การประชุมวุฒิสภาวันนี้มีเรื่องหารือก่อนเข้าสู่วาระหลายประเด็น “สมชาย” จี้ “ดีเอสไอ” ทบทวนตรวจสอบจับฉ่าย วอนดูชายชุดดำ-มือยิงเอ็ม 79 “ประสาร-สุมล” ซักนโนบายจำนำข้าว จับโกหก “บุญทรง” ขายข้าวในสต๊อกจริงหรือไม่ “คำนูณ” หนุนคำพิพากษาศาลปกครองคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ล้อมรัฐสภาไม่ชอบ เหตุเป็นแนวทางเดียวกับวุฒิสภาศึกษาไว้
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดยนายวิบูลย์ คูหิรัญ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทยว่า เชื่อว่าถ้ารัฐบาลไทยจะอนุญาตตามคำขอเรื่องนี้จริง ควรจะให้เจ้าหน้าที่ไทยได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น การเตรียมแผนดำเนินการของนาซา รวมทั้งการศึกษาข้อมูลที่ได้จากนาซาก็ควรให้เจ้าหน้าที่ไทยเป็นผู้จัดตั้งซอฟต์แวร์ในการศึกษาครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นที่จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าร่วมโครงการ อาจต้องใช้งบประมาณในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านมาร่วมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เต็มที่
นายสุธรรม พันธุศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวการก่อความไม่สงบมีระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และผู้ก่อความไม่สงบผยองถึงขั้นออกใบปลิวสั่งให้ประชาชนหยุดทำการค้าขายในทุกวันศุกร์ ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา มีประชาชนหยุดทำการค้าขายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ต่อมาวันศุกร์ที่ 5 ต.ค. ร้านค้าใน จ.ยะลา กลับหยุดการค้าขายถึง 80 เปอร์เซนต์ ทั้งการบริการของรถโดยสารประจำทางก็หยุดวิ่งด้วย จึงรู้สึกเป็นกังวลว่ารัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อีกทั้งยังมีประเด็นที่กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดัง ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็พบว่ามีความคล้ายคลึงกับประชาชนในรัฐกลันตัน ตรังกานู เคดาห์ และปะลิส ของประเทศมาเลเชีย ซึ่งเป็นเครือญาติกันมาตั้งแต่ในอดีต เพียงแค่เส้นกั้นเขตแดนจึงทำให้อยู่คนละประเทศ โดยเฉพาะรัฐกลันตัน ยังพบว่ามีวิถีชีวิตหยุดทำงานวันศุกร์ด้วย เรื่องดังกล่าวจึงเป็นอันตรายต่อประเทศไทยมาก ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้มีนโยบายที่แน่นอน ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะสูญเสียการปกครองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอหารือผ่านไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในเรื่องเจตนารมณ์การก่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งได้ระบุว่า สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป จนกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งก่อให้เกิดอาชญากรรมที่ได้ใช้เทคโนโลยีและอิทธิพลเครือข่ายภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ยากต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีตามปกติ จากสาเหตุนี้จึงตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้น แต่ขณะนี้ดีเอสไอกลับปฏิบัติงานไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ทำหน้าที่สอดรับกับนโยบายการเมืองของรัฐบาล และทำหน้าที่จับฉ่ายเลอะเทอะ ดังนั้นจึงขอให้คณะกรรมการพิเศษที่จัดตั้งองค์กรดังกล่าวได้หันมาทบทวนเรื่องนี้
นายสมชายกล่าวต่อว่า ตนได้ศึกษา พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ในมาตรา 21 ซึ่งระบุว่าคดีที่ดีเอสไอจะรับไว้ตรวจสอบได้นั้น จะต้องเป็นคดีที่มีความซับซ้อน และรวบรวมหลักฐานเป็นพิเศษ เช่น ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การประกอบธุรกิจแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ เป็นต้น แต่ในข้อเท็จจริงไม่เห็นว่าดีเอสไอจะรับเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง เพราะขณะนี้ก็เห็นรับแต่คดีของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ไปร้องให้ตรวจสอบการพิจารณากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติที่ไม่ครบองค์ประชุม หรือเป็นเรื่องที่นายเรืองไกร ร้องให้ตรวจสอบ 2 พรรคการเมือง คือพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ในกรณีรับเงินบริจาค หรือตรวจสอบนายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าได้รับการโปรดเกล้าฯ หรือไม่ หรือแม้แต่การตรวจสอบจีที 200 การลอกท่อระบายน้ำ เรื่องน้ำท่วม ทั้งนี้ จึงขอเรียกร้องให้ดีเอสไอกลับมาพิจารณาคดีที่พิเศษจริงๆ เช่น ชายชุดดำที่ถูกจับได้ และรับสารภาพจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษบางเขน อีกทั้งผู้ต้องหาที่สารภาพว่ายิงเอ็ม 79 และปาระเบิดใส่ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรอง เสธ.พล.ร.2 รอ.ค่ายจักรพงษ์
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ได้หารือถึงนโยบายการจำนำข้าวของรัฐบาลว่า การที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่ามีผู้ซื้อข้าวแล้ว 7.5 ล้านตัน แต่ก็ไม่มีรายละเอียด จาการสอบถามแวดวงผู้ส่งออกข้าว บอกว่าขายข้าวขนาดนี้จะต้องใช้กระสอบกี่พันกี่ร้อยล้านใบ จองเรือกี่ร้อยล้านเที่ยว แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวในการผลิตกระสอบหรือจองเรือเลย ดังนั้นอย่ามั่วๆ ไปอย่างนี้ อีกทั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกฯ และประธานธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่าการจำนำข้าวเปิดช่องการทุจริตทำลายโครงสร้างตลาด จะให้ตนเชื่อนายวีรพงษ์หรือจะให้เชื่อ รมว.พาณิชย์ หรือเชื่อนายกฯ
ด้าน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรีและกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า ฝากไปถึงนายกฯ รองนายกฯ และ รมว.คลัง รมว.พาณิชย์ ปลัดกระทรวง และอธิบดีกระทรวงพาณิชย์ โมเดลโกหกสีขาวจากการที่โครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 5 ต.ค.อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแจ้งว่าให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ทำใบส่งสินค้าจ่ายข้าวให้กับผู้ซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มารับมอบ 4-5 ราย แต่พอวันที่ 6 ต.ค. อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกลับบอกว่ากรมได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐจำนวน 7 ล้านตันจริง แต่ไม่สมารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่ทำไว้กับประเทศนั้นๆ จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศต้องชี้แจงว่าใครเป็นผู้ซื้อไป ราคาเท่าไหร่ แต่กลับไม่มี จึงคิดว่าการโกหกสีขาวได้ระบาดไปถึงข้าราชการประจำ และคิดว่ารัฐบาลนี้มีเรื่องโกหกสีขาวอีกกี่เรื่อง
นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง หารือว่า การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยซึ่งมีหลายระลอก แต่จากบทเรียนปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิต 700 กว่าคน ระบบการช่วยเหลือรัฐบาลต้องเตรียมการที่ดี คือต้องตรวจสอบสัญญาณการเตือนภัย มีประสิทธิภาพมีการซักซ้อมเป็นประจำหรือไม่ และจากการติดตามสาเหตุการเสียชีวิตในปีที่แล้วมาจากจมน้ำ ไฟฟ้าดูด ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมมาตรการแก้ไข โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า นอกจากนี้กรณีผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ชรา หญิงมีครรภ์ระบบการช่วยเหลือบางพื้นที่ค่อนข้างมีปัญหา
นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะนำรถเมล์ระบบเอ็นจีวีกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติยังไม่ยุติ ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกคน ไม่สร้างอุปสรรค์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ แม้ประชาชนจะมีข้อจำกัด ไม่ว่าวัย เพศ ความพิการ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้เร่งทบทวน จุดยืนที่แข็งกร้าว ของกระทรวงคมนาคม และขสมก.ที่ไม่ยอมนำข้อเสนอของกลุ่มคนพิการไปพิจารณา ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ขยายเวลาการขึ้นรถเมล์ฟรี แต่ยังปรากฎว่าผู้สูงอายุ และคนพิการถูกปฏิเสธ โดนพนักงานขับรถหนี นอกจากนี้การจ่ายค่าโดยสารหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของพนักงานเก็บค่าโดยสาร มากกว่านโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องประกาศนโยบายให้จริงจัง ไม่ใช่เป็นดุลพินิจของคนใดคนหนึ่งที่จะทำบุญเป็นครั้งๆ ไป
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา หารือว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ครบรอบ 4 ปีของการที่มีมวลชนกลุ่มหนึ่งมาล้อมรัฐสภา และเกิดเหตุการณ์รุนแรง ตนจะไม่พูดถึงมูลเหตุและเหตุการณ์เพราะเป็นแนวคิดทางการเมือง แต่สิ่งที่ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ยินแล้วรู้สึกเจ็บปวดอย่างยิ่งคือ พวกเขาใช้ความรุนแรง โดยผู้เสียชีวิตถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ว่าพกระเบิดมาเอง ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 55 ได้มีการคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ ผู้ฟ้องคดีที่หนึ่ง กับพวกรวม 250 คน ได้ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับสำนักนายกฯ โดยพิพากษาระบุว่าการสลายการชุมนุมในวันนั้นไม่ได้เป็นการปฏิบัติตามหลักสากลจากเบาไปสู่หนัก ไม่ชอบด้วยรูปแบบขั้นตอน “กรกฎ 48” และเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นเพราะกระทำหลายรอบตลอดทั้งวันจนค่ำ และข้ออ้างที่ว่าผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายนั้นก็ไม่เป็นเหตุให้รับฟังได้ว่าต้องกระทำการด้วยความรุนแรง ศาลปกครองจึงพิพากษาว่าละเมิดตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 มาตรา 10 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พิพากษาให้ชดใช้แก่ผู้ถูกฟ้อง ตามกรณีรวมแล้วมากกว่า 32 ล้านบาท เป็นแนวทางคำพิพากษาที่เป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภาได้ศึกษามาแล้ว 3 ชุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ศึกษามาแล้ว และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดไว้แล้ว
นายสุเมธ ศรีพงษ์ ส.ว.นครราชสีมา หารือว่า ขอฝากไปถึงนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่ระดับข้าราชการระดับสูง ซี 9 และซี 10 โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดกระทรวง การแต่งตั้งเป็นไปอย่างล่าช้า มาถึงวันนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ ซึ่งอาจจะช้าไปถึงเดือน ม.ค. 56 ซึ่ง 3-4 เดือนที่ไม่มีผู้บริหารทำให้เกิดปัญหา อย่างปีที่แล้วเกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก หรือปัญหาชายแดนที่จังหวัดศรีสะเกษ จึงขอให้ก.พ.ทบทวนระบบโดยการขึ้นบัญชีได้หรือไม่ ในการสรรหา และบรรจุแต่งตั้งตามบัญชีที่ทำไว้