xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้องทายาทตระกูล “อินทามระ” ร้องขอใช้ชื่อถนนแทน “สุทธิสารวินิจฉัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถนนสุทธิสารวินิจฉัย (ภาพจาก Google Street View)
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องทายาทตระกูล “อินทามระ” ร้อง กทม.ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ไม่คงชื่อถนนอินทามระ ศาลชี้เป็นเพียงแค่ผู้พัฒนาที่ดินให้เป็นโครงการจัดสรรของกรมตำรวจในยุคนั้น ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเหมือนบุตรพระสุทธิสารวินิจฉัย แค่มีชื่อห้อยท้ายชื่อซอยก็เพียงพอให้ระลึกถึงคุณงามความดีแล้ว

วันนี้ (17 ส.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายกฤษฎา อินทามระ ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ว่าราชการ กทม. ปลัด กทม. ผู้อำนวยการ (ผอ.) เขตพญาไท และ ผอ.เขตดินแดงเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยนายกฤษฎาเป็นทายาทของ พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากถูก ผอ.เขตพญาไท และ ผอ.เขตดินแดง ไม่ดำเนินการติดตั้งป้ายชื่อถนนอินทามระ แต่กลับติดตั้งป้ายชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ถนนพหลโยธินทางทิศตะวันออก ไปจนถึงบริเวณที่จัดสรรกรมตำรวจ ซึ่งไม่ถูกต้องตามทะเบียนประวัติถนน ประกอบกับมติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจ ปี พ.ศ. 2503 ให้ตั้งชื่อถนนในที่ดินจัดสรรหลัง สน.บางซื่อ ที่ตอนหน้าเป็นของนายมารุต บุนนาค ให้ใช้ชื่อบิดาของนายมารุต คือพระสุทธิสารวินิจฉัย เป็นชื่อถนน ส่วนชื่อถนนข้างในให้ใช้นามสกุลของหัวหน้ากองคลัง กรมตำรวจ พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ เป็นชื่อถนน แต่ปัจจุบันกลับมีเพียงป้ายชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยตลอดถนน ไม่มีป้ายชื่อถนนอินทามระ มีเพียงชื่อซอยอินทามระ รวม 59 ซอยเท่านั้น จึงเป็นความเสียหายต่อ พล.ต.ท.โต๊ะ ที่เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาที่ดินบริเวณสุทธิสารและสะพานควายให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการตำรวจ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 15 กำหนดว่า ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการ ตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย ในเขตเทศบาลทุกแห่งให้ครบ ในกรณีที่ตรอกหรือซอยเดียวกันมีชื่อเดิมหลายชื่อ ให้เลือกชื่อที่ประชาชนนิยม ส่วนหากตรอกหรือซอยสองสายมาบรรจบกันให้ใช้ชื่อซอยที่มีระยะยาวกว่า หรือชื่อที่ประชาชนนิยมมาตั้ง จึงจะเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำให้มีชื่อถนน ตามมาตรา 89 วรรคหนึ่ง (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และการตั้งชื่อถนนตามมาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ประกอบกับข้อ 15 ของระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ที่การตั้งชื่อถนนจะต้องคำนึงถึงประวัติความเป็นมา การได้มาของที่ดินเพื่อสร้างถนน เพื่อเป็นการเชิดชูชื่อเสียง เกียรติยศ และอนุสรณ์ของความดีงามให้กับเจ้าของที่ดิน มาประกอบการพิจารณาด้วย

และเมื่อข้อเท็จจริงของคดีปรากฏว่า ที่ดินนี้เป็นของนายจิรายุวัต บุนนาค ผู้อนุบาลพระสุทธิสารวินิจฉัยได้ยกให้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระสุทธิสารวินิจฉัย ส่วนที่ข้างในเป็นของกรมตำรวจเดิมมีชื่อว่าถนนอินทามระ โดยใช้สกุลของหัวหน้ากองคลัง คือ พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ ส่งผลให้ถนนสายนี้มีชื่อเรียก 2 ชื่อ แต่หากพิจารณาจากสภาพพื้นที่ในขณะนั้นเชื่อได้ว่าถนนอินทามระ เป็นเพียงถนนที่เข้าสู่ที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจ ไม่ใช่ถนนสายหลักในปัจจุบัน ประกอบกับการตั้งชื่อถนนสากล จะตั้งชื่อซอยเป็นตัวเลขตามหลังชื่อถนน หากซอยใดมีชื่อเฉพาะก็ให้วงเล็บไว้ท้ายตัวเลข และในระบบทะเบียนของ ผอ.เขตพญาไท และ ผอ.เขตดินแดง ได้ใช้ชื่อถนนสายนี้เป็นถนนสุทธิสารวินิจฉัยมานานแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 กรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการปรับปรุงหมายเลขประจำบ้าน และทางผู้ว่าราชการ กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย ฯลฯ โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ถนนสายนี้ชื่อว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย และให้เปลี่ยนซอยอินทามระจำนวน 59 ซอย บนถนนสุทธิสารวินิจฉัย เป็นซอยสุทธิสารวินิจฉัย โดยให้วงเล็บซอยอินทามระไว้ใต้ชื่อซอยสุทธิสารวินิจฉัย หากมีการเปลี่ยนแปลงจะสร้างภาระให้กับประชาชน อีกทั้งตามประวัติก็ไม่ปรากฏว่า พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ เป็นผู้อุทิศที่ดินเช่นเดียวกับพระสุทธิสารวินิจฉัย โดยเป็นเพียงผู้พัฒนาที่ดินให้เป็นโครงการจัดสรรเท่านั้น อีกทั้ง ผอ.เขตพญาไท และ ผอ.เขตดินแดงได้คงชื่อซอยอินทามระไว้ท้ายชื่อซอยแล้ว จึงย่อมเพียงพอที่จะระลึกถึงคุณงามความดีของ พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระแล้ว จึงไม่ได้เป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น