xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กกรุง” ระอา ขรก.ไร้จริยธรรม ผอ.เอแบคโพลล์ชง 3 โครงการให้รัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพดล กรรณิกา
รายงานพิเศษ

จากที่ “สำนักวิจัยเอแบคโพลล์” มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องประเมินคุณธรรมจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการไทยในสายตาเด็กและเยาวชน เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยศึกษาตัวอย่างเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 12-24 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,127 ตัวอย่างนั้น ได้มีข้อมูลที่น่าสนใจในหลายด้าน โดยเฉพาะข้อถามถึงคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการ

มีเยาวชนถึงร้อยละ 67.3 ระบุว่า ไม่เคยพบเห็นคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐเลย มีเพียงร้อยละ 32.7 ที่บอกว่าเคยพบเห็น เช่น จิตอาสา ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสามัคคี ความเมตตากรุณา เป็นต้น

นอกจากนี้ เยาวชนร้อยละ 63.9 ยังบอกด้วยว่า เคยเห็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการต่างๆ ตั้งแต่การรับสินบน การคดโกง และการทุจริตคอร์รัปชัน อีกร้อยละ 8.3 การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น ตำรวจจอดรถในที่จอดของผู้พิการ จอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าไฟแดง ผิดวินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และเมาแล้วขับ เป็นต้น

อีกส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.3 พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ร้อยละ 7.9 การทะเลาะขาดความสามัคคี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 7.4 พูดจาไม่สุภาพ พูดโกหก ร้อยละ 7.1 ใช้อำนาจในทางที่ผิด ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ใช้เส้นสายในการทำงาน และร้อยละ 5.1 อื่นๆ เช่น ทำร้ายประชาชน รังแกประชาชน ข่มขู่ประชาชน ทำร้ายร่างกายผู้หญิงในสถานที่ราชการ เก็บค่าคุ้มครอง รีดไถประชาชน เป็นต้น ขณะที่ภาพรวมนั้น เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.4 บอกว่าเห็นการทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และร้อยละ 41.6 พบเห็นการทำความดีของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า

เรื่องนี้ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบคโพลล์ ระบุว่า ผลวิจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตสังคมไทยน่าห่วงอย่างยิ่ง เหตุเพราะเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ซึ่งเกิดจากผู้ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจและสามารถใช้อำนาจที่ถูกอ้างว่าเป็นอำนาจอันชอบธรรม

จึงเกิดคำถามว่า อำนาจและคุณธรรมเกิดขึ้นจากอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ และถึงเวลาแล้วหรือยังที่เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องออกมาแสดงพลังครั้งใหญ่ สร้างพฤติกรรมเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนได้ซึมซับ เพื่อปฏิรูปสังคมไทยอย่างแรง นำไปสู่ทิศทางการปรับสังคมไทย ที่กำลังดิ่งลงเหวให้ชูขึ้น และนำไปสู่ความเจริญมั่นคง

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบคโพลล์ ยังได้ขอเสนอ 3 แนวทาง ผ่านไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี นำไปพิจารณาออกแบบเป็นโครงการออกมา ได้แก่ โครงการ “ทำดีให้เด็กดู” โครงการ “คุ้มครองคนดี” และโครงการ “คนดีต้องมีที่ยืนอย่างสง่างาม” ซึ่งการปราบทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงหวังว่าผลสำรวจและข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลบ้าง

เพราะวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการไทยในสายตาเด็กและเยาวชน มองเห็นแต่เรื่องการทุจริต คอร์รับชัน ที่ตกเป็นข่าวรายวัน สะท้อนให้เห็นว่า อนาคตทิศทางสังคมไทยน่าห่วงมาก ถ้าเราไม่เร่งปฏิรูปแก้ไขภาพลบของเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการไทย ซึ่งปล่อยไว้อาจถึงขั้นบ้านเมืองหายนะ เพราะเด็กและเยาวชนไทย คือพลังที่จะสร้างชาติ สร้างบ้านเมืองรุ่นต่อๆไป

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ต้องออกมาแสดงพลังต่อต้านผู้ใหญ่ หรือผู้บังคับบัญชาที่กระทำการไม่ถูกต้องและเมื่อคนเหล่านี้ออกมาต่อต้านหรือเปิดโปงการคอร์รัปชันหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องเข้าไปคุ้มครองพวกเขา ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกโยกย้ายเหมือนที่ตกเป็นข่าวในปัจจุบัน

ถึงเวลาต้องปฏิรูปจิตสำนึกผู้ใหญ่ในสังคม เพื่อให้คนที่ดีกล้า และพร้อมออกมาเปิดขบวนการที่ไม่ถูกต้องในสังคม จะปล่อยให้เด็กและเยาวชนไทย ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมของการทุจริตอีกต่อไปไม่ได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น