ผู้นำฝ่ายค้านฯ ลงพื้นที่ปัตตานี เผยเหตุรุนแรงกระทบจิตใจ จนท.-ชาวบ้าน แต่ยังใช้ชีวิต-ทำหน้าที่เข้มแข็ง พบปัญหาทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติ แนะนายกฯ ทำหน้าที่ตัวเอง หรือมอบหมายรองนายกฯ รับผิดชอบชัดเจน ขวาง “อดุลย์” ว่าที่ ผบ.ตร.เสนอให้ ศอ.บต.กลับไปอยู่ใต้ร่มเงา กอ.รมน.ชี้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ส่งสัญญาณการทหารนำการเมือง
วันนี้ (6 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยังจังหวัดปัตตานี โดยเริ่มลงพื้นที่จุดเกิดเหตุที่แรก คือ โรงเรียนบ้านกูวิง ต.สาคอบน อ.มายอ เพื่อตรวจสภาพความเสียหายและเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นเดินทางไปยังจุดที่ทหาร 4 นายถูกยิงเสียชีวิตอย่างอุกอาจ บริเวณบ้านปาลัส ต.น้ำใส อ.มายอ โดยพูดคุยกับทหารที่รักษาการณ์ในพื้นที่ ก่อนจะเดินทางไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับหลายฝ่ายที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ต.รูสะมิแล อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี โดยมีตัวแทนจากตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ศูนย์ข่าวอิศรา นักศึกษา และฝ่ายปกครอง ร่วมหารือด้วย จากนั้นเดินทางไปยังโรงแรมซีเอสปัตตานี ต.รูสะมิแล อ.เมืองฯ ที่เกิดเหตุระเบิดจนไฟดับทั้งเมืองเมื่อวันที่ 31 ก.ค.55 ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า ได้ไปดูที่เกิดเหตุสามแห่ง คือโรงเรียบ้านกูวิง จุดที่ทหารถูกยิงเสียชีวิต โรงแรมซีเอสปัตตานีที่ถูกระเบิดและที่ มอ.ปัตตานี เพื่อพูดคุยกับตำรวจ ศูนย์ข่าวอิศรา นักศึกษา ตัวแทนจาก ศอ.บต. และฝ่ายปกครอง จากการแลกเปลี่ยนความเห็นพบว่ามีปัญหาในสองระดับ ทั้งในเชิงบริหารจัดการในพื้นที่ โดยตำรวจแจ้งว่าขาดกำลังพล อุปกรณ์ มีปัญหาการดำเนินคดี เนื่องจากชาวบ้านไม่กล้าเป็นพยาน ส่วนชุมชนจะบ่นเรื่องยาเสพติด
สำหรับระดับนโยบาย พบว่า ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลว่าจะผลักดันทิศทางไหน ทำให้เกิดความสับสนในระดับปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างการทำงาน เนื่องจากล่าสุด พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีการเสนอความคิดที่จะย่อส่วน ศอ.บต.กลับไปอยู่ภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งในพื้นที่ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นการเสนอโครงสร้างใหม่ แต่เป็นการถอยหลังกลับไป 4 ปี คือกลับสู่สถานการณ์ปี 2550-2551
“ผมอยากให้คิดดูให้รอบคอบเพราะถ้าปัญหาคือไม่มีซีอีโอดูแลอย่างที่ พล.ต.อ.อดุลย์กังวล ก็ควรเสนอให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ของตัวเองตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นทั้ง ผอ.ศอ.บต. และประธาน กอ.รมน. ถือว่าเป็นซีอีโอที่คุมงานด้านความมั่นคงอยู่แล้ว และที่กฎหมายออกแบบมาเช่นนี้ก็เพื่อให้นายกซึ่งคุมนโยบายสูงสุดเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากงานด้านความมั่นคงต้องประสานหลายหน่วยงาน แต่ถ้านายกฯ ไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบเอง ก็ควรมอบหมายให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งรับผิดชอบให้ชัดเจน ไม่ใช่มีรองนายกฯ ถึงสามคนดูแลเรื่องนี้ เพราะจะทำให้เกิดความสับสนได้ ดังนั้นนายกคือคนที่ต้องรักษาสมดุลในส่วนการบัญชาการตรงนี้ แต่ถ้าไปแก้ปัญหาโดยให้ ศอ.บต.กลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของ กอ.รมน.นั้น ในพื้นที่เองก็มีความกังวล เพราะมองว่าจะกลายเป็นการส่งสัญญาณกลับไปใช้นโยบายการทหารนำการเมืองมาแก้ปัญหา แทนที่จะเป็นการเมืองนำการทหาร เหมือนในรัฐบาลที่แล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ถี่มากขึ้นก็มีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของทั้งประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ แต่เท่าที่ได้พูดคุยก็ยังมีจิตใจเข้มแข็งในการใช้ชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ ตนอยากให้รัฐบาลเอาใจใส่กับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยไม่ควรกำหนดนโยบายในลักษณะทดลองที่จะทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ซ้ำเติมสถานการณ์ เพราะการแก้ปัญหาภาคใต้ทำมาอย่างต่อเนื่องจนตกผลึกว่าควรใช้กฎหมาย ศอ.บต.มาเป็นตัวกำกับ ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้ฝ่ายปกครองเข้ามาถ่วงดุลในเชิงบริหารจากฝ่ายอื่นๆ และส่งสัญญาณให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาพื้นที่และมวลชนควบคู่กับงานด้านความมั่นคง การที่จะกลับไปให้ กอ.รมน.มีบทบาทนำในการแก้ปัญหาภาคใต้ จะทำให้ถูกมองว่ารัฐบาลกำลังจะลดความสำคัญด้านการพัฒนาที่ทำโดยฝ่ายปกครอง ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลที่แล้วพยายามมาโดยตลอด และจะกระทบต่อการดึงมวลชนให้เกิดความมั่นใจต่อภาครัฐด้วย