xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” ชี้ “ยงยุทธ” ใช้ กม.ล้างมลทินหนีคดีอัลไพน์ไม่ได้ “คมสัน” ซัดขาดจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (ภาพจากแฟ้ม)
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้ถ้ารองนายกฯ-รมว.มหาดไทยจะใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินหนีคดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ไม่ได้ ชี้ถูก ป.ป.ช.ฟันเมื่อ 13 มิ.ย. เท่ากับไม่เคยมีมลทินมาก่อน ด้านนักวิชาการชี้ขาดจริยธรรมหวังเป็นรัฐมนตรีต่อ แทนที่จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ ชี้หากให้ศาลตีความก็เป็นบรรทัดฐานไปถึง “ปลอดประสพ” เคยถูกฟันกรณีทุจริตส่งเสือไปจีน

วันนี้ (7 ก.ย.) นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงที่มีกระแสข่าวว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงกรณีทุจริตต่อหน้าที่ในคดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งจะทำให้ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี โดยจะมีการนำ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 มาอ้างเพื่อให้พ้นผิดและไม่ขาดคุณสมบัติว่า ตนไม่ทราบว่านายยงยุทธจะใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินตามที่มีข่าวจริงหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาที่จะล้างมลทินให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 2550 ซึ่งต้องไปดูว่านายยงยุทธเคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัยก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้หรือไม่ ถ้าไม่เคยแต่เพิ่งจะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงในวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ก็เท่ากับยังไม่เคยมีมลทินมาก่อน จนกระทั่งถูกชี้มูลดังกล่าว ดังนั้นเมื่อไม่เคยมีมลทินมาเลยจะใช้กฎหมายฉบับนี้มาเป็นประโยชน์คงไม่ได้

ด้าน นายคมสัน โพธิคง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่นายยงยุทธจะอ้างกฎหมายล้างมลทินเพื่อเป็นรัฐมนตรีต่อ โดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และสะท้อนถึงการขาดจริยธรรมของนายยงยุทธที่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไทยได้ เนื่องจากการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.นั้นเกิดในวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ดังนั้น การนับช่วงเวลาในการกระทำความผิดจึงควรนับตั้งแต่มีการชี้มูล ไม่ใช่เริ่มนับจากช่วงเวลาที่กระทำความผิด เพราะในขณะนั้นยังไม่มีใครชี้ว่านายยงยุทธได้กระทำผิดแล้ว

“ผมคิดว่านายยงยุทธควรมีความละอายใจบ้าง ไม่ควรใช้กฎหมายล้างมลทิน แต่ควรลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว เพราะตามกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ระบุชัดว่าเมื่อมีการชี้มูลผู้ถูกชี้มูลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงเรื่องพยานหลักฐาน แต่นายยงยุทธกลับทำหน้าที่ต่อไป โดยที่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ดำเนินการอะไรในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะผมคิดว่าเธอไม่รู้เรื่องอะไรเลย งงๆ ไปหมดทุกเรื่อง จึงไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ผมคิดว่านายกฯ ออกจะเอ๋อๆ ดังนั้นจะหวังว่าให้นายกฯ สร้างมาตรฐานทางจริยธรรมคงยาก” นายคมสันกล่าว

นายคมสันกล่าวด้วยว่า หากนายยงยุทธจะใช้กฎหมายล้างมลทินจริงก็จะเกิดปัญหาทางข้อกฎหมายตามมาแน่นอนว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ และน่าจะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องนี้ว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินสามารถใช้ได้กับนายยงยุทธหรือเปล่า เพื่อชี้ว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) ที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการหรือไม่ หลังจากถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงไปแล้ว

นอกจากนี้ กรณีของนายยงยุทธจะกระทบถึงนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ที่มีการอ้างถึง พ.ร.บ.ล้างมลทินด้วยเช่นเดียวกัน เพราะนายปลอดประสพก็ถูกปลดออกหลังจากวันที่ 5 ธ.ค. 2550 คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีคำสั่งปลดนายปลอดประสพออกจากราชการจากกรณีทุจริตเรื่องส่งเสือไปจีน แต่คนในสังคมอาจลืมไปเลยไม่ได้ให้ความสนใจ ถ้านายยงยุทธนำ พ.ร.บ.ล้างมลทินมาใช้ และมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็จะเป็นบรรทัดฐานไปถึงกรณีนายปลอดประสพด้วย เช่น หากศาลชี้ว่าไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินกับนายยงยุทธได้ เนื่องจากการชี้มูลเกิดหลังวันที่ 5 ธ.ค. 2550 กฎหมายจึงไม่มีผลบังคับใช้กับนายยงยุทธ ย่อมหมายถึงว่ากรณีของนายปลอดประสพก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน

สำหรับ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 มาตราที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ คือ มาตรา 5 ระบุว่า ให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธ.ค. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมด หรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษ หรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น