xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการแดง” โต้ คอป.อ้างต่างฝ่ายแต่งชุดดำ ด่าพวก “บิ๊กคลีนนิง” ทำลายหลักฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงาน ศปช.
กลุ่ม ศปช.เสวนาโต้รายงาน คอป.“พวงทอง” อ้าง จนท.จับชายชุดดำไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างแต่ง ฉะ จนท.รัฐยิงจงใจม็อบ ถามกลับม็อบตายก่อนชายชุดดำโผล่หรือไม่ อาจารย์ ม.อุบลฯ แก้ต่างแทนม็อบคับแค้นถึงบุกศาลากลาง อ้างไฟไหม้ชั้น 2 แต่ชุมนุมชั้น 1 “น.ส.ตรี” เกทับรายงานตัวเองพันหน้า ซัดให้น้ำหนักเสื้อแดงน้อยมาก โบ้ยพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน คือ ต้นตอ ด่าพวกบิ๊กคลีนนิงเดย์ทำลายหลักฐาน แนะควรแยกกลุ่มคนนิรโทษกรรม

วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ห้องประกอบหุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “รัฐประหาร 19 กันยา กับอาชญากรรมรัฐ : กรณีสลายชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553” พร้อมแสดงความเห็นต่อรายงานแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมีผู้สนใจซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวลชนของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สวมใส่เสื้อสีแดง เข้าร่วมรับฟังการเสวนาเป็นจำนวนมาก จนล้นห้องประชุม

โดย นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงาน ศปช.กล่าวว่า จากรายงานของ คอป.มีหลายส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากมีหลายส่วนที่ทาง คอป.ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเน้นไปที่เรื่องของชายชุดดำ ที่ปรากฏตัวอยู่แทบทุกจุดที่มีความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.53 เพื่อมีนัยยะให้ดูว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นไปด้วยความไม่ชอบธรรม และสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ตรงนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ แต่ข้อเท็จจริง กลับพบว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมชายชุดดำมาได้เลย ซึ่งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 หลายฝ่ายอาจจะเห็นว่า ชายชุดดำได้เข้ามาช่วยเสื้อแดง แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจับตัวมาได้เช่นกัน ฉะนั้น อยากจะตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ ว่า การชุมนุมที่ผ่านมา กลุ่มการ์ดเสื้อแดงจำนวนมากได้ใส่ชุดดำ แต่อีกด้านหนึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบจำนวนมากก็ใส่ชุดดำเช่นกัน

นางพวงทอง กล่าวต่อว่า แม้ทาง คอป.จะบอกว่า รัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่จากข้อมูล พบว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่จัดการกับผู้ชุมนุม ไม่ได้เพื่อตอบโต้ชายชุดดำแต่อย่างใด แต่เป็นการยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมแทน โดยที่ผ่านมา มีภาพถ่ายการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารมากมายในโลกออนไลน์ แต่ทาง คอป.กลับไม่ดึงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในรายงาน รวมถึงในรายงานไม่มีการกล่าวชัดเจนเลย ว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุในกรณีไหนบ้าง หรือไม่มีการวิจารณ์ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการขนอาวุธหนัก ที่ใช้กระสุนกว่า 1-2 แสนนัด และใช้กำลังทหารมากมาย เป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องหรือไม่ และจากรายงานบางส่วนของ คอป.พบว่า มีการสัมภาษณ์พยานเพียง 1-3 เดือน ก่อนที่ คอป.จะหมดอายุ ตรงนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่ใช้ไม่ได้ ทั้งนี้ จากหลักฐานของ ศปช.พบว่า แม้ไม่มีเหตุการณ์เผายาง หรือชายชุดดำ แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารก็ยิงปืนเข้าใส่ผู้ชุมนุม อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 ซึ่งจากเหตุการณ์เมื่อวันนั้น ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายรายที่แยกบ่อนไก่ พระราม 4

นางพวงทอง กล่าวอีกว่า ทาง ศปช.อยากจะฝากไปถึง คอป.ว่า การที่สรุปเหตุการณ์รุนแรงเมื่อปี 53 ว่า เป็นความผิดทั้ง 2 ฝ่ายนั้น อาจจะทำให้ภาพของ คอป.ดูดีขึ้น โดยเฉพาะจากฝ่ายที่สนับสนุนทางเจ้าหน้าที่ทหารนั้น แต่ในความจริงเรื่องความเป็นกลางนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยจะชี้แจงว่า เมื่อปี 53 คนเสื้อแดงแค่มาเรียกร้องให้เกิดการยุบสภาเท่านั้น แต่ถ้ามีใครมาทำร้ายเรา คนเสื้อแดงก็ไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้ แต่กลับมีกลุ่มที่คอยจับผิดคนเสื้อแดงอยู่ตลอด แทนที่จะเข้ามาช่วยต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

“คอป.ควรไปดูรายละเอียด ว่า ที่สี่แยกคอกวัว และหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ประชาชนถูกยิงเสียชีวิตก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏตัวขึ้นหรือไม่ โดย คอป.มักจะพูดในลักษณะเห็นอกเห็นใจทหารอย่างการที่บอกว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาถูกตาย ส่งผลทำให้ทหารระดับล่างเกิดความระส่ำระสาย ไร้การควบคุม ยิงอย่างสับสนเข้าใส่ผู้ชุมนุม ตรงนี้ คอป.ควรตรวจสอบว่า มีผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตจำนวนมากก่อนที่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม จะเสียชีวิตหรือไม่ ไม่ควรโยนความผิดทั้งหมดให้ชายชุดดำ” นางพวงทอง กล่าว

นางเสาวลักษณ์ โพธิ์งาม นักกฎหมายอิสระ และหนึ่งในผู้ทำข้อมูลใน ศปช.กล่าวว่า อยากจะพูดในส่วนของผู้จับกุม เพราะเรื่องของผู้ที่ตายไปแล้ว ไม่สามารถช่วยอะไรได้ โดยผู้ที่ถูกจับกุมทั้งเสื้อแดง และไม่ใช่ นปช.ในรอบ 2 ปี ที่มีปัญหากับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาล ในวันที่ 7 เม.ย.53 มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 1,857 คน ในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 167 คน และพบว่า ในจำนวนนี้ถูกดำเนินคดีวางเพลิงเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์รวมอยู่ด้วย ตรงนี้ถือว่าบางกรณีเป็นการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้คนที่ถูกจับกุมจะถูกตรวจสอบว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับแกนนำ นปช.อย่างไร ที่มีหลายรายถูกคุมขังมาจนถึงทุกวันนี้ มีผู้ต้องหาบางคนได้ให้ข้อมูลกับ ศปช.ว่า ขณะที่ถูกจับกุมนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้กระทำการข่มขู่คุกคามต่างๆ ให้รับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวน หรือในชั้นอัยการ ซึ่งพบว่ากรณีแบบนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก และการจับกุมในวันที่ 15 พ.ค.53 พบว่า มีการจับกุมที่ไม่สมควร อย่างการจับกุมแบบปิดตาจับมือไขว่หลัง

นางเสาวลักษณ์ กล่าวต่อว่า อยากตั้งคำถามว่า การที่มีการบอกว่า ผู้ชุมนุมได้มีการก่อเหตุยิงอาวุธสงครามเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหาร แต่ตรงนี้เจ้าหน้าที่กลับไม่สามารถจับกุมได้ รวมถึงกรณีชายชุดดำเข้ามาก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่ทหารนั้น ศาลก็ยังไม่ได้ตัดสิน และมีการให้ประกันตัวออกไป คอป.พูดผิดส่วนหนึ่ง ว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมได้ถูกนำมาใช้ในความขัดแย้ง โดยประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้น ควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด ตรงนี้ตนคิดว่าเป็นเรื่องน่าสมเพชของ คอป.เพราะกระบวนการยุติธรรมควรจะเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น การให้สิทธิ์ประชาชนเลือกตั้งประธานศาลฎีกา โดยตนเห็นว่า เรื่องของความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม มีปัญหาหมักหมมมาอย่างเนิ่นนาน ถ้าให้นับก็ไล่มาตั้งแต่การตัดสินคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แล้ว

นายธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า อยากจะเรียนว่าเหตุการณ์เผาศาลากลางตามจังหวัดต่างๆ ในช่วงการชุมนุมปี 53 นั้น เกิดจากความคับแค้นเมื่อเห็นความตายของพี่น้องเสื้อแดงที่ราชประสงค์ อย่างที่ จ.อุบลราชธานี เริ่มแรกพี่น้องจะเดินทางไปเผายางที่หน้าบ้านของเหล่า ส.ส.แต่ถูกตำรวจห้ามปรามไว้ จึงได้ไปรวมตัวชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัด โดยระหว่างนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของศาลกลาง ได้ปิดประตูทางเข้าออกของศาลกลาง การชุมนุมก็ยังเป็นไปอย่างสงบ แต่เมื่อมีการสับเปลี่ยนให้ทหารเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนนั้น ด้วยความคับแค้นของชาวบ้าน จึงได้ทำการบุกเข้าไปยังศาลากลางทันที ก่อนจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาเป็นระยะ ส่งผลให้ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ได้มีการสั่งการบางอย่าง จนทำให้ทหารที่ป้องกันศาลากลางอยู่ถอนกำลังออก ส่งผลให้ชาวบ้านบุกเข้าไปในศาลากลาง แต่อยากจะเรียนชี้แจงว่า เพลิงไหม้ได้เกิดขึ้นที่บริเวณชั้น 2 ของศาลากลาง แต่ขณะนั้นชาวบ้านยังชุมนุมอยู่แค่เพียงชั้น 1 เท่านั้น ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ตรงนี้ไม่รู้ว่าเป็นแผนการของใครหรือไม่

นางสาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ นักวิชาการหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า รายงานของ คอป.มีปัญหาในหลายส่วน ทั้งเรื่องทัศนคติของคณะกรรมการ คอป.และการวางทิศทางของรายงานที่น่าผิดหวัง โดยพบว่า คอป.ทำงานมาร่วม 2 ปี ใช้เงินจำนวนมากที่เป็นภาษีของประชาชนกว่า 65 ล้านบาท เพื่อทำรายงานดังกล่าวที่ออกมาเพียงแค่ 300 หน้า ที่ต่างกับรายงานของ ศปช.ที่มีถึง 1,300 กว่าหน้า รวมถึง คอป.ยังถูกตั้งขึ้นโดยคู่ขัดแย้งของผู้ชุมนุมเสื้อแดง คือ รัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ซึ่งตรงนี้เห็นว่า การค้นหาความจริงไม่ควรจะมาจากคู่ขัดแย้งแบบนี้

“ดิฉันเห็นว่า รายงานเพียง 300 หน้านั้น ที่มีเนื้อหาจริงๆ เพียง 200 หน้า ไม่เพียงพอที่จะเสนอข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงข้อมูลดิบที่ คอป.เอามาใช้กลับไม่อยู่ในรายงาน ทั้งที่ควรจะเผยแพร่ต่อสาธารณชน อย่างข้อมูลดิบจากซีเอสไอ นอกจากนี้ คณะกรรมของ คอป.บางราย มีส่วนได้เสียรวมอยู่ด้วย โดยมีบางคนอยู่ในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป.กลับพูดว่า ตรงนี้ไม่เห็นจะเกี่ยวเลย ใครมีความสามารถเราก็ไม่เกี่ยง ตรงนี้อยากจะเรียนว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เราไม่ควรเอาคนบางกลุ่มที่มีส่วนได้เสีย หรือสนับสนุนการกระทำของคนบางกลุ่มให้กระทำผิดมาเป็นคณะกรรมการด้วย” นางสาวตรี ระบุ

นางสาวตรี กล่าวต่อว่า คอป.มักจะเน้นไปที่ข้อมูลของฝ่ายรัฐบาล แต่กลับให้น้ำหนักฝั่งผู้เสียหายของคนเสื้อแดงน้อยมาก โดยตนเห็นว่า รายงานฉบับนี้ เลือกจับเพียงบางส่วนขึ้นมาเท่านั้น ทั้งนี้ในรายงานช่วงแรกของ คอป.จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิวัฒนาการของความขัดแย้ง ที่มีการไล่มาตั้งแต่ช่วงที่มีรัฐธรรมนูญปี 40 ช่วงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยมีการหยิบยกบางช่วงเวลาเท่านั้น และมีการหยิบเรื่องกระบวนการยุติธรรมในการตัดสินคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เขียนไว้ว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ส่วนการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง และเสื้อแดง พบว่า ในส่วนการกระทำของกลุ่มเสื้อเหลือง มีเขียนถึงเรื่องปิดสนามบินเพียง 1 บรรทัดเดียวเท่านั้น แต่กับกรณีที่เสื้อแดงปิดการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา กลับเขียนมามากกว่าครึ่งหน้า ทั้งที่ความจริงการปิดสนามบินของ พธม.ถือว่าเป็นหนึ่งในรากเหง้าปัญหาจนถึงทุกวันนี้

นางสาวตรี กล่าวอีกว่า คอป.ยังไม่พูดถึงเหตุการณ์วันบิ๊กคลิ่นนิงเดย์ หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 จบลง ซึ่งวันดังกล่าวถือว่าเป็นหนึ่งวันที่ทำลายพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุมากที่สุด นอกจากนี้ ทาง คอป.ไม่มีการพูดถึงคดีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เรื่องนี้พบว่ามีพรรคการเมืองบางพรรค ยกเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เป็นประจำ

นางสาวตรี กล่าวอีกว่า ในรายงานพยายามเขียนเชื่อมโยงให้ชายชุดดำเกี่ยวข้องกับกลุ่ม นปช.โดยพบว่า ชายชุดดำในรายงานมักจะออกมาเป็นประจำ อย่างเหตุการณ์ในวัดปทุมฯ ที่ข้อมูลซีเอสไอ ระบุว่า มีการยิงมาจากรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ในรายงานของ คอป.ได้เขียนไปทำนองว่า ชายชุดดำได้ยิงกับทหารบริเวณวัดปทุมฯ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ศพ ในวัดปทุมฯ โดยมีการเขียนไปในเชิงว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อาวุธและยิงเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น แต่จะโดนใครบ้าง ตรงนี้ไม่สนใจ นอกจากนี้ รายงานได้กล่าวถึงเรื่องการสลายการชุมนุม โดยมีการนำใบคำสั่งของ ศอฉ.มาเปิดเผย แต่กลับไม่มีการแสดงความเห็นต่อคำสั่งดังกล่าว ตรงนี้แทนที่ คอป.จะวิเคราะห์ว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านั้นหรือไม่ แต่การหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ กลับเงียบหายไป

นางสาวตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอของ คอป.ที่ให้ยุติกิจกรรมบางอย่างที่จะทำให้บรรยากาศของความปรองดอง โดยตรงนี้ตนเห็นว่า คอป.ได้นำเรื่องความปรองดองมาอยู่เหนือข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำลำดับแรก ส่วนแนวทางการปรองดองของ คอป.ที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม เรื่องนี้ทางกลุ่มนิติราษฎร์เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมอย่างยิ่ง อย่างในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยเห็นว่า การนิรโทษกรรมดังกล่าว จะไม่เป็นธรรมกับฝ่ายที่สูญเสียอย่างยิ่ง ฉะนั้นกลุ่มนิติราษฎร์ขอเสนอให้มีการจัดแยกกลุ่มนิรโทษกรรม โดยควรมีการตราหมวดออกมา และไม่ควรเป็นแค่ พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายลูก แต่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ และอยู่ในหมวด 1 ในรัฐธรรมนูญ เพื่อขจัดความขัดแย้ง ซึ่งต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ นับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย.49 ที่ถือว่าเป็นการรัฐประหาร นอกจากนี้ควรให้มีการนิรโทษกรรมทันทีกับประชาชนที่ฝ่าฝืนกฎหมายเล็กน้อย อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน






กำลังโหลดความคิดเห็น