ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ชี้น้ำท่วมสุโขทัย-อยุธยา อ้างสุดวิสัยตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐบาล ชี้ที่ผ่านมาตั้งกรรมการหลายคณะ ออก พ.ร.ก.กู้ 3.5 แสนล้านก็ช่วยไม่ได้ ซัดจ้องแต่เมกะโปรเจกต์ วิตกเกาเหลากับ กทม.มัวแต่เล่นการเมือง ไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนเดือดร้อนต้องช่วยตัวเอง
วันนี้ (12 ก.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุน้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอีกหลายพื้นที่ในขณะนี้ เห็นว่าเป็นการสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งที่มีเวลาเตรียมรับมือมากว่า 1 ปี ตั้งกรรมการหลายคณะ สารพัดผู้เชี่ยวชาญ และตั้งวงเงินมหาศาลด้วยการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่การทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบกับขาดเอกภาพ
โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. หรือยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ก่อนหน้านี้ตัวกรรมการเองก็มีมุมมองที่ต่างกันแบบสุดขั้ว แต่สุดท้ายต้องยอมฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่า ทำให้กรรมการคณะต่างๆ ไร้ทิศทาง จนชาวบ้านสับสนขาดความเชื่อมั่น
“ยิ่งน้ำเริ่มท่วมรอบนี้ได้ยินข้ออ้างจาก กบอ.ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ยิ่งตอกย้ำถึงความล้มเหลว ผิดพลาดของรัฐบาลและคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่สนใจแต่เมกะโปรเจกต์และงบประมาณ ที่สำคัญพื้นที่ที่กำลังท่วมในขณะนี้เป็นพื้นที่ที่นายกฯ ลงไปตรวจดูความพร้อมในการจัดการน้ำทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และจัดทัวร์นกขมิ้นสร้างภาพหว่านเงินไปหลายจังหวัด” นายสุริยะใสกล่าว
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ที่น่าวิตกที่สุดก็คือ ความไม่เป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีการชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบและเล่นการเมืองกันมากเกินไป ยิ่งใกล้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยิ่งเห็นการเมืองเรื่องน้ำท่วมจากการเมืองน้ำเน่ามากขึ้น ยิ่งน้ำที่ท่วมอยู่ในหลายพื้นที่ในขณะนี้เป็นเพียงน้ำหลากยังไม่ใช่น้ำเหนือหรือน้ำจากเขื่อนใหญ่ที่ถูกปล่อยหนุนเข้ามาเหมือนปีที่แล้ว ยังเห็นความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐจนน่าเป็นห่วง ซึ่งชาวบ้านและชุมชนคงต้องช่วยเหลือตัวเองเหมือนปีที่ผ่านมา
“ผมคิดว่าจุดเสี่ยงคือน้ำเหนือเพราะในขณะนี้ถ้าประเมินปริมาตรน้ำในเขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนศิริกิตต์ ซึ่งกลุ่มกรีนได้ลงไปสำรวจทั้ง 2 เขื่อน ยังรับน้ำได้อีกมาก เมื่อเทียบเวลาเดียวกันระดับน้ำในเขื่อนยังต่ำกว่าปีที่แล้วอยู่มาก แต่ถ้าฝนตกหนักและพายุเข้าคล้ายๆ ปีที่แล้ว สถานการณ์จะหนักกว่าปีที่แล้วเพราะระดับน้ำที่ยังขังอยู่ในดินมีมาก จะทำให้น้ำจะท่วมเร็วและสูงกว่าเดิม” นายสุริยะใสกล่าว