“ศิริโชค” ชี้กู้ 15 ล้านไร้สัญญา แม้ล้มละลายไม่จำต้องใช้หนี้ แต่ด้วยสัจจะได้หาทรัพย์วางประกัน 7 ล้าน คู่กรณีกลับใช้อุบายหลอกทำสัญญากู้ โดยไม่ได้รับเงิน แถมเอาเป็นหลักฐานไปฟ้องฐานฉ้อโกง ระบุแม่ไม่มีเจตนาหลอก พร้อมสู้จนถึงฎีกา เผยแม่ยันหากศาลฎีกาชี้ผิดจริงก็ยินดีที่จะรับโทษ ไม่หนีเด็ดขาด
วันนี้ (27 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sirichok Sopha ชี้แจงกรณีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี
“เมื่อเช้าผมได้ไปฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กรณีที่แม่ผมถูกฟ้องข้อหาฉ้อโกงเงิน 15 ล้านบาท จริงๆจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่เห็นบรรดาสาวกคนเสื้อแดงพยายามหยิบยกให้เป็นประเด็นทางการเมือง โดบพยายามใช่แม่ผม ซึ่งเป็นคนแก่อายุ 74 ปี มาเป็นเครื่องมือในการดิสเครดิตผมทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่สกปรกจริงๆ เพราะกรณีนี้เป็นปัญหาระหว่างบุคคล ไม่ได้เป็นการทุจริต หรือเป็นผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ดังนั้นผมจึงมีความจำเป็นที่ต้องอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เพื่อข้อมูลจะได้ถูกต้อง และเป็นอุทาหรณ์ให้อีกหลายๆ ครอบครัว ที่อาจโดนแบบแม่ผมได้ จากการกู้เงินนอกระบบ
แม่ผมได้กู้เงินจากคุ่กรณีจริง โดยยอดสุดท้ายเป็นหนี้คงค้างอยู่ 8.9 ล้านบาท แต่ไม่ได้มีการทำสัญญาเงินกู้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากเป็นเพื่อนสนิทกัน โดยเป็นการกู้เงินระยะสั้น 1-2 อาทิตย์ก็คืน และทำอย่างนี้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ยามที่ต้องการเงินหมุน โดยคู่กรณีคิดดอกเบี้ย 10% ต่อเดือน (120% ต่อปี) ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
ต่อมาเมื่อธุรกิจของคุณแม่ประสบปัญหา และศาลได้มีการพิทักษ์ทรัพย์และสั่งให้แม่ผมกลายเป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่ปี 2554 ด้วยความที่เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ ก็พยายามไปเจรจากับคู่กรณี เพื่อผ่อนคืนเงินต้นที่ค้างอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นเพราะกลายเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว เมื่อคู่กรณีทราบเรื่อง ก็ทำทีเป็นเห็นใจและขอให้แม่ผมเอาทรัพย์สินที่พอหยิบยืมได้ มาค้ำประกันเงินส่วนที่เหลือเนื่องจากเขาเสียเปรียบ เพราะไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้กันตั้งแต่ต้น แม่ผมก็ไปยืมเพชรและมุกจากญาติและเพืื่อนมาค้ำประกันให้ โดยคิดเป็นเงินประมาณ 7 ล้านบาท ทำให้เหลือหนี้ที่คงค้างจริงอยู่ประมาณ 1.9 ล้านบาท
ต่อมาคู่กรณีก็ออกอุบายว่า มีเพื่อนที่สามารถปล่อยเงินกู้ให้ได้ 15 ล้านบาท และคิดดอกเบี้ยเพียง 3% ต่อเดือน และหลอกให้แม่ผมมาทำสัญญาเงินกู้ โดยให้เซ็นชื่อเปล่าๆ แล้วคู่กรณีก็ไปกรอกเองทีหลัง โดยอ้างว่าใน 15 ล้านบาท จะหักเงินกู้คืนคู่กรณี 8.9 ล้านบาท ส่วนมุกกับเพชรนั้นจะคืนให้ และส่วนทีี่เหลืออีก 6.1 ล้านบาทนั้นก็ให้แม่ผมนำไปหมุนเงินทำธุรกิจต่อ
แต่ทั้งหมดทำไปเพื่อหลอกให้แม่ผมทำสัญญาเงินกู้ เนื่องจากเดิมไม่เคยทำสัญญาเงินกู้ต่อกัน เมื่อแม่ผมล้มละลายไป เงินก็ย่อมสูญหายไปหมด คู่กรณีทราบอยู่แล้วว่าแม่ผมเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถไปทำนิติกรรมใดๆ ได้ แต่ด้วยความที่แม่ผมเป็นคนเชื่อเพื่อน ก็เลยไปทำสัญญาเงินกู้ 15 ล้านบาทกับคู่กรณี โดยคิดว่าเพื่อนกัน ไม่มีอะไรหรอก โดยที่สุดท้ายไม่ได้เงินสักบาท เพราะถูกหลอก แถมเอาสัญญากู้เงินที่ทำใหม่นี้ มาฟ้องแม่ผมข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ไปทำสัญญาเงินกู้ซึ่งเป็นโมฆะ ทำให้คู่กรณีเสียหาย
ซึ่งทนายฝ่ายแม่ผมก็สู้อย่างเต็มที่ โดยหาพยานมาหักล้างคู่กรณี อีกทั้งยังมีข้อพิรุธหลายๆอย่าง เช่นทำไมให้แม่ผมเป็นเงินสด ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชี และเงิน 15 ล้าน คนแก่อายุ 74 จะแบกคนเดียวได้หรือ เพราะหนักถึง 15 กก. และทำไมถึงไม่มีเอกสารการเซ็นรับเงิน หรือแม้กระทั่งหลักฐานทางการเงินที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีคู่กรณีเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหลายๆครั้ง ย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่าได้เป็นหนี้กันมาก่อนที่แม่ผมจะล้มละลายในปี 2554
แต่ท้ายที่สุด ศาลชั้นต้นเลือกที่จะเชื่อหลักฐานทางเอกสารที่เป็นสัญญาเงินกู้มากกว่าพยานแวดล้อม แม้ว่าคู่กรณีจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า แม่ผมได้รับเงินไปจริง แต่ศาลชั้นต้นก็ยกประโยชน์ให้กับคู่กรณี ทั้งๆที่ในความเป็นจริง คดีอาญาลักษณะนี้ศาลต้องยกประโยชน์ให้กับจำเลย โดยอาศัยหลักต้องเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ เพราะโทษคือการจำคุก ไม่ไช่เป็นคดีแพ่ง ซึ่งโทษคือการชดใช้ค่าเสียหาย
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับศาล แต่ก็ยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยแม่ผมและทนายก็จะทำการยื่นอุธรณ์ต่อไป แม้ว่าคดีนี้จะสามารถยอมความได้ แต่แม่ผมก็ยืนยันที่จะสู้จนถึงฏีกา เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ผิดเนื่องจากถูกหลอกให้ไปทำสัญญากู้เงิน และไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด และสุดท้ายแม่ผมก็ยืนยันหากศาลฎีกาชี้ว่าผิดจริง ก็ยินดีที่จะรับโทษ จะไม่หนีไปไหนเด็ดขาด”