xs
xsm
sm
md
lg

“ต่อตระกูล” ชี้มติ ครม.ให้ทำ MOU ก.ทรัพย์จีน เอี่ยวล็อกสเปกโครงการ 3.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต่อตระกูล ยมนาค (แฟ้มภาพ)
“ต่อตระกูล” ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ ชี้มติ ครม.อนุมัติ ก.เกษตรฯ ทำเอ็มโอยู ก.ทรัพยากรน้ำของจีน เพื่อสร้างเขื่อนและระบบชลประทาน อาจเอี่ยวกับโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ล็อกสเปกให้จีน โดยอ้างความร่วมมือรัฐต่อรัฐ ดักคอจีนอย่าส่งบริษัทร่วมประมูล เหตุไม่ยุติธรรมกับบริษัทอื่นเพราะรู้ข้อมูลล่วงหน้า เข้าข่ายเป็นทั้งกรรมการและผู้เล่น ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลอาจเอาข้าวขายไม่ออกไปแลก เตือนไม่รอบคอบอาจซ้ำรอยรถดับเพลิง สัญญาเป็นโมฆะ เข้าปิ้งกราวรูด เชื่อดันทุรังไปรัฐเสียหายหนัก

นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณีที่ ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทาน โดยมีการระบุถึงการบริหารจัดการและก่อสร้างเขื่อน รวมถึงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยด้วยว่า ความร่วมมือดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งตนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า โครงการป้องกันน้ำท่วมของประเทศไทยมูลค่า 3.5 แสนล้านล้านบาท มีการเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาเข้ายื่นประมูลมีการล็อกสเปกให้บริษัทของจีนได้งาน เพราะรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศได้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการในวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ วันที่ 16 เม.ย. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจขอเปลี่ยนสารรัฐในร่างบันทึกความเข้าใจที่กระทรวงการต่างประเทศลงนามไปแล้ว โดยเนื้อหามีลักษณะคล้ายคลึงกับคำประกาศเชิญชวนให้บริษัทที่สนใจมาร่วมประมูลโครงการก่อสร้างป้องกันน้ำท่วม ซึ่งจุดนี้จะทำให้บริษัทของจีนได้เปรียบ เพราะรู้ข้อมูลก่อนล่วงหน้า อีกทั้งกรอบระยะเวลา 60 วันที่ให้ยื่นแบบและเสนอราคา รวมถึงข้อกำหนดบริษัทที่จะยื่นประมูลจะต้องเคยมีผลงานมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทนั้น เชื่อว่าไม่มีบริษัทใดสามารถทำได้ทันหากไม่รู้ข้อมูลล่วงหน้า

นายต่อตระกูลกล่าวว่า เมื่อมีความร่วมมือระหว่างไทย-จีนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนและระบบชลประทานตามมติ ครม.ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จีนควรทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาร่วมกับข้าราชการไทย แต่ไม่ควรส่งบริษัทเข้ามาร่วมประมูลงาน เพราะจะกลายเป็นทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้างในขณะเดียวที่เป็นผู้รับจ้างด้วย ชาติอื่นที่มาแข่งก็จะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม

“ผมคิดว่าโครงการ 3 แสนล้าน อาจแลกกับข้าวที่ขายไม่ออก หรือแลกกับการที่นักธุรกิจจีนเข้ามาใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร ผมไม่ได้รังเกียจประเทศจีน แต่การที่จะเป็นทั้งที่ปรึกษารัฐบาล ขณะเดียวกันเป็นผู้เล่น เป็นกรรมการด้วย ถือว่าไม่เหมาะสม ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีความชัดเจนในการจัดซื้อจัดจ้างที่นายปลอดระสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ระบุว่ามีการประกาศทีโออาร์แล้ว ก็ไม่ตรงกับที่ข้าราชการพูด เพราะข้าราชการในกระทรวงวิทย์ก็บอกว่าเป็นเพียงแค่การประกาศเชิญชวน ไม่ใช่เงื่อนไขการเสนอราคา ถ้ายังดันทุรังเดินหน้าทั้งที่มีความไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจนอย่างนี้ ยังไม่ต้องคิดถึงความเสียหายของชาติก็ได้ ผมอยากให้รัฐบาลคิดถึงตัวเองก่อน ผมเชื่อว่าจะเสียหายอย่างหนักทั้งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย”

ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติเตือนด้วยว่า การทำลักษณะนี้ถือว่าสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ เพราะไม่ได้จัดการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความยุติธรรมกับผู้แข่งขัน หรือหากจะดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐก็ต้องระวังด้วย เพราะเคยมีตัวอย่างให้เห็นเรื่องการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงมูลค่า 4 พันล้านบาทมาแล้ว ซึ่งจนถึงวันนี้สัญญากลายเป็นโมฆะ ผู้เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาโดยมีการยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้ว ตนเป็นห่วงข้าราชการที่ต้องทำงานนี้กับรัฐบาล เพราะต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไปร่วมเป็นกรรมการ ในที่สุดอาจมีความผิดไปด้วยทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ

“อย่างกรณีนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย เป็นคนเซ็นสัญญาซื้อรถดับเพลิงแลกไก่ต้มสุก ทั้งที่นายโภคินเป็นนักกฎหมายชั้นหนึ่งของประเทศคนหนึ่งก็ยังพลาด จัดซื้อจัดจ้างโดยแลกเปลี่ยนสินค้ามีรายละเอียดอย่างไร คนที่จะทำเรื่องนี้ต้องรอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนอื่นติดร่างแหไปหมด ขอให้ระมัดระวัง อย่าทำโดยถือแค่ว่ามีอำนาจอยู่ในมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผมอยากให้รัฐบาลรับฟังคำท้วงติง อย่าคิดว่าเขาค้นเพราะเป็นศัตรู เนื่องจากงบประมาณที่จะใช้นั้นเป็นเงินมหาศาลและเป็นเงินของชาติ” นายต่อตระกูลกล่าว

นายต่อตระกูลแนะนำด้วยว่า รัฐบาลควรเริ่มต้นทำให้โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทมีความโปร่งใส โดยประกาศทีโออาร์ของจริงตามหลักการสากลและของประเทศไทย และเพื่อให้ทุกคนสบายใจต้องให้ฝ่ายต่างๆ ได้เห็นร่างทีโออาร์เพื่อร่วมวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยไม่ควรจะกระโดดข้ามไปจ้างผู้รับเหมาแบบสัญญาเทิร์นคีย์ และไม่ควรจ้างผู้รับเหมาทั้งหมด 3 แสนล้านบาท แต่ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษามาร่วมกันศึกษา สำรวจ ออกแบบ ให้เกิดความชัดเจนก่อน ทั้งนี้ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันกำลังจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และตนเชื่อว่าความไม่โปร่งใสของโครงการนี้จะทำให้หลายฝ่ายหันมาจับมือกันเพื่อตรวจสอบรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น