xs
xsm
sm
md
lg

มติวุฒิฯ ลาก “บิ๊กหลาว” นั่งเก้าอี้ ป.ป.ช.-“กลุ่ม 40 ส.ว.”ข้องใจคุณสมบัติไม่ถึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วุฒิสภา 76 เสียงเห็นชอบ “บิ๊กหลาว” อดีตจเรตำรวจแห่งชาตินั่งเก้าอี้ ป.ป.ช. หลังอภิปรายเดือด 5 ชั่วโมง กลุ่ม 40 ส.ว.ข้องใจคุณสมบัติ ชี้จเรตำรวจแห่งชาติเทียบเคียงอธิบดีไม่ได้ ส.ว.นนทบุรีอ้าง ก.พ.รับรองแล้ว








วันนี้ (1 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาวาระเรื่องด่วน คือ ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งจะเป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. แทน นายเมธี ครองแก้ว ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง หลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยก่อนการลงมติปรากฎว่าการประชุมวุฒิสภาเป็นไปอย่างดุเดือดร่วม 5 ชั่วโมง เมื่อสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่ม 40 ส.ว. ต่างได้ตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.อ.สถาพรอาจมีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 246 วรรคสอง เพราะไม่เคยดำรงตำแหน่ง เคยรับราชการในตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารในหน่วยราชการที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี โดยตำแหน่งอธิบดีตามการบริหารงานของข้าราชการตำรวจมีเพียงตำแหน่งเดียว คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี พยายามตีความว่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติเทียบเท่าอธิบดีได้ตามหนังสือของสำนักงาคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนลงวันที่ 18 ก.ย.โดยนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่การเทียบเคียงดังกล่าวเป็นไปตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการเทียบเคียงเพื่อเปรียบเทียบเฉพาะเงินเดือนและสิทธิประโยชน์เท่านั้นไม่ได้เทียบเคียงไปถึงอำนาจการบริหาร

นายสมชายกล่าวว่า ที่สำคัญในหนังสือของ ก.พ.ดังกล่าวยังระบุในตอนท้ายด้วยว่า “การพิจารณาสถานภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการพิจาณาตีความตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยข้าราชการประเภทใด ตำแหน่งใดจะเทียบได้กับการดำรงหรือดำรงตำแหน่งใดนั้นสำนักงาน ก.พ.เห็นว่าเป็นอำนาจของผู้ที่รักษาการตามกฎหมายนั้นจะเป็นผู้พิจารณา” จากข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ก.พ.เองก็ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติเทียบเท่ากับอธิบดีหรือไม่

นอกจากนี้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ยังได้ทำหนังสือมายังคณะ กมธ.เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันอีกว่าการเทียบเคียงตำแหน่งอธิบดีนั้นขอให้ยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีการบันทึกไว้การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 33/2550 และ 37/2550 ว่าต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในส่วนราชการ ซึ่งตำแหน่งผู้ตรวจราชการไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร และนอกจากจะเป็นตำแหน่งบริหารแล้ว ยังต้องดูว่าบุคคลใช้อำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดีหรือไม่ด้วย โดย ป.ป.ช.เสนอแนะวุฒิสภามาว่าหากมีข้อสงสัยก็สมควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองตีความให้ชัดเจนต่อไป

“อยากให้วุฒิสภาพิจารณาให้ดี ถ้าให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี แต่มีอำนาจบริหารไม่เทียบเท่าอธิบดีเข้ามาดำรงตำแหน่ง อาจจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องเพราะจะทำให้ข้าราชการระดับ 10 ที่ไม่ได้เป็นและไม่ได้มีอำนาจบริหารเท่ากับอธิบดีจะมาเป็น ป.ป.ช.กันได้ ซึ่งจะขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” นายสมชายกล่าว

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่องค์กรไหนวินิจฉัยว่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติเทียบเท่ากับและมีอำนาจบริหารเทียบเท่ากับอธิบดีหรือไม่โดยเฉพาะหนังสือตอบข้อสงสัยจากสำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพราะตอบเพียงว่ามีเงินเดือนและเงินประตำแหน่งเทียบเท่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่ไม่ได้ตอบว่ามีอำนาจบริหารเทียบเท่ากันหรือไม่ ซึ่งในความคิดส่วนตัวเห็นว่าการเทียบเคียงของ ก.พ. และ ก.พ.ร.นั้นมีเจตนาเฉพาะต้องการให้เห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้นไม่เกี่ยวกับอำนาจการบริหาร

นายคำนูณกล่าวว่า ตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 กำหนดให้จเรตำรวจเป็นเพียงผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการรองจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด แสดงให้เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของจเรตำรวจแห่งชาติจะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะได้มอบหมายให้เท่านั้นและอำนาจที่มอบหมายให้ดำเนินการนั้นก็เป็นเพียงเฉพาะเรื่องเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด

“จเรตำรวจแห่งชาติเหมือนดาวเคราะห์ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง จะมีอำนาจบริหารได้ต้องมาจากผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติที่เป็นดาวฤกษ์มีแสงสว่างในตัวเอง เพราะฉะนั้นวุฒิสภาต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี” นายคำนูณกล่าว

นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า แม้ว่าตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีจะมีตำแหน่งเทียบเท่ามากมาย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่มีอำนาจบริหารเท่ากันหรือไม่ เช่น เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ใช้ชื่ออธิบดีแต่ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานมีอำนาจบริหารเทียบเท่ากับอธิบดีตามกฎหมายโดยเฉพาะการสั่งโยกย้ายข้าราชการ ขณะที่สมาชิกรัฐสภามีตำแหน่งเทียบเท่ากับปลัดกระทรวงหรือระดับ 11 เท่ากัน แต่ไม่มีอำนาจบริหารราชการได้ ดังนั้น การจะเทียบเคียงกันให้ตรงตามรัฐธรรมนูญต้องยึดอำนาจการบริหารเป็นหลัก

“สมมติไปตีความรองอธิบดีมีอำนาจเท่ากับอธิบดีจะมีปัญหาได้ เพราะจะเกิดกรณีที่ว่ารองอธิบดีซึ่งได้มอบหมายจากอธิบดีไปเปิดงานหรือประชุมแทนจะกลับมาอ้างตัวเองเป็นอธิบดี แบบนี้ไม่ถูกต้อง วุฒิสภาอย่าสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในอนาคต” นายตวงกล่าว

ส่วนนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ชี้แจงว่า ที่ประชุม กมธ.ได้มีการหารือเรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 246 ซึ่งบทบัญญัติไม่ได้ระบุชัดเจนเพียงแต่เป็นการกำหนดไว้เป็นกรอบว่าให้เทียบเท่าอธิบดีเท่านั้น โดยมีเจตนารมณ์ว่าต้องการให้ตำแหน่งอื่นๆ ที่มีความเทียบเท่ากับอธิบดีมาดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้รายละเอียดว่ามีตำแหน่งที่เทียบเท่าได้บ้าง ทำให้ กมธ.ต้องไปพิจารณาตามกฎหมายลูก

นายดิเรกกล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.เป็นหน่วยงานหลักเพียงหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจเทียบเคียงตำแหน่งต่างๆ และการรับโอนบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งซึ่งกันและกัน ดังนั้น ก.พ.เป็นผู้พิจารณาว่าตำแหน่งใดเท่ากับตำแหน่งใดตามกฎของ ก.พ. ซึ่งในที่ประชุม กมธ.ได้เชิญ ก.พ.มาชี้แจง ก็ยืนยันว่าเทียบเท่าอธิบดี และตอบเป็นลายลักษณ์มาให้ที่ประชุมวุฒิสภา เช่นเดียวกับได้เชิญนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหามาชี้แจง ก็ยืนยันว่าคณะกรรมการสรรหาได้หารือถึงคุณสมบัติ พล.ต.อ.สถาพรก่อน จึงดำเนินการสรรหาและลงมติต่อไป จึงยืนยันได้ว่า กมธ.ได้ทำอย่างละเอียดและมีหลักในการพิจารณา

จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาเป็นการลับโดยใช้เวลาเพียง 30 นาที ก่อนที่นายสมชายเสนอญัตติให้วุฒิสภาส่งเรื่องคืนให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาใหม่ แต่นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.สรรหา เสนอญัตติให้ที่ประชุมวุฒิสภาเดินลงมติตามวาระ ต่อมาที่ประชุมวุฒิสภามีเสียงข้างมา 77 เสียง ต่อ 41 เสียง ให้เดินหน้าลงมติต่อไป และมีมติเสียงข้างมาก 76 เสียงต่อ 43 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง เห็นชอบให้ พล.ต.อ.สถาพรดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ในที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น