วุฒิสภานัดลงมติโหวตเลือก ป.ป.ช.1 ต.ค. ยันคุณสมบัติ “สถาพร หลาวทอง” ไร้ปัญหาไม่ขัด รธน. หลัง ก.พ.ย้ำชัดจเรตำรวจแห่งชาติเทียบเท่า ผบ.ตร.
นางนรรัตน์ พิเสน เลขาธิการวุฒิสภา ได้ส่งหนังสือนัดประชุมวุฒิสภาในวันที่ 1 ต.ค. ทั้งนี้มีวาระการพิจารณาสำคัญ คือ การให้ความเห็นชอบ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว และร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานและกรรมการ ป.ป.ช. และประธานและกรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคณะ กมธ.วิสามัญที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว
นายดิเรกกล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องคุณสมบัติของ พล.ต.อ.สถาพร ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะไม่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีตามมาตรามาตรา 246 วรรค 2 ที่ประชุม กมธ.มีความเห็นว่า พล.ต.อ.สถาพรไม่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากได้พิจารณาจากหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเทียบเคียงตำแหน่งอย่างอื่นเท่ากับการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้วพบว่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติถือเป็นผู้บริหารระดับสูงมีเงินประจำตำแหน่งเทียบเท่ากับอธิบดี จึงทำให้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้จบลงตั้งแต่ชั้นการพิจาณาของคณะกรรมการสรรหาแล้ว ที่มีทั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแทบทั้งสิ้น
ขณะที่ในเอกสารประกอบการพิจารณาของ กมธ.ได้ลงบันทึกคำชี้แจงของ พล.ต.อ.สถาพรในเรื่องดังกล่าวว่า “ตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาตินั้นเป็นตำแหน่งหลัก เป็นตำแหน่งผู้ตรวจราชการ เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจในตัวของตัวเอง และก็เป็นตำแหน่งที่สามารถบริหาร กำกับ ควบคุม ดูแลการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ในหน้าที่ของจเรตำรวจแห่งชาตินั้นเท่ากับอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมายโดยเด็ดขาด”