ผบ.ทบ.มองโลกในแง่ดี ไม่ฟันธงมุสลิมกัมพูชาเข้าชายแดนใต้เป็นผู้ก่อเหตุร้าย มองเป็นเรื่องความยากจนเข้ามาหางานทำ ประสาน ตม.-ศุลกากรตรวจสอบเพราะกลับเข้ามาไม่ครบ เผยแม่ทัพภาค 1 รายงานมีแค่ 30-100 คน ส่วนกลุ่มวาดะห์เสนอ “บิ๊กบัง-วันนอร์” แก้ไฟใต้บอกยินดี แต่อย่าสร้างเงื่อนไข ส่วนมาตรการดูแลหลังถือศีลอดชี้การข่าวมีระบบอยู่แล้ว แต่ 6 อำเภอเกิดเหตุบ่อยต้องวิเคราะห์
วันนี้ (21 ส.ค.) ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) จ.ชลบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตรวจสอบชาวมุสลิมกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,000 คนว่า ที่ผ่านมาชาวมุสลิมกัมพูชาเดินทางเข้ามาในพื้นที่เดือนละ 30 ราย โดยถือวีซ่าเข้ามาและสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ 1 เดือน โดยบุคคลเหล่านี้จะเดินทางผ่านภาคใต้ของไทยเข้าประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้มีมานานแล้วถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคนมุสลิมจะสัญจรไปมาในเรื่องการทำบุญทางศาสนา ในช่วงอื่นอาจจะเข้าไปทำงาน แต่ทางกองทัพพยายามกวดขันและประสานไปยังทาง ตม. และกรมศุลกากร ว่าอยากให้มีการขึ้นบัญชีมุสลิมเหล่าว่าเมื่อเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยแล้ว กลับออกไปเท่าไหร่ เพราะเท่าที่ตรวจสอบกลุ่มมุสลิมเหล่านี้ เมื่อเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านจะกลับเข้ามาไม่ครบ
“เรากำลังวิเคราะห์ว่าบุคคลเหล่านี้หายไปไหน ไปทำอะไร แต่จะให้มองว่าเป็นผู้ก่อเหตุในภาคใต้นั้นไม่ใช่ คิดว่าเป็นเรื่องความยากจน เพราะการไปทำงานในประเทศที่เป็นมุสลิมด้วยกันจะมีรายได้ดีกว่าประเทศกัมพูชา ทั้งนี้กองทัพบกจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐให้ดูแลเรื่องนี้ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ตามด่านต่างๆ ทำบันทึกตลอดเวลา พร้อมประสานกัมพูชาว่า คนกัมพูชาที่เข้ามาประเทศไทยแล้วไม่ได้เดินทางกลับ ทางกัมพูชาจะดำเนินการอย่างไร เพราะอนาคตอาจจะเกิดปัญหาคน 2 สัญชาติ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2558 ถือว่าน่ากลัวมาก เพราะต่อไปไม่ต้องใช้วีซ่าและทำพาสปอร์ตในประเทศอาเซียนด้วยกัน ดังนั้นการข้ามมาแล้วไม่กลับออกไปจะทำให้การพัฒนาลำบาก จึงต้องตั้งหลักและเตรียมพร้อมให้ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะผ่านเส้นทางหลัก ด่านอรัญประเทศ ด่านจันทบุรี-ตราด เรื่องนี้เกิดมาหลาย 10 ปีแล้ว เพียงแต่ขณะนี้เราตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไปร่วมมือก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ แต่คงจะมีบางส่วน ซึ่งต้องตรวจสอบกันต่อไป แต่ขอเรียนว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะถ้าเป็นทั้งหมดสถานการณ์คงรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องตรวจสอบให้ละเอียด และประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน เท่าที่แม่ทัพภาคที่ 1 รายงานการเข้ามาของชาวมุสลิมกัมพูชาประมาณ 30-100 คนต่อเดือน ยืนยันว่ากองทัพบกให้ความสำคัญเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ปัญหา คือ ทหารไม่ใช่เจ้าหน้าที่หลัก เพียงแต่เราประสานไปยัง ตม.และศุลกากรให้ดูแล ส่วนที่ระบุว่ามีตัวเลขเข้าออกเป็นพันคน ต้องไปทบทวนกันอีกครั้งว่าตัวเลขถึงพันคนหรือไม่ โดยจะประสานกับตำรวจและศุลกากรอีกครั้ง ซึ่งทหารบกและทหารเรือที่รับผิดชอบดูแลอย่างเต็มที่ แต่ไม่อยากให้เหมารวมว่ากลุ่มมุสลิมเหล่านี้ไปร่วมก่อเหตุ แต่ให้ถือความยากจนเป็นหลัก เมื่อบ้านเขาไม่มีอาชีพก็ออกไปทำมาหากินที่อื่น เหมือนกับคนไทยที่ไปทำงานกับประเทศเพื่อนบ้าน จะไปยุ่งเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายก็ไม่ใช่ เช่น ที่ไปเปิดร้านอาหารอยู่ก็หลายหมื่นคน เขาไม่ได้ไปเป็นโจร แต่ไปประกอบอาชีพ ส่วนจะถูกหรือผิดกฎหมายต้องไปดูกัน แต่คนเหล่านี้อาจจะมีส่วนร่วมสนับสนุนเรื่องเงินทางอ้อม
เมื่อถามว่า กลุ่มวาดะห์มีแนวความคิดที่จะให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์ มาร่วมแก้ไขปัญหาภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ดี จะเป็นใครก็ดีทั้งนั้น ถ้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ก็ดีหมดอยู่แล้ว ถือเป็นคนไทยด้วยกันทั้งไทยพุทธและมุสลิม เราแบ่งแยกไม่ได้ ต้องช่วยกันทำงาน ขอให้บริสุทธิ์ในการแก้ไขปัญหา อย่าสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม วันนี้การแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องระมัดระวัง แม้แต่การพูดจาอาจเข้าทางอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าสำคัญ อย่าคิดว่าเป็นประเทศไทยแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะวันนี้โลกไร้พรมแดน หรือเราเรียกว่า ความรับผิดชอบต่อโลกและต่อสังคม ซึ่งทางสหประชาชาติ มีเรื่องนี้อยู่ หากประเทศไหนละเมิดสิทธิประชาชน ดูแลประชาชนไม่ดี หรือมีความขัดแย้งโดยใช้อาวุธแก้ปัญหา ทางยูเอ็นก็พร้อมจะเข้ามาจัดระเบียบไม่ให้รบกัน ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีปัญหาเรื่องสิทธินอกอาณาเขต ในประวัติศาสตร์มีการรบกัน เราอย่าเอาต่างประเทศเข้ามา เพราะไม่มีใครรักประเทศไทยได้เท่ากับคนไทย
“เรื่องใต้ถ้าพูดกันไปมาก ก็จะหนักไปเรื่อยๆ เพราะพวกนั้นต้องการให้พวกเราสร้างการรับรู้มากขึ้น ในต่างประเทศที่ใกล้เคียงกับเราใช้เวลาในการแก้ปัญหา 47 ปี ซึ่งลักษณะปัญหาเหมือนกับของเราคือมีการต่อต้านอำนาจรัฐ ใช้ศาสนา ประวัติศาสตร์ กองกำลังติดอาวุธ ในที่สุดก็แยกดินแดนออกไป แต่อีกประเทศหนึ่งแก้ไขได้โดยไม่ได้แยก 7 ปีเราหนักและเหนื่อยเพราะไม่อยากให้ใครตาย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเรา แต่มันมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างเขากับเรา แต่เราอย่าทำให้สิ่งที่แตกต่างเหล่านี้ไปให้เหมือนเขา ไม่เช่นนั้นจะเข้าล็อค ไม่ต้องถึง 47 ปี แค่ 10 ปีก็เสียไปแล้ว ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าใครทำให้เสียหาย” ผบ.ทบ.กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการดูแลสถานการณ์ภาคใต้หลังจากที่ผ่านช่วงถือศีลอดว่า สำหรับงานด้านการข่าวมีเป็นระบบอยู่แล้ว ทั้งในระดับพื้นที่และกองบัญชาการ โดยสายข่าวจะมีการรายงานเข้ามา โดยจะมีการพูดคุยประชาคมข่าวกรองทุกสัปดาห์อยู่แล้ว ซึ่งทุกวันมีการแจ้งเตือนอยู่แล้วว่าพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงในการก่อเหตุ โดยเฉพาะในเขตเมือง 7 เขต ที่เป็นอำเภอเมือง เพราะมีผลกระทบโดยรวม ซึ่งผู้ร้ายก็รู้ว่า 7 เขตเป็นไข่แดง เรายิ่งป้องกันเขาก็ยิ่งต้องเจาะทำลาย ก็ต้องสู้กันทางความคิดและมวลชน อีกส่วนหนึ่ง 6 อำเภอที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง ก็ต้องวิเคราะห์และไปดูเรื่องหลักการใช้กำลัง การวางเจ้าหน้าที่ข่าว แหล่งข่าว มุ่งไปสู่การพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การทำงานอย่าเอาความรู้สึกมาวิเคราะห์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะจะทำให้ทุกอย่างล้มเหลว ทหาร ตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เขาไม่กลัวอยู่แล้วและก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่เมื่อพื้นที่กว้างขวาง เจ้าหน้าที่ตำรวจขาดแคลน ซึ่งรัฐบาลก็อยากให้มีตำรวจที่มีคุณสมบัติที่จะต่อสู้กับปัญหาในลักษณะนี้มากขึ้น โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) บอกว่าจะผลิตตำรวจขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง ก็จะรับทหารที่ปลดประจำการไปแล้วไปอบรม ใช้เวลาให้สั้นแล้วเอาไปทำงานเหล่านี้ ก็จะได้ตำรวจที่มียุทธวิธีมากขึ้น และจะทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ต่อจากนี้ทุกหมู่บ้าน ถนนทุกเส้นทาง จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล