เลขาฯ วุฒิสภา ยันรักษาการประธานวุฒิสภา มีอำนาจเปิดประชุมถอด “สุเทพ” ด้าน “สดศรี” เผย คดีอดีตรองนายกฯ เคยยกคำร้อง เหตุเจ้าตัวถอนเรื่องไปก่อนแล้ว เท่ากับความผิดไม่สำเร็จ เชื่อ ป.ป.ช.มองกฎหมายคนละฉบับ ชี้ ต้องดูวุฒิฯถอดได้เลย หรือต้องชงศาลรัฐธรรมนูญอีก อ้างฟันแบบนี้อาจเป็นเหตุให้ยุบองค์กรอิสระเร็วขึ้น ลั่นค้านนักการเมืองนั่งแทน
วันนี้ (27 ก.ค.) ที่รัฐสภา นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า วุฒิสภาสามารถพิจารณาคำร้องขอถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในข้อหาแทรกแซงราชการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 และ 268 แม้ว่า พล.อ.ธีรเดช มีเพียร จะพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ทำให้วุฒิสภาไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เพื่อรับคำร้องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 272
“ถึงในรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่ประธานวุฒิสภา เป็นผู้รับคำร้อง และจัดให้มีการประชุมวุฒิสภา แต่เมื่อไม่มีประธานวุฒิสภาในขณะนี้โดยมีเพียงแค่รักษาการประธานวุฒิสภาก็สามารถที่จะเดินหน้าพิจารณา เพราะอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองเป็นอำนาจโดยตรงของวุฒิสภา” นางนรรัตน์ กล่าว
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กรณีการส่งคนไปช่วยงานที่กระทรวงวัฒนธรรม สมัยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องดังกล่าวเคยมีผู้ร้องมาที่ กกต.และ กกต.เสียงข้างมากเห็นควรยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า นายสุเทพ ได้มีการถอนเรื่องที่ส่งคนไปกระทรวงวัฒนธรรม ออกไปก่อนแล้ว จึงถือว่าความผิดยังไม่สำเร็จ ซึ่งการที่ ป.ป.ช.ชี้มูลในคดีนี้ส่วนตัวมองว่าอยู่บนพื้นฐานกฎหมายคนละฉบับ โดย ป.ป.ช.มองในเรื่องของจริยธรรมของผู้ที่เป็นนักการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ กกต.พิจารณาว่าเหมาะสมที่จะเป็น ส.ส.ต่อไปหรือไม่
นางสดศรี กล่าวอีกว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.ส่งให้ประธานวุฒิสภา พิจารณาเรื่องการถอดถอนแล้ว ก็อาจจะมีประเด็นข้อกฎหมายให้พิจารณา ว่า หากที่ประชุมมีมติถอดถอนนายสุเทพ แล้ว ทางวุฒิสภาจะมีอำนาจในการถอนถอนตาม มติได้เลยหรือไม่ หรือจะต้องส่งเรื่องกลับมาให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้สั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ด้วยว่า การร้องเรียนดังกล่าวเป็นการร้องตั้งแต่นายสุเทพ เป็น ส.ส.เขตในการเลือกตั้งใหญ่ทั้งประเทศ ที่ได้ลาออกไปแล้ว จะถือได้ว่า นายสุเทพ ได้สิ้นสภาพไปก่อนแล้วหรือไม่ และจะส่งผลถึงสถานะปัจจุบันที่ นายสุเทพ ที่รับการเลือกตั้งจากการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่
เมื่อถามว่า การออกมาของ ป.ป.ช.ตอนนี้ยิ่งทำให้พรรคการเมืองมีความพยายามที่จะลดอำนาจองค์กรอิสระลงหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า การดำเนินการของ ป.ป.ช.เป็นการทำให้เห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ได้เข้าข้างใคร และประจวบเหมาะพอดี และอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขาจะยุบองค์กรอิสระลงเร็วขึ้นก็ได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะการกระทำของนักการเมืองจะเข้าไปก้าวก่ายงานประจำไม่ได้ เมื่อตรวจสอบแล้วว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวก็ต้องดำเนินการไป ถ้าจะทำให้นักการเมืองไม่พอใจก็เป็นเรื่องของเขา แต่ก็อาจะเป็นเหตุให้มาลดอำนาจองค์กรอิสระได้
“องค์กรอิสระจะอยู่หรือไม่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง แต่การทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระต้องทำอย่างตรงไป ตรงมา และทำหน้าที่ให้เห็นว่าเป็นกลางจริง เมื่อมานั่งตรงนี้จะต้องปิดตาแล้วพิจารณาโดยไม่สนว่าคุณเป็นใคร และคนที่เป็นองค์กรอิสระจะต้องไม่มีอคติในใจ ว่าพรรคนั้น พรรคนื้ หรือคนนั้น คนนี้ ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่เห็นด้วยว่าจะให้องค์กรอิสระมาจากการเลือกตั้งเพราะจะมีการล็อบบี้กันมาได้ง่าย” นางสดศรี กล่าว