xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชน” ยุท้องถิ่นทำระบบขนส่งมวลชนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธีระชน” ยุท้องถิ่นทำระบบขนส่งมวลชนเอง นายกสมุทรปราการ เล็งทำโมโนเรล เชื่อมไลท์เรล กทม.ต่อแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนพัทยาเตรียมทำโมโนเรลแก้จราจรติดขัดในพื้นที่ พร้อมกระตุ้นรัฐบาล บี้ กระทรวงวิทย์-ทส.เร่งขุดหลอกคูคลองที่รับผิดชอบก่อนเกิดปัญหา

วันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ห้องนายกเทศมนตรี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)สมุทรปราการ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมหารือข้อราชการกับนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายกเทศมนตรีจังหวัดสมุทรปราการ ดร.วิษณุ พะลายานนท์ ประธานคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของเมืองพัทยา เกี่ยวกับความร่วมมือการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนตรวจความพร้อมของการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ปลายน้ำบริเวณแก้มลิงฝั่งตะวันออก บริเวณสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ และสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 1 และ 2

นายธีระชน เปิดเผยภายหลังการหารือ ว่า ทางนายกเทศมนตรีจังหวัดสมุทราปราการ ให้ความสนใจที่จะสร้างรถไฟฟ้าฟ้าระบบโมโนเรลต่อจากรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบ โดยจะสร้างมาตามแนวเส้นทางถนนศรีนครินทร์ เพื่อที่จะมาเชื่อมต่อกับระบบไลท์เรลของ กทม.สายบางนา-สุวรรณภูมิ แล้วไปสิ้นสุดที่แอร์พอร์ตลิงก์ไปสนามบินสุวรรณภูมิ โดย กทม.จะศึกษาร่วมกับสมุทรปราการในการเชื่อมตัวระบบรถไฟฟ้าร่วมกัน ส่วนของเมืองพัทยานั้น ให้ความสนใจที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่หนาแน่นภายในตัวเมืองเช่นกัน ทั้งนี้ ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้โดยมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายฉบับ ที่ระบุว่า ท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินการระบบสาธารณูปโภค เช่น คำวินิจฉัยที่ให้ จ.สมุทรสาคร มีอำนาจในผลิตนำประปาเองได้ หรือแม้แต่เมืองพัทยาก็ได้นำเอาน้ำเสียที่บำบัดแล้วไปแปรรูปเป็นน้ำดิบในราคาลิตรละ 50 สตางค์ให้กับการประปาส่วนภูมิภาคได้วันละ 5 หมื่นบาท หาก กทม.ดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ก็จะได้ถึงวันละ 5 แสนบาท หรือปีละ 180 ล้านบาท

นายธีระชน กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการบริหารการจัดการน้ำนั้นมั่นใจว่า ปีนี้น้ำจะไม่ท่วม กทม. เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการเป็นปลายน้ำที่สามารถช่วยระบายน้ำจากทุกจังหวัดลงสู่ทะเลได้ อีกทั้งมีความพร้อมในการรองรับปริมาณน้ำ โดยมีสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิของกรมชลประทานที่มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน 4 เครื่อง โดยมีกำลังสูบน้ำได้เครื่องละละ 100 ลบ.เมตรต่อวินาที รวม 4 เครื่อง 400 ลบ.เมตรต่อวินาที ขณะที่ทสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 1 และ 2 มีเครื่องสูบน่้ำรวม 20 เครื่อง สูบน้ำได้วันละ 120 ลบ.เมตรต่อวินาที โดยทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมือของจังหวัดสมุทรปราการและกรมชลประทานที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อชายทะเลทางด้านตะวันออกไม่มีปัญหาตนเองจะเดินทางไปตรวจสอบแก้มลิง และการระบายน้ำทางด้านตะวันตกที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งหากไม่พบปัญหาอีกก็จะไปดูพื้นที่กลางน้ำซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างจ.อยุธยา ปทุมธานี บริเวณคลองรพีพัฒน์ คลองรังสิต เนื่องจากปีที่แล้วมีการปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลมาตามแนวคลองดังกล่าว รวมถึงจะมีการไปตรวจที่คลองมหาสวัสดิ์รอยต่อ จ.นนทบุรีด้วย

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับคลองสายหลักที่ยังไม่ได้ดำเนินการขุดลอก และอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ซึ่งมีการมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ เช่น คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และบึงมักกะสัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เริ่มดำเนินการใด ดังนั้น ต้องฝากไปยังรัฐบาลให้ติดตามความคืบหน้าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น