นายกฯ เรียกประชุม กบอ.หลังน้ำท่วมภาคเหนือตอนล่าง “รอยล” โอ่ยังไม่มีน้ำล้นตลิ่ง อ้างท่วมเหตุน้ำหลาก ชี้สุโขทัยกำแพงรั่วทำน้ำถล่ม ยันน้ำเขื่อนปล่อยตามแผน แต่เฝ้าระวังเขื่อนวชิราลงกรณ์ และป่าสักฯ ชี้ระบายน้ำอยุธยาต้องดูข้อเท็จจริง โวถ้าไม่ซ้อมคลองลาดพร้าวเมื่อพฤหัสฯ ป่านนี้จมแล้ว เชื่อฝนน้อยตามเป้า ด้านอธิบดีกรมชลฯ เผยนายกฯ ย้ำดูแลใกล้ชิด รอน้ำเหนือหมดค่อยทดสอบ กทม.ใหม่
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะ จ.สุโขทัย แพร่ และอุตรดิตถ์ โดยใช้เวลาประชุมประมาณกว่า 1 ชั่วโมงเศษ จากนั้นนายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจัดสรรน้ำ กบอ. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมกันแถลงข่าว
โดยนายรอยลระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การรับน้ำในพื้นที่ต่างๆ ล่าสุดยังไม่พบว่ามีลำน้ำใดที่มีน้ำล้นตลิ่ง ส่วนการเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่นั้นมาจากน้ำหลาก ซึ่งในกรณีของ จ.สุโขทัยนั้นมีขีดความสามารถในการรับน้ำประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แต่ยังมีปริมาณต่ำกว่ากำแพงอยู่ประมาณเกือบ 1 เมตร แต่สาเหตุที่น้ำสามารถเข้าไปท่วมได้ เนื่องจากกำแพงถูกน้ำเซาะเข้าไปท่วมพื้นที่ชั้นใน โดยในส่วนนี้นายกฯได้กำชับผู้ว่าฯประสานงานดูแลแล้ว
นายรอยลกล่าวต่อว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นจะเห็นว่าฝนตกหนัก โดยตัวเลขน้ำที่เข้ามาในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ประมาณ 900 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยเขื่อนเจ้าพระยาก็ได้มีการระบายน้ำในระดับ 1,100 ลบ.ม.ต่อวินาทีในสัปดาห์ที่แล้ว ที่ล่าสุดขณะนี้อยู่ที่ 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนั้นในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มเข้ามาอีก ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง และปริมาณน้ำในเขื่อนก็เป็นไปตามแผนที่จัดการไว้ แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ที่มีน้ำไหลเข้าปริมาณมาก แต่ขณะนี้ได้เริ่มระบายแล้ว ขณะที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ก็ยังคงเป็นไปตามแผน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่าการระบายน้ำเข้า กทม.ทำให้น้ำท่วมที่ทุ่งอยุธยา นายรอยลกล่าวว่า นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.ก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งประตูน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาในสัปดาห์ที่แล้วมีการเปิดระบายน้ำมากกว่าให้น้ำเข้านั้นเป็นการพร่องน้ำ ขณะที่คลองระพีพัฒน์ก็มีการเร่งระบายแล้วเช่นกัน โดยปริมาณฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกที่กรุงเทพฯ เท่านั้น มีการตกที่ จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย ซึ่งในส่วนของ กทม.ที่เป็นจุดเล็กๆ นั้นยังใช้เวลาระบายน้ำฝนประมาณ 4 วัน ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ระบบของทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างนั้นมีพื้นที่ 9 หมื่นตารางกิโลเมตรไม่ใช่ว่าอยู่ที่จะระบายเมื่อใดก็ระบายได้ต้องดูที่ข้อเท็จจริงด้วย
“ถ้าเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (6 ก.ย.) ระบบของกรมชลประทาน ระบบของทหารเรือ หรือระบบที่เราเตรียมซักซ้อมไม่อยู่ที่คลองลาดพร้าว น้ำคงท่วมตั้งแต่จากลาดพร้าวจนถึงประชาชื่นแล้ว” นายรอยลกล่าว
นายรอยลยังได้คาดการณ์ด้วยว่า ปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเป็นไปตามที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้น โดยพื้นภาคใต้ก็จะไม่ประสบภัยแล้ง ยกเว้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีสานบางจังหวัดที่อยู่นอกเขตชลประทานถึงร้อยละ 94 ที่หากไม่มีฝน ก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อไป
ขณะที่ นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า เนื่องจากปริมาณน้ำยมที่เข้าใน จ.สุโขทัยนั้นประมาณ 900-1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งรัฐบาลได้ต่อยอดเรื่องบางระกำโมเดล ทำให้สามารถระบายน้ำออกแม่น้ำยมได้ 300 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งระบายออกลำน้ำน่านด้วย ทำให้น้ำที่เข้า จ.สุโขทัยนั้นต่ำกว่าระดับกำแพงกั้นน้ำ สำหรับการประชุมในวันนี้ นายกฯได้ย้ำให้ดูสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากวันที่ 13-14 ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีฝนตกหนัก
“นายกฯ ย้ำว่าการทำการทดสอบการระบายน้ำในพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออกจะต้องหาวันเวลาที่เหมาะสมในการระบายน้ำเพื่อทดสอบประสิทธิภาพคูคลองให้ได้ โดยให้รอหลังจากที่สถานการณ์น้ำฝนและน้ำป่าในภาคเหนือเริ่มคลี่คลายลง” นายเลิศวิโรจน์กล่าว
ขณะที่ นายวิบูลย์กล่าวว่า นายกฯ ได้ย้ำในที่ประชุมว่าให้แก้ไขปัญหาใน จ.สุโขทัยให้เร็วที่สุด ซึ่งตนได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยแล้ว อย่างไรก็ตาม กำแพงกั้นน้ำที่ชำรุดนั้นเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นทำขึ้นมาซึ่งจะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว สำหรับ จ. ลำพูน ที่มีปัญหาทางรถไฟขาดไม่สามารถเดินทางต่อไปยังสายเหนือได้นั้น เบื้องต้นทราบว่า วิศวกรใหญ่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเร่งแก้ไขให้เสร็จภายในวันที่ 11 ก.ย. เพื่อให้การเดินทางรถไฟไปยังสายเหนือกลับมาปกติ เพราะขณะนี้ดินบางช่วงยุบตัวทำให้ทางรถไฟลอยบนอากาศโดยไม่สามารถเดินรถนั้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นทางน้ำผ่านทำให้ปัญหาดินยุบตัว ซึ่งในระยะยาวจะต้องมีการแก้ไขใหม่ทั้งหมดต่อไป
อธิบดี ปภ.กล่าวว่า นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่ 8 จังหวัดแล้ง แบ่งเป็น 4 จังหวัดภาคอีสาน และ 4 จังหวัดภาคใต้นั้น ขณะนี้เหลือพื้นที่ตามหมู่เกาะของ จ.สุราษฎร์ธานีที่ยังประสบปัญหา ส่วน จ.พัทลุง นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ที่เกิดปัญหาภัยแล้งคาดว่าในวันที่ 11 ก.ย.นี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ