โฆษกเพื่อไทยงัดคดี “แม่อรรถวิชช์” ส.ส.ปชป.หนีคดียักยอกทรัพย์ธนาคารมหานคร สมัยปี 40 จี้ “อภิสิทธิ์” ไปตรวจสอบ อ้างไม่อยากสองมาตรฐาน เตรียมยื่นหนังสือถึง “เพรียวพันธ์” ส่วนการประชุมพรรคอังคารนี้ หารือ ส.ส.พรรคช่วยน้ำท่วมหลังลงพื้นที่ โวคดีถอดถอนสุเทพพิสูจน์ศรัทธาประชาชน จับผิดผู้ตรวจฯ ชี้มูลออกวีซ่า “นช.แม้ว” อ้างใกล้ชิดฝ่ายค้าน
วันนี้ (16 ก.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ดำเนินการตรวจสอบคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกหมายจับเลขที่ จ 24/3/2549 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2549 โดยมี พ.ต.ท.สุเมธ โสดส่ง ทำการแทนผู้บังคับการกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เป็นผู้ร้อง กล่าวหานางภคินี สุวรรณภักดี มารดาของนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันกระทำผิดข้อหายักยอกทรัพย์สินในช่วงที่เป็นผู้บริหารธนาคารมหานคร มูลค่าความเสียหาย 4,100 ล้านบาท ซึ่งคดีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2540 และจะหมดอายุความในวันที่ 30 ต.ค. 2555 ซึ่งนับจากนี้ไปไม่ถึง 1 เดือน คดีก็จะหมดอายุความแล้ว
ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์อ้างว่าคดีนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงิน และทำให้ธนาคารมหานครต้องปิดตัวลง ซึ่งประชาชนร้องเรียนมาตั้งแต่สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่คดีกลับไม่คืบหน้า ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นที่ถูกกล่าวหาได้เข้ามอบตัวและสู้คดีกันหมดแล้ว เหลือแต่นางภคินีที่ยังหนีหมายจับ หากไม่เร่งดำเนินการ ก็อาจเหมือนคดีนักธุรกิจบางคนที่ใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์ที่หนีคดีไป พอคดีหมดอายุความก็เดินทางกลับประเทศ จึงขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ช่วยตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อเรื่องนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่คิดจะดำเนินการอะไร ไม่อยากมองว่าทำงานสองมาตรฐาน หากไม่ตรวจสอบถือว่าปกป้องพวกเดียวกัน พร้อมกันนี้ ตนขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.เร่งจับกุมนางภคินีมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.ตนจะเดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร.ให้เร่งรัดจับกุมผู้กระทำผิดตามหมายจับมาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้คดีต้องหมดอายุความลงเสียก่อน
ต่อมานายพร้อมพงศ์กล่าวถึงการประชุมพรรคเพื่อไทยในวันอังคารที่ 18 ก.ย.นี้ จะมีการหารือเรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด หลังจากที่ได้ส่ง ส.ส.ของพรรคลงพื้นที่เพื่อสรุปข้อมูลเรื่องการให้ความช่วยเหลือหรือปัญหาอุปสรรคต่างๆ ส่งให้รัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกันจะมีการหารือเรื่องการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยประธานภาค กทม.ทั้ง 3 โซนจะมีการสรรหาตัวบุคคลที่เหมาะสมและเสนอชื่อต่อที่ประชุมพรรค คาดว่าต้นเดือน ต.ค.นี้จะได้ตัวบุคคลที่จะลงสมัคร เพื่อส่งให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาคุณสมบัติต่อไป นอกจากนี้โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวว่ามีประชาชนในเขตพระโขนง ร้องเรียนมายังพรรคเพื่อไทยให้มีการตรวจประสิทธิภาพการการระบายน้ำของอุโมงยักษ์ของ กทม. ยังใช้งานได้ หรือมีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือไม่ ซึ่งทางพรรคได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบแล้วแต่ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ จึงจะมีการประสานไปยัง กทม. เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป
อีกด้านหนึ่งโฆษกพรรคเพื่อไทยยังกล่าวถึงการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดที่นายสุเทพในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ส่งคนเข้าไปทำงานในกระทรวงวัฒนธรรม โดยเชื่อว่าวุฒิสภาจะมีวุฒิภาวะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของวุฒิสภาว่าจะพิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่คล้อยตามกระแสหรือการล็อบบี้ตามที่มีข่าว ซึ่งเชื่อว่าการทำงานหน้าที่ของวุฒิสภาครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ศรัทธาประชาชน
ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ว่าการคืนหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถทำได้ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศก็มีการชี้แจงไปแล้วว่าสามารถทำได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้ตรวจการแผ่นดินบางคนมีใกล้ชิดกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและมีการแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล จึงเชื่อมีนัยทางการเมือง และอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีการทบทวนบทบาทของตนเอง เพราะการตรวจสอบทุกเรื่องมีนัยยะทางการเมืองสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน
ขณะที่กรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องต่อศาลโลกว่า มีการฆ่าตัดตอนประชาชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ โฆษกพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์มุ่งแต่เรื่องฆ่าตัดตอน เป็นการเอาคืนกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ยื่นศาลโลกเอาผิดกับผู้สั่งการสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งที่กรณีการฆ่าตัดตอนมีการตรวจสอบมาตั้งแต่สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่ามีการฆ่าตัดตอนแต่อย่างใด