นิคม” รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสมาชิกแล้ว ยันเดินหน้า 4 ภารกิจที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ ฟิตเพิ่มวันประชุมวุฒิสภาสัปดาห์ละ 1 วัน ระบุยังมีกฎหมายและกระทู้ถามค้างอีกเป็นจำนวนมาก ย้ำเป็นกลางไม่สนแรงกดดัน จันทร์ที่ 27 ส.ค.เริ่มพิจารณาถอดถอน “สุเทพ”
ที่ห้องรับรองพิเศษ ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 เช้าวันนี้ (24 ส.ค.) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้มีพิธีรับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา
จากนั้นนายนิคมได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 และสักการะพระสยามเทวาธิราช ทั้งนี้ นางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการ เข้าร่วมแสดงความยินดีด้วย
นายนิคมให้สัมภาษณ์ว่า ภารกิจแรกที่จะทำทันทีคือสิ่งที่แสดงไว้ในวิสัยทัศน์ 4 ประการ คือ สร้างความเป็นกลาง ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของใคร โดยยึดหลักนิติธรรมภายใต้ระเบียบข้อบังคับ หรือกฎหมาย จะไม่ดำเนินการภายใต้กระแสสังคมหรือแรงกดดัน การสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมาธิการเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นตัวเชื่อมโยงที่จะนำปัญหาของประชาชนมาแก้ไข
นอกจากนี้จะเพิ่มวันประชุมจากเดิมมีเพียงวันจันทร์จะเพิ่มวันอังคารเริ่มตั้งแต่ 13.00 น.จนถึงประมาณ 17.00-1800 น. เนื่องจากยังมีกฎหมาย กระทู้ถามที่ค้างจำนวนมาก ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติของรัฐบาล ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
นายนิคมกล่าวต่อว่า จะสนับสนุนงานของสมาชิกทำอย่างไรให้ข้าราชการมีขวัญกำลังใจมีอนาคตในการทำงาน อาจจะปรับโครงสร้างและวิธีการทำงาน เพราะโครงสร้างของรัฐสภามีความซ้ำซ้อน และแยกส่วนกันอยู่ ระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เช่นตำรวจสภา โรงพิมพ์ ไอที และห้องสมุด ความจริงสิ่งเหล่านี้ควรเป็นในนามของรัฐสภา ซึ่งควรจะมีการปรับปรุงหากทำได้ก็จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณ สิ่งใดที่เหมือนกันก็ให้อยู่ด้วยกัน อาจจะมีการเลขาธิการรัฐสภาเพียงคนเดียวก็ได้ ทั้งนี้ต้องไปพูดคุยหารือกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนการแต่งตั้งองค์กรอิสระโดยเฉพาะ ป.ป.ช.เริ่มมาแล้ว วุฒิสภาจะต้องแสดงถึงศักยภาพในการที่จะใช้วิธีการพิจารณาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอย่างถี่ถ้วน คนที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการทำหน้าที่ อย่าไปกังวลว่าตนเข้ามาแล้วจะแก้หรือยุบ แต่จะเข้ามาช่วยทำให้องค์กรเข้มแข็งมากขึ้น
“หลายคนสงสัยและกังวลว่าเรื่องการถอดถอนจะไม่เป็นกลาง ผมยืนยันว่าจะทำหน้าที่เป็นกลาง เพราะเคยทำมา 3 ครั้งแล้วแสดงให้เห็นว่าใช้หลักกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสมาชิกก็ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา เพราะไม่มีพรรคการเมืองหรือสังกัด” นายนิคมกล่าว และว่าในวันจันทร์ที่ 27 ส.ค.วุฒิสภาจะเริ่มพิจารณาการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ