ดีเอสไอเรียกอดีตรองเลขาฯ นายกฯ แจงเผาเมือง รองอธิบดีฯ อ้างต้องสอบเพราะใกล้ชิด “อภิสิทธิ์” รับยังต้องใช้เวลาสอบอีกระยะ พร้อมเช็กรายงาน คอป.อย่างละเอียด แย้มคิวต่อไปซัก “วรพงษ์-ประสพสุข” ต่อ ด้าน “ปณิธาน” มาตามนัด ยันรัฐไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน แต่หวังคืนความสงบบ้านเมือง ย้ำทำงานตามโครงสร้าง พร้อมนำข้อมูลวิจัยยื่นเสริม
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเตรียมคำถามเพื่อสอบคำให้การของนายปณิธาน วัฒนายากร ในฐานะโฆษกรัฐบาล ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่มีความใกล้ชิดกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมประชุมศอฉ. จึงมีความจำเป็นต้องเรียกมาสอบปากคำ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการสอบสวนคดีการเสียชีวิต 92 ศพ เนื่องจากยังมีข้อเท็จจริงอีกจำนวนมากที่ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังต้องตรวจสอบรายงานฉบับสมบูรณ์ ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นมาจากสำนวนการสอบสวนเดิมของดีเอสไอ
“ดีเอสไอต้องตรวจสอบรายงานของ คอป.อย่างละเอียดว่าได้รับข้อเท็จจริงมาจากแหล่งข้อมูลใด และข้อเท็จจริงมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร จากนั้นจะประชุมร่วมกันว่ามีความจำเป็นต้องเรียกกรรมการคอป.เข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่” พ.ต.อ.ประเวศน์กล่าว
พ.ต.อ.ประเวศน์กล่าวต่อว่า ในวันพุธที่ 26 ก.ย.นี้ พนักงานสอบสวนเรียก พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา สบ 10 เข้าให้ปากคำในฐานะผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขณะเกิดเหตุกระชับและขอคืนพื้นที่ จากนั้นในวันที่ 28 ก.ย. เป็นคิวของนายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. นายปณิธาน วัฒนายากร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และอดีตรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอตามหมายเรียกเข้าให้การคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจำนวน 92 ศพ โดยนายปณิธานให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้ปากคำว่า เป็นการเข้าพบเพื่อยืนยันข้อมูลเดิมว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาทำให้ประชาชนบาดเจ็บ แค่ต้องการทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ ซึ่งหลักการและข้อมูลการทำงานทั้งหมดของรัฐบาลระบุไว้ชัดเจน ว่าเป็นการทำงานตามโครงสร้างอำนาจและมีขั้นตอน โดยเอกสารของรัฐบาลจะถูกเก็บอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีซึ่งดีเอสไอสามารถขอเอกสารเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาได้ โดยเฉพาะการรายงานความคืบหน้าของคดีที่ดีเอสไอดำเนินการเป็นระยะๆ ก็มีหลักฐานปรากฏชัดเจน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอาจมีข้อเท็จจริงบางอย่างชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องจากขณะนี้มีการเปิดเผยรายงานใหม่ๆ ออกมาทั้งจาก คอป. รวมถึงข้อมูลการวิเคราะห์และวิจัยเพราะตนได้กลับมาทำงานเป็นอาจารย์จึงมีโอกาสได้ทำงานวิจัยหลายเรื่อง ตลอดจนข้อมูลที่ปรากฏผ่านสื่อทั้งไทยและต่างประเทศที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของดีเอสไอที่ขณะนี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าถูกการเมืองกดดัน
“ข้อมูลเพิ่มเติมที่นำมาส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในสื่อ ข้อมูลจากการวิเคราะห์วิจัย ซึ่งงานวิจัยหลายเรื่องอาจเป็นประโยชน์กับดีเอสไอในแง่ของการทำงาน เนื่องจากโครงสร้างดีเอสไอ คือ ช่วยการทำงานของรัฐบาลทุกรัฐบาลอยู่แล้ว เชื่อว่าดีเอสไอมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นมืออาชีพอยู่เยอะ แต่ขณะนี้มีข้อสงสัยว่าบางส่วนอาจถูกกดดันทางการเมืองหรือไม่ ทำให้ส่งผลถึงการตั้งคำถาม การให้ข่าว ซึ่งวันนี้จะนำข้อมูลมาเสริมเพื่อให้ดีเอสไอทำงานได้อย่างมืออาชีพ” นายปณิธานกล่าว