xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ให้โอวาทว่าที่ ผกก. เน้นรักษา กม.-ชี้ประชุมสภาสำคัญ แนะใช้งบฯ ให้คุ้มค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” กล่าวกับว่าที่ ผกก. ชี้ประชุมสภาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องยอมรับประชาธิปไตยเห็นต่างได้ แต่อยู่ในระเบียบ ยกวัฒนธรรมแต่ละประเทศต่างกัน เผยงบประมาณควรใช้ให้คุ้มค่า เพราะมาจากประชาชน แนะ ตร.เป็นต้นทางนำของกระบวนการยุติธรรม ให้รักษา กม.แม้จะล้าหลังก็ต้องปรับตัว มิเช่นนั้นจะเกิดอนาธิปไตย พร้อมให้เสนอแนะนิติบัญญัติเพื่อปรับปรุงแก้ไข

วันนี้ (15 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวกับนายตำรวจที่เข้าร่วมโครงการผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ 90 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เดินทางมาดูงานที่อาคารรัฐสภา ตอนหนึ่งว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ องค์กรรัฐสภานั้น หลายฝ่ายมองว่าถือเป็นหัวใจของหลักการประชาธิปไตยในการขับเคลื่อน การเมืองการปกครอง การประชุมรัฐสภาถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และในวันนี้ก็จะเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ในวาระที่ 2 ถือเป็นการพิจารณารายมาตรา และทราบว่าในวันศุกร์ที่ 17 ส.ค.น่าจะเวลาประมาณ 02.00-03.00 น.คงจะได้ลงมติในวาระที่ 3 หลังจากนั้นจะส่งไปที่วุฒิสภา ที่จะต้องพิจารณาภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยปีนี้ก็จะทำให้งบประมาณออกมาใช้ได้ทันปีงบประมาณในเดือนตุลาคม

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในเรื่องงบประมาณนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญในระบอบประชาธิปไตย คือการจะใช้จ่ายเงิน และการจัดเก็บเงินจากประชาชนแล้วเอามาใช้จ่ายนั้นมีหลักว่าจะต้องมาขออนุญาตจากประชาชนชาวไทย ดังนั้น ในเรื่องงบประมาณจึงจำเป็นที่ต้องมีการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาฯ และสภาฯ เองก็มีหน้าที่ในการดูแลการใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บมาจากประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพโปร่งใส หวังว่าทุกท่านคงจะได้สัมผัสบรรยากาศการประชุมในห้องประชุม ซึ่งหลายครั้งคนที่ติดตามจากข่าวสารการถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์ต้องยอมรับว่าหลายครั้งมีการประชุมสภาดูไม่ค่อยเรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการประชุมสภาในหลายประเทศเวลาคนไปดูก็จะพบสภาพแบบนี้ และต้องยอมรับว่าหลักสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ เราต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง จะคาดหวังให้การประชุมราบรื่น 100% หรือเห็นด้วยทั้งหมดคงเป็นไปได้ยากในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับที่ควบคุมการประชุมอยู่ ประธานสภาฯ มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประชุม วัฒนธรรมประเพณีแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อย่างประเทศอังกฤษ เวลามีกระทู้ถามจะมีเสียงดัง เสียงเชียร์ และอาจจะมีเสียงโห่จากฝ่ายตรงข้าม แต่ทางไทยมีข้อห้ามในการแสดงออกแบบนั้น จึงไม่สามารถทำแบบนั้นได้

“บางครั้งต้องยอมรับว่าข่าวที่ออกไปจากสภาฯ มันจะเป็นข่าวในด้านลบเป็นหลัก ก็เข้าใจได้ เพราะเวลาเกิดเหตุวุ่นวายก็จะเป็นข่าว เป็นความสนใจ แต่เวลาที่สภาฯทำงานเรียบร้อยตามปกติ ก็ไม่เป็นข่าว แต่ยืนยันว่างานนิติบัญญัตินั้นมีความสำคัญ อย่างวันนี้เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณก็เป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารนั้น โดยเฉพาะผู้ที่มาวันนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ทาง ส.ส.เป็นผู้ออกกฎหมาย แต่ฝ่ายบริหารคือฝ่ายที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย รักษากฎหมาย ถ้ามีปัญหาทางกฎหมายก็จะต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็จะเกี่ยวพันไปถึงฝ่ายตุลาการท่านที่มาในวันนี้ถือเป็นต้นทางต้นน้ำ ของกระบวนการยุติธรรม ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะต้องอาศัยเรื่องของกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ของบ้านเมืองเพื่อดูแลให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและใช้ในขอบเขต การออกฎหมาย การตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เป็นหัวใจสำคัญของการรักษาระบบ ของบ้านเมือง กฎหมายเมื่อออกไปแล้วท่านเองก็จะมีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้กฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิ์ อยากให้พวกท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของท่านที่จะทำให้บ้านเมืองคงอยู่ได้ด้วย กติกาที่จะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าได้ เพราะบ้านเมืองไหนที่ไร้กฎกติกา เป็นลักษณะอนาธิปไตย การไม่มีกฎเกณฑ์ แล้วสุดท้ายนอกจากจะไม่มีความสงบ ไม่มีความเรียบร้อยมีความขัดแย้งก็จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ไม่มีนักธุรกิจเข้าไปลงทุน หรือประกอบธุรกิจแล้วถูกฉ้อโกง กลั่นแกล้ง ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายจะสำคัญมาก ทำให้การพัฒนาของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี กฎหมายเมื่อออกมาแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลกได้ จนบางครั้งกฎหมายเองก็ล้าสมัย ไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ตำรวจก็ยังต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้เป็นผล

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่ออีกว่า พวกท่านเองก็มีส่วนร่วมในการเสนอแนะในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายว่ามีปัญหา อุปสรรคอะไร ไม่ใช่กฎหมายล้าหลังแล้วไม่ใช้ แต่สามารถสะท้อนสภาพปัญหาการบังคับใช้มา ตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องสภาพความเป็นจริง



กำลังโหลดความคิดเห็น