โฆษกรัฐบาลเผยมติ ครม.ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกอีก 1 เดือน-ต่ออายุรถเมล์ รถไฟฟรีอีก 6 เดือน อนุมัติคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.ไม่เกิน 1.5 แสนล้าน
วันนี้ (2 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติขยายเวลาการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 31 ต.ค. 2555 นี้ ภายหลังสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมา เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรที่จะขยายเวลาเพิ่ม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
น.ส.ศันสนีย์กล่าวต่อว่า ครม.ยังเห็นชอบในการลดค่าใช้จ่ายการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งปกติแล้วรัฐรับภาระจากจำนวนรถ 800 คัน จาก 73 เส้นทาง ให้บริการแก่ประชาชนฟรีมาโดยตลอด ซึ่งหากประเมินค่าใช้จ่ายร่วมเป็นวงเงิน 1,513 ล้านบาท รวมถึงเห็นชอบลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ซึ่งให้บริการประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ตลอดที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย รับภาระค่าใช้จ่าย 364 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ขบวนเชิงพาณิชย์ 8 ขบวนต่อวัน รวมวงเงินแล้วทั้งสิน 553 ล้านบาท สำหรับการขยายเวลาในครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 - 31 มี.ค. 2556
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้รับรายงานของกระทรวงพาณิชย์เรื่องการระบายข้าว ตามโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งปัจจุบันมีการระบายข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 8.3 ล้านตัน คงเหลือ 4.175 ล้านตัน คาดว่าจะได้รับเงินคืนจากการขายข้าวของโครงการดังกล่าวถึงสิ้นปี 2556 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เงินที่ได้รับคืนมา ก็นำจะมาใช้หมุนเวียนสำหรับดำเนินการในโครงการต่อไป นอกจากนี้ ได้ให้ความเห็นชอบโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาล 2555-2556 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนข้าวเปลือกจำนวน 26 ล้านตัน จากจำนวนดังกล่าว เป็นส่วนของข้าวนาปี 15 ล้านตัน ข้าวนาปรัง 11 ล้านตัน ซึ่งวงเงินที่ได้รับการอนุมัติที่ผ่านมา เป็นจำนวนวงเงิน 4.05 แสนล้านบาท แยกเป็นวงเงินสำหรับรับจำนำข้าวนาปี 2.4 แสนล้านบาท สำหรับรับจำนำข้าวนาปรังเป็นวงเงิน 1.65 แสนล้าน โดยให้ดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 เป็นต้นไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ให้กระทรวงพาณิชย์ใช้เงินที่ได้จากการระบายข้าวไปแล้วส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 8.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า จะมีเงินที่ได้จากการระบายข้าวคืนมาอีก 4หมื่นล้านบาท มาดำเนินการเป็นทุนหมุนเวียนอีกเช่นกัน ส่วนที่ต้องใช้เงินเพิ่มเติมนั้น ที่ประชุมอนุมัติให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กรณีมีกระแสข่าวว่าโครงการนี้ต้องกู้เงินมาหนุนตลอด จึงอยากชี้แจงว่าเงินที่ขายได้จากการระบายข้าวก็จะนำมาใช้ในการหมุนเวียน แต่ในช่วงระยะแรกเงินอาจหมุนเวียนไม่ทันจึงจำเป็นต้องกู้หนุนก่อน แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มคล่องตัว และมีเงินจากการระบายข้าวมาหมุนเวียนได้แล้ว