xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” เผย ตปท.สนใจรัฐแก้ไฟใต้ ถกพม่าขอบคุณปล่อยคนไทย ก่อนไปแมนฮัตตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ภารกิจนายกฯ แจงสื่อไทย ชูหลายชาติสนใจปัญหาไฟใต้ ลงนามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ไปดูงานสถานศึกษาเด็กด้อยโอกาส กล่าวสุนทรพจน์การพัฒนาชีวิตสตรีและเด็ก ย้ำจุดยืนไทยอยู่ในช่วงหารูปแบบปรองดอง จ่อคุยเปิดการค้าการลงทุน พร้อมถกผู้นำหม่องเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ขอบคุณปล่อยคนไทยล้ำแดน เที่ยวฝั่งตะวันตกแมนฮัตตัน ชมสถานีรถไฟและระบบขนส่ง

วันนี้ (26 ก.ย.) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงเช้า (ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทางการไทย ถึงการพบปะกับผู้นำประเทศต่างๆ ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทสตรีว่า หลายประเทศให้ความสนใจการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธีของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาเด็กและสตรี ซึ่งการประชุมสหประชาชาติครั้งนี้ ไทยได้ยืนยันบทบาทของไทยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี และในปัจจุบันประเทศต่างๆ หันมาใช้เวทีระดับโลกร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความสงบและสันติภาพในแต่ละภูมิภาค และไทยยังได้ลงนามความร่วมมืออนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ที่เป็นสนธิสัญญาที่ให้สิทธิเด็กกรณีที่ถูกกระทำรุนแรงสามารถเข้ามาร้องเรียนได้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลที่จะให้สิทธิเสรีภาพเด็กและสตรี

นอกจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ยังได้ศึกษาดูงานสถานศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส ในย่านฮาร์เร็ม นครนิวยอร์ก ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและรัฐบาลในการดูแลเด็กอายุตั้งแต่ 0-4 ปี โดยมีการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ให้ครู 1 คนดูแลเด็ก 5 คน รวมทั้งบูรณาการทั้งด้านการศึกษา สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต และพัฒนาการของเด็ก รวมถึงเด็กพิเศษต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะนำประสบการณ์ที่ได้จากการดูงานครั้งนี้ไปปรับใช้กับประเทศไทยที่จะทำงานร่วมกันกับท้องถิ่น หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “การพัฒนาชีวิตสตรีและเด็ก” โดยการส่งเสริมการพัฒนาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อรักษาชีวิตเด็กและสตรี ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยเลขาธิการสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของสตรีและเด็กลงให้ได้จำนวน 16 ล้านคน ภายในปี 2558 โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการมีสุขภาพที่ดีของสตรีและเด็ก ซึ่งไทยยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะดูแลสุขภาพเด็กและสตรี และนโยบายของไทยหลายเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจ เช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพ ที่สามารถเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยอย่างทั่วถึง รวมถึงโครงการแพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลพัฒนาการเด็กตั้งแต่ในครรภ์

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างความปรองดองว่า หลายประเทศให้ความสนใจและหันมาใช้แนวทางสันติวิธีและพูดถึงความปรองดองมากขึ้น ซึ่งได้ย้ำจุดยืนของรัฐบาล และขณะนี้อยู่ในช่วงของการพัฒนารูปแบบว่าจะต้องทำงานร่วมกันอย่างไร ส่วนการหารือกับภาคเอกชน เป็นการหารือเพื่อเปิดการค้าการลงทุน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นเจ้าภาพดำเนินการ ซึ่งจะมีการส่งเสริมการค้าการลงทุน ทั้งอัญมณี แฟชั่น และอาหาร รวมถึงเขตการค้าเสรี (FTA) ภาษีเป็นศูนย์ จะทำให้เป็นประโยชน์กับภาคเอกชนด้วย

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ณ โรงแรม Mark โดยได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการคืบหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมถึงกลไกที่จะทำให้ MOU ที่ได้ลงนามกันไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งพม่าเห็นด้วยกับแนวคิดของไทย รวมถึงโครงสร้างของการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฯ ที่มีคณะทำงานระดับสูงของสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการระดับนโยบาย โดยมีรองประธานาธิบดีเมียนมาร์ และรองนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นประธานร่วม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานประสานงานร่วม เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขา ซึ่งฝ่ายไทยจะมีเลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน

นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการ 6 คณะ ตามสาขาความร่วมมือ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง อุตสาหกรรม พลังงาน การพัฒนาชุมชน กฎระเบียบและการเงิน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้มีการมอบหนังสือแลกเปลี่ยน (Note of Exchange) ระหว่างกันเพื่อจัดตั้งกลไกดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และเห็นควรจัดการประชุมระหว่างไทย-เมียนมาร์ ซึ่งไทยรับที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นที่ประเทศไทย

ในโอกาสนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แสดงขอบคุณเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ สำหรับการปล่อยตัวคนไทย 83 คนที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ขณะที่เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังฝั่งตะวันตกของเกาะแมนฮัตตัน Highline Park เป็นการนำทางรถไฟเก่าเคยเปิดทำตั้งแต่ปี 1934 และต่อกลายเป็นพื้นที่รกร้าง มาทำเป็นสวนสาธารณะยกระดับสีเขียวเพื่ออนุรักษ์เส้นทางรถไฟสายเก่า โดยมีการแปลงสภาพให้เป็นสถานที่ลอยฟ้าตากอากาศและทางเดินยกระดับที่เปิดโล่งสำหรับประชาชนใช้เป็นสถานที่ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย และท่องเที่ยว และยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในบริเวณดังกล่าว เห็นได้จากการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่บริเวณที่ติดกับ Highline Park ทำให้นครนิวยอร์กสามารถควบคุมและลดอัตราการการเกิดอาชญากรรมจนทำให้โครงการดังกล่าวถูกนำไปศึกษาในเมืองต่างๆ เช่น ชิคาโก ฟิลาเดเฟีย และเซนต์หลุยส์ ซึ่งนายกเทศมนตรี Bloomberg เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังที่จะนำความสำเร็จของนิวยอร์กไปประยุกต์ใช้กับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะด้านการขนส่งมวลชน เทคโนโลยีสีเขียว

จากนั้น เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีได้ศึกษาและเยี่ยมชมสถานีรถไฟ Grand Central ณ 89 E 42nd Street เพื่อศึกษาการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและการรักษาความปลอดภัยและระบบการวางผังเมือง โดยมี Joseph J. Lhota ผู้บริหาร (Chairmanand Chief Executive) ของ Metropolitan Transportation Authority (MTA)มาบรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการ Grand Central Station ทั้งระบบ ตั้งแต่การบริหารจัดการระบบการขนส่งที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ตลอดจนระบบการรักษาความปลอดภัย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางผังเมืองกับ Ms. Amanda M. Burden และ Ms. Janette Sadik-Khan ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสและมีชื่อเสียง ซึ่งได้อธิบายเกี่ยวกับระบบการวางผังเมืองของนครนิวยอร์ก รวมทั้งการจัดระบบการจราจรสำหรับนครขนาดใหญ่ด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวภายหลังเยี่ยมชมว่า Grand Central Station ได้ไปดูเรื่องของการบริหารจัดการระบบขนส่ง และนอกจากนี้แล้วยังไปดูการตกแต่งที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากสถานีรถไฟเก่า รวมทั้งการใช้พื้นที่ภายในแบ่งย่อยเป็นพื้นที่ของการขายสินค้าบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาใช้บริการ ทำให้มีรายได้ในการบริหารจัดการตัวเองนอกจากเงินส่วนกลาง และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงนำมาปรับปรุงระบบขนส่งต่างๆ ของรัฐบาลให้บูรณาการกันมากขึ้น และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจร
กำลังโหลดความคิดเห็น