึ่งในตอนแรกคาดการณ์ว่าพายุแกมีจะเพิ่มปริมาณน้ำให้จ.กาฬสินธุ์ แต่สุดท้ายกลับไม่มีปริมาณน้ำเพิ่มเลย ดังนั้น คาดว่าฤดูแล้งนี้จะขาดแคลนน้ำ ค่อนข้างมาก จึงฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรี รมว.เกษตรฯ ผอ.สำนักฝนหลวง เร่งดำเนินการทำฝนเทียมอย่างเร่งด่วนที่สุด อย่างไรก็ตาม หากน้ำในเขื่อนแห้งจะกระทบต่อจีดีพีของจ.กาฬสินธุ์ รวมถึงจะกระทบทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมากมาย
ด้านพล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีทีพบถุงทรายในท่อระบายน้ำของกทม.ว่า เรื่องนี้สำนักระบายน้ำ กทม.ให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่ต่ำจึงต้องนำถุงทรายไปใส่เพื่อช่วยการระบายน้ำ ขณะที่ประธานกบอ.ให้ข้อเท็จจริงและตั้งคำถามไปยังกทม.ให้ชี้แจงเรื่องนี้ ตนในฐานะผู้ได้เสียเนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเห็นว่าสะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาการขาดความชัดเจนในเรื่องการแบ่งมอบพื้นที่รวมถึงอำนาจหน้าที่ กฎหมายบางข้อยังไม่มีความชัดเจน และฐานข้อมูลของกทม.ยังไม่มีชัดเจน ดังนั้นตนข้อเรียกร้องให้นายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมด
ขณะที่นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี และประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา กล่าวถึง พ.ร.บ.ปิโตเลียม ว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ทางกัมพูชาแถลงข่าวว่าพร้อมจะขุดเจาะน้ำมันในเชิงพาณิชย์ประมาณต้นปีหน้า ร่วมกับบริษัทเชฟรอน และมิตซุยฯ โดยทางกัมพูชาได้ตกลงกับบริษัทเชพรอนซึ่งจะได้ผลประโยชน์ 70 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ทั้งหมด ถ้าเทียบกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เราจะมีรายได้เพียงแค่กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของกำไรซึ่งถือว่าน้อย ทั้งๆที่กัมพูชาไม่มีกฎหมายปิโตรเลียม ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้มีการทบทวนพ.ร.บ.ปิโตรให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม