ที่ประชุม ส.ส.ปชป.รอดูท่าทีนายกฯ จัดการรองนายกฯ-มท.1 ถ้าไม่ทำอะไรเตรียมออกมาตรการ-รอความผิดสำเร็จ คาดสัปดาห์หน้าชัดเจน “วิรัตน์” เผยแม้ยังไม่มีมติ แต่เป็นไปได้ที่จะล่ารายชื่อ 50 ส.ส.ส่งประธานสภาฯ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (25 ก.ย.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้เสนอแนวทาง3 ข้อ ต่อที่ประชุมถึงการดำเนินการกับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ต่อกรณีมติของอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย กรณีที่ดินอัลไพน์ ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมพรรคยังไม่มีมติใดๆ ต่อเรื่องดังกล่าว เพราะคงต้องดูหลายๆ แนวทาง แต่มีความเป็นได้สูงว่าจะได้ช่องทางให้ ส.ส. ลงชื่อ 50 คน เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้คณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคได้ยกร่างคำร้องไว้เรียบร้อยแล้ว หากพรรคมีมติก็จะดำเนินการล่ารายชื่อให้ครบจำนวน 50 คน และยื่นต่อประธานสภาฯ ได้ทันที
“ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้ส่งสัญญาณยังรัฐบาล จนวันนี้นายยงยุทธ ไม่กล้าแม้จะโฉบมาทำเนียบรัฐบาลเพื่อร่วมประชุม ครม. คงเป็นเพราะที่ปรึกษารัฐบาลคงแนะนำว่าถ้าเข้าร่วมประชุม ครม.แล้วจะทำให้มติทั้งหลายเสียหายได้ และหากพิจารณาดูความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกาจะเห็นว่ามีเงื่อนไขว่ากรณีนี้ไม่สามารถล้างมลทินได้ จึงทำให้ไม่กล้าเสี่ยง จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี้ดำเนินการกับนายยงยุทธ ถ้าไม่ดำเนินการก็มีเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันต่อไป” นายวิรัตน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประวิงเวลาออกไปจะทำให้นายยงยุทธชิงลาออกเพื่อไม่ให้ผู้นำรัฐบาลต้องมารับผิดชอบหรือไม่ นายวิรัตน์กล่าวว่า แม้นายยงยุทธจะออกไปอย่างไรก็ถึงตัวผู้บริหารสูงสุดรัฐบาล รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ อ.ก.พ.ที่ทำเกินหน้าที่และยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยว่าจงใจที่จะบิดเบือนเพื่อช่วยเหลือนายยงยุทธหรือไม่ เพราะมีการนำ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2526 มาเทียบเคียงกับปี 2550 ทั้งที่ถ้อยคำต่างกัน โดยฉบับปี 26 บัญญัติคำว่า “ถูกลงโทษ” แต่ พ.ร.บ.ปี 50 ระบุว่า “ต้องได้รับโทษมาก่อน” จึงจะเข้าข่ายการล้างมลทิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เร่งรีบยื่นเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก นายจุรินทร์ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ส.ส.ว่า ขณะนี้ต้องรอดูท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนว่าจะดำเนินการกับนายยงยุทธอย่างไรบ้าง เพราะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่หากไม่มีดำเนินการอะไร พรรคประชาธิปัตย์ก็จะมีมาตรการออกมา และจะรอให้ความผิดสำเร็จก่อน โดยหากนายยงยุทธยังดึงดันที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป พรรคก็จะจัดการทันที ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน ส่วนการที่พรรคเลือกแนวทางดังกล่าวนั้น เพราะเห็นว่าแนวทางอื่น เช่น การยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีผู้อื่นไปยื่นแล้วอย่างแน่นอน