โฆษกผู้ตรวจฯ ชี้ยังไม่มีคำร้องตรวจสอบ ผบ.ตร.บินพบนักโทษ “แม้ว” ผิดจริยธรรม ระบุหากใครสงสัยต้องยื่นให้สอบ เหตุ กม.ไม่เปิดให้หยิบพิจารณาเอง ถาม “เหลิม ดาวเทียม” เสนอยุบองค์กรเข้าใจปรัชญาการก่อตั้งหรือไม่ ยันทำงานเป็นกลางไม่เล่นพรรคเล่นพวก เชื่อผู้ตรวจเป็นประโยชน์ต่อ ปชช.
วานนี้ (25 ก.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการในฐานะโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ลาราชการเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นนักโทษหลบหนีคดีว่า ถ้าเป็นกรณีที่มีผู้สงสัยว่าจะเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมก็ต้องมีการร้องเรียนเข้ามา ผู้ตรวจการแผ่นดินถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้รายละเอียดข้อเท็จจริงได้ว่าการกระทำที่มีการกล่าวหานั้นเข้าข่ายขัดต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามา
เมื่อถามว่า การที่ ผบ.ตร.เดินทางไปพบนักโทษถูกมองว่าไม่เหมาะสม นายรักษเกชากล่าวว่า ในส่วนของผู้ตรวจการคงพูดว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมไปก่อนไม่ได้ ต้องดูว่าถ้ามีผู้ร้องจะร้องมาว่าอย่างไร อีกทั้งตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ตรวจเข้าไปตรวจสอบได้หากไม่มีผู้ร้องมา
โฆษกสำนักงานผู้ตรวจฯ ยังกล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีการยุบองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ต้องถามคนที่พูดว่าจะยุบว่ามีเหตุผลอะไร เข้าใจปรัชญาของการก่อตั้งองค์กรหรือไม่ โดยหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัตินั้นให้ผู้ตรวจฯ เข้าไปตรวจสอบกรณีข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งยืนยันว่าการพิจารณาตรวจสอบของผู้ตรวจฯ ในเรื่องต่างๆ นั้น เราไม่ได้ดูว่าผู้ร้อง หรือผู้ถูกร้องเป็นใคร เป็นฝ่ายไหน และจากการทำงานที่ผ่านมาก็คิดว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติ ข้อมูลสถิติก็ชัดเจนว่าจำนวนมากที่ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาจากการมาขอให้ผู้ตรวจฯช่วยดำเนินการ
เมื่อถามว่า อาจเป็นเพราะการวินิจฉัยของผู้ตรวจที่ผ่านมาเป็นโทษกับรัฐบาล นายรักษเกชากล่าวว่า ผู้ตรวจฯวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ซึ่งหากผู้ถูกร้องไม่เห็นด้วยตามกระบวนการก็เปิดโอกาสให้โต้แย้งได้อยู่แล้ว และหลายครั้งที่ผู้ตรวจฯมีคำวินิจฉัยออกไปผู้ถูกร้องก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้อะไร
เมื่อถามต่อว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษอดีตผู้ตรวจฯจากการขึ้นเงินเดือนตัวเอง จะทำให้ข้อเสนอยุบองค์กรมีน้ำหนักมากขึ้นหรือไม่ โฆษกผู้ตรวจฯ กล่าวว่า การดำเนินการของอดีตผู้ตรวจการในขณะที่เป็นผู้ตรวจนั้น ท่านก็คิดว่าสามารถทำอย่างนั้นได้ โดยเป็นการคิดบนพื้นฐานข้อมูลในขณะนั้น แต่เมื่อศาลฯบอกว่าทำไม่ได้ อดีตผู้ตรวจการทั้งหมดก็เคารพ
“การที่จะเอาเหตุการณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นในองค์กรมาเป็นเหตุบอกว่าฉะนั้นองค์กรนี้ไม่ควรจะอยู่ต่อไป ควรยุบทิ้ง ถามว่าถ้าอย่างนั้นไม่ต้องยุบองค์กรอื่นที่มีอยู่ทั้งประเทศหรือ เพราะในทุกองค์กรก็ล้วนแต่มีปัญหามากน้อยต่างกันทั้งนั้น จึงอยากให้ทุกคนใช้สติปัญญา ใช้หลักกาลามาสูตรของพระพุทธเจ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าตรงไหนที่เป็นปัญหากันแน่ โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้ามองว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีองค์กรผู้ตรวจฯ เลย จะยุบก็ไม่ว่าอะไร”