xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองพิพากษา “สตช.-สำนักนายกฯ” ละเมิดกรณีสั่งสลาย พธม. 7 ตุลา 51

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTVผู้จัดการ - ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาระบุ คำสั่ง “สตช.-สำนักนายกฯ” สลายชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ต.ค. 51 มิชอบ ชี้ละเมิดไม่ปฏิบัติตามหลักสากล ยิงอาวุธร้ายแรงใส่ประชาชน ยิงใส่รถพยาบาล ไม่เตรียมช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ ระเบิดมีผลต่อร่างกายร้ายแรง เห็นสอดคล้อง ป.ป.ช.-กสม.ที่ระบุ "สมชาย-ชวลิต -พัชรวาท" กระทำผิดฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรอง สั่งชดเชยกว่า 32 ล้านบาท



ดาวน์โหลดคำพิพากษาฉบับเต็ม จำนวน 84 หน้า (ไฟล์ .pdf ขนาด 1.13MB)

ช่วงเช้าวันนี้ (5 ต.ค.) ศาลปกครองกลางมีการพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1569/2552 ระหว่างนายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2 กรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ได้มีคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา และหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อเปิดทางให้นายสมชาย วงสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสามารถเข้าแถลงนโยบายต่อสภาได้จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต

โดยศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงทั้งรายงานของคณะกรรมการสิทธิแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจิต รวมคำให้การของสื่อมวลชน และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ ได้ให้ถ้อยคำที่สอดคล้องตรงกันว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 นับแต่เวลา 05.00 –24.00 น.ได้นำอาวุธปืน วัตถุระเบิดชนิดต่างๆ ที่มีอันตรายโดยสภาพมาใช้ในการสลายการชุมนุม โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากล ที่ต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่เป็นผลจึงจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก แต่การสลายการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจการชุมนุมดังกล่าวเข้าหน้าที่ตำรวจกับใช้อาวุธปืนยิงและขว้างระเบิดแก็สน้ำตรงเข้าไปยังผู้ชุมนุมโดยตรงมีการยิงใส่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์รถพยาบาลโดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ อันแสดงให้เห็นว่าแผนกรกฎ / 48 ที่นำมาใช้เป็นเพียงการอ้างหลักการ ตามมาตรฐานสากล แต่การปฏิบัติการจริงหาได้เป็นไปตามหลักการให้ความเมตตาต่อผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างดังที่เขียนไว้ในแผนปฏิบัติการแต่อย่างใด

นอกจากนี้ระยะเวลาในการสลายการชุมนุมยังมีต่อเนื่องยาวนานต่อเนื่องถึง 4 ช่วงรวม 18 ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทั้งที่การสลายการชุมนุมมีเป้าประสงค์เพื่อเปิดทางให้ครม. สมาชิกรัฐสภา เข้าประชุมและเดินทางกลับออกจากรัฐสภาได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า รัฐสภาปิดการประชุมตั้งแต่เวลา 11.30 น. สมาชิกรัฐสภาและครม.ออกจากสภาแล้วเสร็จตั้งแต่เวลา 18.00 น. จึงไม่มีเหตุที่ต้องสลายการชุมนุมในช่วงเวลา 18.00-24.00 น. แต่กลับยังมีการใช้อาวุธระเบิดชนิดต่างๆ ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมในเวลากลางคืน เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บสาหัส เมื่อพิเคราะห์ผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และความเห็นของคณะกรรมการป.ป.ช.ประกอบแล้วเห็นว่า การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการกระทำโดยจงใจ กระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม

ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องอ้างว่า ที่ต้องสลายการชุมนุมเพราะผู้ชุมนุมีการปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมเข้าไปทำร้ายสมาชิกรัฐสภา ที่อยู่ในอาคารรัฐสภาและปลุกระดมให้บุกไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อทำลายทรัพย์สินของทางราชการนั้น ศาลเห็นว่า ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมมีจำนวนหลายหมื่นคน หากถูกยุยงปลุกระดมให้ทำลายสถานที่ราชการ หรือเข้าจับตัวสมาชิกรัฐสภาจริง ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2,500 นาย ก็ไม่อาจต้านทานมวลชนนับหมื่นได้ การอ้างดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุในการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนตามแผนกรกฏ/48 จึงไม่อาจรับฟังได้ และที่อ้างว่าผู้ชุมนุมกระทำการละเมิดต่อกฎหมาย ต่อสู้ขัดขวางการปฏฺบัติงานของเจ้าหน่าที่โดยใช้กำลังและอาวุธ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้มาตรการหนักกับผู้ชุมนุมเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่กระทำผิกกฎหมายได้อยู่แล้ว ส่วนปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งการกระทำผิดอันอ้างว่าละเมิดต่อกฎหมายนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบและแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด จะรัดขึ้นอตอนโดยใช้มาตรการที่รุนแรงไม่ได้ ประกอบกับกทม.ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันว่า ไม่เคยได้รับการประสานขอรถดับเพลิงก่อนเกิดเหตุ แต่พึ่งมาขอตอนเย็นวันเกิดเหตุปรากฎตามรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ แสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยจงใจข้ออ้างในส่วนนี้จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน

ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดในผลเพียงไรนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตรำวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้ง 250 คนแล้ว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสมชาย นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นได้รับทราบจากสมาชิกรัฐสภา ที่ลุกขึ้นคัดค้านการแถลงนโยบายของนายสมชายว่าด้านนอกสภามีการสลายการชุมนุม ประชาชนบาดเจ็บแต่นายสมชาย ก็กลับไม่ได้ใส่ใจ แม้จะมีการปิดประชุมสภาเมื่อเวลา 11.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้กำลังและอาสวุธในการสลายกาชุมนุมอีก นายสมชาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้นก็ได้รับทราบข่าวสารการชุมนุม ซึ่งบุคคลทั้ง 3 มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและเป็นผู้บริหารประเทศกลับไม่ได้สนใจใยดี หรือสั่งห้ามการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างไร สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ป.ป.ช.สอบสวนและมีความเห็นว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าของบุคคลที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏฺบิติหน้าที่ ที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และคณะกรรมการสิทธิฯ มีความเห็นว่า บุคคลทั้ง 3 กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ฆ่า และ ตามประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานนายรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของบุคคลทั้ง 3 ที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมตามขั้นตอนแผนกรกฏ/48 แต่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 มาตรา10ของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ผู้ถูกฟ้องทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค้าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดี ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายให้กับผู้รับความเสียหายนั้นตามมติครม.วันที่ 10 ม.ค.55 เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้หารเยียวยาละฟื้นฟูเหยื้อ และผู้เสียหายตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งศาลเห็นควรให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องที่ 1 เป็นเงิน 5,190,964.80 บาท , ผู้ฟ้องที่ 2 จำนวน 2,250,650 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 3 จำนวน 1 แสนบาท , ผู้ฟ้องที่ 4 จำนวน 160,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 5 เป็นเงิน 256,435 บาท , ผู้ฟ้องที่ 6 จำนวน 3,711,894 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 7 จำนวน 30,000 บาท , ผู้ฟ้องที่ 8 จำนวน 3,053,363 บาท ,ผู้ถูกฟ้องที่ 9 จำนวน 3,303,540 บาท , ผู้ฟ้องที่ 10 จำนวน 165,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 11 จำนวน 120,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 12 จำนวน 524,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 13 จำนวน 75,000 บาท , ผู้ฟ้องที่ 14-19 และ22 รวม 7 ราย ๆละ 50,000บาท ,ผู้ฟ้องที่ 20 จำนวน 155,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 21 จำนวน 70,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 23 จำนวน 300,000 บาท,ผู้ฟ้องที่ 24-25 รายละ120,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 28 จำนวน 1,942,710 บาท ,ผู้ฟ้องที่29 จำนวน 120,840 บาท

ส่วนผู้ฟ้องที่ 26-27,30-32 , 33-44 , 46-54 , 55-133 , 135-250, และผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้เสียหายด้วยอีก 5 รายๆละ 50,000 บาท และผู้ฟ้องที่ 134 จำนวน 8,900 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 32,378,296.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ต.ค.52 จนกว่าจะทำการชำระเสร็จ โยให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด หากผู้ฟ้องและผู้ร้องสอดใดๆได้รับเงินทดแทนเยียวยาความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐตามมติ ครม.ในวันที่ 10 ม.ค.55 ไปแล้ว ยังให้มีสิทธิรับค้าทดแทนส่วนที่เหลือตามคำพิพากษาได้และหากภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ผู้ฟ้องหรือผู้ร้องสอดรายใดยังต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ศาลยังสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาส่วนนี้เพิ่มเติมได้

ส่วนนายประเสริฐ แก้วกระโทก ผู้ฟ้องที่ 45 ซึ่งอ้างว่าได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมนั้น ข้อเท็จจริงจากมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินระบุว่าผู้ฟ้องถูกกลุ่มเสื้อแดงดักทำร้ายขณะรถติดไฟแดง ที่ถนนวิภาวดีซอย 3 ด้วยอาวุธไม้ท่อนทุบตี และใช้มีดฟันมือ เบื้องต้นมูลนิธิได้จ่ายค่ารักษาให้จำนวน 90,000 บาท เมื่อกรณีไม่ได้ถูกกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลจึงไม่กำหนค่าเสียหายให้ และพิพากษาให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษานี้ ยังเป็นเพียงศาลปกครองชั้นต้น หากคู่ความไม่พอใจยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน



ดาวน์โหลดคำพิพากษาฉบับเต็ม จำนวน 84 หน้า (ไฟล์ .pdf ขนาด 1.13MB)

อนึ่ง วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2555 นี้ ในวาระครบรอบ 4 ปีเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และวีรชนผู้สูญเสีย ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 06.00-09.30 น.







คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ย้อนรอย 7 ต.ค.51 ...คนฆ่าพันธมิตรฯ ยังลอยนวล!!


ตี๋ ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ศิลปินผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ 7 ต.ค. 51

กำลังโหลดความคิดเห็น