xs
xsm
sm
md
lg

จ้องเขี่ย “มาร์ค” พ้นผู้นำ ทาบ “นายแบงก์” คุม ปชป.

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว

เปิดสภาสมัยสามัญทั่วไปมาแล้ว 10 กว่าวัน ควันไฟการเมืองยังไม่ปะทุคุโชนมากนัก การเมืองยังนิ่งๆ เงียบๆ ไม่หวือหวาเท่าไหร่
 

เรื่องเสี่ยงๆ เสียวๆ อย่างร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย พับเก็บเข้าลิ้นชัก ไม่กล้าลุยหักด้ามพร้าด้วยเข่า ลดดีกรีอุณหภูมิร้อนแรงทางการเมืองไปได้มาก ประกอบกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกเกมส์ กำลังห้ำหั่นกัน โดยมีหลายประเภทชนิดกีฬาที่มีคนไทยเข้าไปร่วมด้วย จึงทำให้คนหันความสนใจ มากกว่าเกมการเมือง

แต่ขึ้นชื่อว่าการเมืองจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สมัยประชุมสภานี้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เป็นไฮไลท์แห่งปีของฝ่ายการเมือง นอกจากนั้นยังมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ที่ตั้งแท่นจะดวลฝีปากกันในวันที่ 15-17 สิงหาคมนี้

ขณะเดียวกัน การอภิปรายผลงานรัฐบาลก็จ่อคิวเข้ามาสาดน้ำลายกันอีกรอบ เรียกว่าคอการเมืองได้ติดตามกันหูตาแฉะ 3 งานใหญ่จ่อคิวเข้าสภาติดต่อกัน
 

เหลือบไปดูความพร้อมของฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากนัก โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีลิ่วล้อบางส่วนออกมาโหมโรงตีปี๊บ จะอภิปรายกันประเด็นนั้นประเด็นนี้ ล้วนเป็นของเก่าเก็บ

จนถูกฝ่ายรัฐบาลเย้ยกลับมาสนุกปาก และก็เป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกตัวเองว่าจะยังไม่รีบร้อนยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อ้างว่ายังมีเวลาอีกหลายเดือน

ที่น่าสนใจคือ ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลยุยงให้ใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคประชาธิปัตย์ โดยยื่นแคนดิเดตนายกฯ แนบท้ายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นชื่อคนอื่น ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” และก็แน่นอนว่า สมุนมาร์ค โดยเฉพาะ “แก๊งไอติม” ที่จบจากต่างประเทศ จะออกมาร้องแรกแหกกระเชอ ว่าเป็นการก้าวล่วง ปล่อยข่าวเลอะเทอะ

แต่ทว่า มันก็มีมูลเรื่องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เช่นกัน ซึ่งเป็นข้อมูลจากคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง โดยคนกลุ่มเก่าที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่แก๊งไอติมกำลังมีบทบาทสูงภายในพรรค

หลังจากนั่งอยู่บนภูดูความเคลื่อนไหวอยู่นาน ก็พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีความก้าวหน้า ย่ำอยู่กับที่ มองไม่เห็นทางกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ หากปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป เลือกตั้งครั้งหน้าก็คงหนีไม่พ้นความพ่ายแพ้อีก

ภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้านเข้มแข็ง ประชาชนฝากผีฝากไข้ได้ เมื่อยามประเทศชาติวิกฤติ เมื่อต้องการเปลี่ยนโฉมหน้ารัฐบาล คนจะนึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ก่อนใคร แต่วันนี้ความรู้สึกนึกคิดแบบนั้น ไม่มีแล้ว

ประชาชนหลายส่วนมองพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพวกขี้แพ้ชวนตี ไม่มีความเป็นมืออาชีพหลงเหลือ จ้องจะเอาชนะ จ้องจะมาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษ ไม่ศรัทธาแนวทางประชาธิปไตย ที่มาจากระบบเลือกตั้ง

ฉะนั้นคนเก่าคนแก่ใน ปชป.จึงกำลังคิดอ่านทบทวนว่าจะกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ผิดเพี้ยนไปในสายตาประชาชนกลับคืนมาอย่างไร แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลเร็ว กระตุกความศรัทธาประชาชนกลับคืนมาเร็วที่สุด ก็คือการเปลี่ยนหัวขบวน คือ “อภิสิทธิ์”

แว่วว่าคนในสายของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” อดีตหัวหน้าพรรค ที่ซุ่มเงียบกบดานอยู่ กำลังเคลื่อนไหวแบบเงียบๆ ในเรื่องนี้
 

แต่เรื่องบางอย่างมันก็ปิดไม่มิด การปราศรัยบางเวทียังเห็นพฤติกรรมการจวกกันเอง มีสมาชิกพรรคบางคนออกโรงโจมตีเลขาธิการพรรคตัวเอง สับแหลก “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ไร้บทบาท เงียบเป็นเป่าสาก!!

ตรงนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่จะใช้โอกาสที่ประจวบเหมาะ เปลี่ยนโครงสร้างพรรค เปลี่ยนตัวทั้งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคไปในคราวเดียวกัน เพราะมองว่าให้โอกาสทำงานมานานแล้ว เป็นรัฐบาลก็แล้ว เป็นฝ่ายค้านก็แล้ว ทว่าการทำงานยังไม่มีอะไรโดดเด่น

สารพัดสารพันข้อหาที่จะนำมาเอ่ยอ้าง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค กระนั้นก็ตาม สิ่งที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนคือ ตัวบุคคล โดยเฉพาะตำแหน่งหัวหน้าพรรค ถ้าจะหันกลับไปใช้บริการของ ชวน หลีกภัย หรือ บัญญัติ บรรทัดฐาน หลายคนมองว่าไม่เหมาะสม เหมือนย้อนยุคกลับไป และอาจเกิดภาพลบ เกิดตำหนิให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นเกมชกใต้เข็มขัด กระแนะกระแหน

ฉะนั้น จึงกำลังกวาดสายหาหาตัวเลือกใหม่ๆ ที่เป็นที่ยอมรับจากคนในพรรค และประชาชน และก็มีแนวคิดที่จะทาบทามคนนอก ที่มีภาพลักษณ์ดีเข้ามาเป็นผู้นำพรรคด้วย สืบไปสืบมา รู้ว่าคนคนนั้นคือ “นายแบงก์ใหญ่” เจ้าของไอเดีย “รีเอนจีเนียริง” ยกเครื่องธนาคารของตระกูล จนฝ่ามรสุมวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้

การที่นายแบงก์คนนี้จะเข้ามาเล่นการเมืองนั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากเหมือนกัน ที่ผ่านมาดูเหมือนเจ้าตัวก็อยากเล่นการเมือง แต่ยังไม่อยากเปิดตัวเท่าไหร่นัก

สะท้อนให้เห็นว่า ภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีขั้วการเมืองไม่ต่างพรรคเพื่อไทย หากวันใดสบโอกาสก็จ้องจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ผลัดเปลี่ยนให้สายตัวเองขึ้นมาเป็นใหญ่บ้าง

สถานการณ์ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งขึ้นมา อีกฝ่ายหนึ่งก็โลว์โปรไฟล์ไปดื้อๆ ไม่หือ ไม่อือ แทนที่จะร่วมแรงร่วมใจกันช่วยพรรคในภาพรวมอย่างเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว จ้อแต่รอคอยโอกาส จังหวะที่ฝ่ายตรงข้ามเพลี่ยงพล้ำ แล้วก็เหยียบหัวปีนป่ายขึ้นไป ภาพรวมของพรรคก็เลยไม่คืบหน้า ไม่ก้าวหน้า มัวแต่ยักแย่ยักยันกันอยู่ ยุคใครก็ยุคมัน

การทำงานของฝ่ายค้านที่ดูถดถอยลงเรื่อยๆ ไม่มีมิติใหม่ ไม่มีอะไรเป็นจุดขายดึงดูด เพราะขาดการร่วมแรงร่วมใจ ผสมผสาน ระหว่างคนยุคใหม่กับยุคเก่า วันนี้คนยุคใหม่เปิดหน้าเล่นเต็มที่ อาศัยสื่อมัลติมีเดีย ชนทุกประเด็นแทบทุกเวที

สิ่งเหล่านี้คนเก่าแก่รุ่นเก๋าภายในพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะกระตุกเตือนให้ระมัดระวังกันได้ น่าจะสอนในบางเรื่องบางจังหวะ ที่ต้องวางตัวให้สมฐานะผู้ใหญ่ แต่ไม่มีภาพของการร่วมมือร่วมใจ ไม่มีการแนะนำสั่งสอนจากคนอาบน้ำร้อนมาก่อน

ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ เดินหน้า ดุ่ยๆ ไปตายเอาดาบหน้า แล้วเมื่อพบว่ากระแสนิยมตีกลับ ก็ไม่คิดจะช่วยกู้กันทันทีทันใด จะต้องให้เปลี่ยนขั้วอำนาจก่อน แล้วค่อยมาคิดคำนึงถึงภาพลักษณ์บนฐานอำนาจฝ่ายตัวเอง

การเมืองไทยเลยไม่คืบหน้าไปไหน ติดหล่มความริษยา พรรคการเมืองเดียวกันยังรวมใจไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเสนอหน้ามาอาสารับใช้ประชาชนเลย...
กำลังโหลดความคิดเห็น