xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ นิด้า ชี้ 3 อุปสรรคระบบเลือกตั้ง “ปริญญา” แนะดูใช้ระบบรัฐสภาแบบไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)
ส.พระปกเกล้า สัมมนาระบบคัดสรรผู้แทนกับสังคมไทย อธิการฯ นิด้า ชี้ 3 อุปสรรคระบบเลือกตั้งไทย ขายเสียง-ตรวจสอบอ่อนแอ-พรรคไม่ใช่ของประชาชน ระบุสังคมกำลังพัฒนาทำชาวบ้านเห็นประโยชน์เฉพาะหน้า ยันนักการเมืองที่ดีต้องยึดมั่นคุณธรรมมั่นคง ด้าน “นันทวัฒน์” เสนอเลือก ส.ส.แบบ รธน.40 ให้นับคะแนนจุดเดียว “ปริญญา” แนะมีตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย ปรามเลิกเถียงเลือกแบบไหน แต่ควรเถียงใช้ระบบรัฐสภาแบบไหน “ไชยันต์” รับชาวบ้านยังไม่เข้าใจเลือกไปทำไม

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อเวลา 09.00 น. สถาบันพระปกเกล้าได้จัดโครงการสัมมนาเรื่องระบบการคัดสรรผู้แทนที่เหมาะสมกับสังคมไทย ภายใต้โครงการศึกษา รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปริญญา เทวานฤฒิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปราย

โดยนายสมบัติกล่าวถึงเรื่องระบบการคัดสรรผู้แทนที่พึงประสงค์ว่า สำหรับปัญหาและอุปสรรคระบบการเลือกตั้งไทย มีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น 1. ปัญหาการสิทธิขายเสียง ซึ่งถือเป็นปัญหาร้ายแรงในระบบการเลือกตั้งของไทยที่มีมาโดยตลอด จนเกิดความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันหรือลดการซื้อสิทธิขายเสียง รวมถึงความล้มเหลวในการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการสกัดการซื้อสิทธิขายเสียงที่เกิดขึ้น เพราะมิได้มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีการแจกใบเหลือง-ใบแดง กับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ตาม โดยมูลเหตุจูงใจในการซื้อเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมือง คือ ความต้องการที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล และความต้องการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งบริหารของนักการเมือง 2. ระบบการตรวจสอบอ่อนแอ คือ ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในสภาเพียงพรรคเดียว จะทำให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารไม่สามารถทำได้ และหัวหน้าพรรคมีลักษณะเป็นเผด็จการการเลือกตั้ง เพราะหัวหน้าพรรคจะมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ หรือถ้ารัฐบาลเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงเกินครึ่งจำนวนมาก การตรวจสอบโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านก็จะไม่ต่างอะไรจากการปาหี่การเมือง

นายสมบัติกล่าวต่อว่า และ 3. ระบบพรรคการเมืองไม่ใช่ของประชาชนอย่างแท้จริง เกิดระบบทาสทางการเมือง ไม่ได้ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเกิดความเข้มแข็ง ไม่ใช่สมบัติของประชาชน แต่เป็นอำนาจของหัวหน้าพรรค และจากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ยุบพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคต้องถูกยุบพรรค สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ระบบพรรคการเมืองของไทยอ่อนแอลง ยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว พรรคการเมืองจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ หากเลือกตั้งแล้วแพ้ หัวหน้าพรรคการเมืองก็จะยอมลาออกไม่กลับเข้ามารับตำแหน่งอีก แต่สำหรับประเทศไทยไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะแพ้เลือกตั้งกี่ครั้งก็ตามก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นายสมบัติกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาบริบทของสังคมเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น สังคมใดที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา จะมีประชาชนที่เป็นชนชั้นล่างเกิดปัญหาความยากจนเป็นส่วนใหญ่ และเป็นผู้กำหนดผู้ปกครองในสังคมนั้น และมองว่าการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้จะคำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น เลือกเครือญาติของตน หรือผู้ที่ใช้เงินซื้อเสียง โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติของผู้สมัครเมื่อได้ผู้แทนเข้ามาก็จะไม่ตรวจสอบการทำหน้าที่ ทำให้ผู้ที่เข้ามาบริหารก็จะทุจริตทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าช้า แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา การตัดสินใจเลือกผู้สมัครจะเลือกด้วยความอิสระ มีการตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมของผู้สมัคร ทำให้ได้ผู้แทนที่มีความสามารถ และมีการตรวจสอบการทำงาน ทำให้ผู้ได้รับเลือกตั้งทำงานอย่างเต็มที่ และประเทศเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นไป เรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยยังถือเป็นประเทศประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เนื่องจากรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีรายได้ประมาณ 20,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งหากประเทศไทยพัฒนาขึ้นปีละ ประมาณ 5-7 ต่อปีคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 20 ปี กว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ นายสมบัติกล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าคุณลักษณะสำคัญของนักการเมืองที่ดีควรจะเป็นผู้ยึดมั่นในคุณธรรมทางการเมืองอย่างมั่นคง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเสียสละ โดยวิถีทางของนักการเมืองที่ดีนั้นควรจะเป็นผู้คิดดีทำดีอย่างมั่นคง มุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

ด้าน นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการอภิปรายตอนหนึ่งว่า โดยเสนอให้การเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ให้ได้มีการกำหนดจำนวนคะแนนเสียงขั้นต่ำของบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมือง เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มีเขตละ 1 คน เปลี่ยนแปลงวิธีนับคะแนนของทุกหน่วยรวมกันเป็นจุดเดียว เพื่อป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง ส่วนวิธีการจัดสรร ส.ว.เสนอให้สมาชิกมาจากกลุ่มองค์กรทางสังคม หรือตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างๆ และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน เพื่อให้ ส.ว. และประชาชนเกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น สะท้อนให้เกิดประชาธิปไตยจากแก่นแท้

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาว่า รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมนั้น ต้องมีการตรวจสอบที่ถ่วงดุลทั้ง 3 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และศาล ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาอย่างมาก ส่วนระบบการคัดสรรผู้แทนที่มี 2 สูตร คือ ส.ส.และ ส.ว. รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เหมือนกันว่าเป็นผู้แทนของประชาชน แต่ไม่มีสูตรตายตัวว่าทุกประเทศต้องมี ส.ว. นอกจากนี้ ส่วนตัวยังเห็นว่าระบบการเลือกตั้งทุกระบบไม่มีความสมบูรณ์ มีปัญหาหมด ดังนั้นจึงต้องหยุดโต้เถียงกันว่า ระบบการเลือกตั้งแบบใดเหมาะสมกับประเทศไทย แต่ต้องมาพิจารณาว่าจะเลือกระบบรัฐสภาแบบใด ระหว่างเสียงข้างมากหรือระบบผสม

ระบุการเลือกผู้แทนปัจจุบันยังเกิดปัญหา

ทางด้าน นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาถึงเรื่องข้อเสนอ ปัญหา และความท้าทายว่า การคัดสรรผู้แทนในปัจจุบันและอดีตมีความแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากในอดีตได้มีการคัดสรร แต่ใช้วิธีการจับฉลาก เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันทางการเมือง ซึ่งระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันของประเทศไทยยังเกิดปัญหาว่าประชาชนไม่เข้าใจว่าเลือกผู้แทนเข้าไปทำอะไร ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต้องการเลือกบุคคลประเภทใดเข้าไปทำหน้าที่แทน และเหตุผลสำคัญอีกประการที่การคัดสรรไม่จูงใจผู้ที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน นั่นคือการซื้อเสียง ซึ่งต้องกำจัดปัญหาการซื้อเสียงให้หมดไปจากการเลือกตั้งให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น