การเดินขึ้นศาลอาญา รัชดาฯ ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคมนี้เพื่อไปแสดงตัวไต่สวนต่อศาล นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแดงถ่อยตัวพ่อ ต้องต้องลุ้นหนักแสดงอาการปากกล้าแต่ขาสั่นเป็นแน่
หลังจากที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเมื่อ 21 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัวจตุพร ที่เป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายและฝ่าฝืน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน
ด้วยเหตุที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า จตุพร ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายและกระทบต่อความสงบเรียบร้อย แต่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ที่ผ่านมาจตุพรให้สัมภาษณ์-แถลงข่าว และการปราศรัยบนเวทีหลายต่อหลายครั้งไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว
เพราะมีการพูดจาพาดพิงศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง อันแสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพยำเกรงต่อสถาบันศาล ซึ่งศาลอาญาได้นัดจตุพรมาไต่สวนในวันที่ 23 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร จะมีคำสั่งในวันเดียวกันนี้เลยหรือไม่ หรือจะต้องเรียกสอบพยานเพิ่มเติม
หลังล่าสุดสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งต่อศาลอาญาไปแล้วว่าจะไม่ส่งคนไปร่วมเบิกความไต่สวน แต่จะใช้วิธีส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เห็นว่าเหตุใดจึงควรถอนประกันจตุพรไปให้ศาลอาญาพิจารณาแทน จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า หลังมีการไต่สวนจตุพรและพิจารณาหลักฐานอื่นประกอบแล้ว ศาลอาญาจะว่าอย่างไร
ทั้งหมดก็อยู่ที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่ไต่สวนแล้วได้ความว่าอย่างไร ต้องเรียกหลักฐานอะไรเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ โดยเมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนแล้ว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนก็จะต้องไปปรึกษาหารือกับทางคณะผู้บริหารศาลอีกครั้ง ก่อนที่จะมีคำสั่งใดๆ ออกมา
ดังนั้นทำให้ทั้งหมดยังคาดการณ์อะไรมากไม่ได้กับชะตากรรมของจตุพร เพราะไม่มีใครรู้ว่าศาลจะว่าอย่างไร
อย่างไรก็ตาม อธิบดีศาลอาญาบอกในข้อกฎหมายไว้แล้วว่า หากศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว ตัวจำเลยคือจตุพร ก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาได้
ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป และด้วยความที่เป็นศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่สามารถจะไปก้าวล่วงแสดงความคิดเห็นอะไรล่วงหน้าได้เหมือนเช่นอย่างการตัดสินคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญที่ยังพอวิเคราะห์ทิศทางได้ ทั้งหมดคงต้องแล้วแต่ศาลจะเป็นผู้พิจารณา
แต่จากการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ของบางฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่น นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีศาลอาญา ก็เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ที่ศาลเรียกจตุพรมาไต่สวนหลังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ยื่นคำร้องดังกล่าว แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่คู่กรณีกับจตุพร คือไม่ใช่อัยการ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นต้นเรื่องทำคดีก่อการร้าย แต่สำนักงานศาลรธน.ก็สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้
และถึงแม้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ยื่นมา ศาลอาญาก็สามารถจะพิจารณาได้เองหากศาลเห็นว่าจำเลยคนไหนมีพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนต่อข้อห้ามหรือข้อตกลงของศาลที่ให้ไว้กับจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลก็สามารถเรียกบุคคลผู้นั้นมาไต่สวนได้ทุกคดี ไม่ใช่แค่แต่กรณีคดีก่อการร้ายที่มีการฟ้องเอาผิดพวกแกนนำนปช.
เช่นนี้แล้ว หากจตุพรและทีมทนายความจะอ้างข้อต่อสู้ว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่คู่กรณีกับจตุพร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะมาใช้สิทธิยื่นต่อศาลอาญาเพื่อให้ถอนประกันไม่ได้ ข้อต่อสู้นี้ถึงเตรียมมาก็คงสู้ไม่ขึ้น
จึงคาดว่าจตุพรและทีมทนายคงเน้นการต่อสู้ในข้อเท็จจริงเป็นหลักว่าสิ่งที่เคยพูดหรือปราศรัยไว้แล้วสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนำมาส่งมอบต่อศาลอาญาเป็นหลักฐานเช่น ข่าวของสื่อมวลชนที่จตุพรพูดพาดพิงศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดเป็นไปในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอันเป็นสิทธิที่น่าจะกระทำได้ ไม่ได้มีพฤติการณ์ข่มขู่ใดๆ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่ว่าผลของกรณีจตุพรจะออกมาแบบไหน แต่เชื่อว่า หลังจากนี้ตัวจตุพรและพวกแกนนำ นปช.ทั้งหลายโดยเฉพาะพวกที่ตกเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายแต่ไม่ได้เป็น ส.ส. จึงไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง คงจะระมัดระวังปากมากขึ้น ในการพูดจาปราศรัยอะไรที่จะทำให้สุ่มเสี่ยงจะโดนถอนประกันได้
เพราะหมดจากคิวของจตุพรก็ถึงคิวของแกนนำนปช.อีก 20 คนซึ่งศาลอาญาได้นัดหมายให้มาไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. หลังจาก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปไตย ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาทบทวนคำสั่ง การให้ประกันตัว ก่อแก้ว พิกุลกอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อีกหนึ่งจำเลยคดีก่อการร้าย ที่มีการแถลงข่าวกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการตัดสินคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา
ปรากฏว่าศาลอาญาได้มีการพิจารณาหลักฐาน ต่างๆ เช่น วิซีดี เอกสารการถอดข้อความ ภาพจากทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ แล้วเห็นว่า ไม่ใช่แค่ก่อแก้ว ที่ต้องเรียกมาไต่สวน แต่แกนนำ นปช. และพวก ส.ส.เสื้อแดงเพื่อไทยอีก 20 คนก็ต้องถูกเรียกมาไต่สวนด้วย
ในส่วนของก่อแก้วและพวกที่โดนเรียกมา 20 คน หากคนไหนเป็น ส.ส.ก็ยังไม่ต้องลุ้นอะไรมาก เพราะยังมีเอกสิทธิ์คุ้มครองเนื่องจากสภาฯเปิด 1 สิงหาคมแต่ศาลเรียก 9 สิงหาคม 2555 ดังนั้นจะขอไม่ไปในวันที่ 9 สิงหาคมก็ได้ แต่ศาลอาญาจะพิจารณาในส่วนของแกนนำนปช.ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกันในคดีก่อการร้ายที่ไม่เป็นส.ส.ไปก่อน
ส่วนคนที่เป็น ส.ส.จะถูกพักการพิจารณาไว้จนกว่าจะปิดสมัยประชุม เมื่อปิดสมัยประชุมสภาฯแล้ว พวกนี้ก็ต้องไปรายงานตัวต่อศาลต่อไปจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่เช่นนั้นศาลจะถือว่าเข้าลักษณะผิดสัญญาประกัน ออกหมายจับได้ทันที ไม่ต้องเปิดศาลไต่สวน
รอบแรกพวกกลุ่ม 20 แกนนำนปช.ที่ต้องลุ้นแบบเดียวกับจตุพรก็มีเช่น วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก พวกนี้ปฏิเสธหมายศาลไม่ได้ ต้องไปไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม คาดว่าที่บริเวณหน้าตึกศาลอาญา รัชดาฯ คงมีพวกเสื้อแดงแห่ไปให้กำลังใจจตุพรกันพอสมควร หลังมีการนัดหมายกันเอาไว้มานานหลายสัปดาห์แล้วและมีการนัดรวมพลอย่างเป็นทางการในการแถลงข่าวของแกนนำนปช.เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา
แต่บรรดาแกนนำบอกไว้แล้วว่าจะไปให้กำลังใจจตุพรเท่านั้น ไม่มีอะไรมากเป็นพิเศษ และต้องมาหารือกันอีกครั้งหลังการพิจารณาของศาล
แม้จะเห็นพวกแดงทำเก่ง ทำซ่าไปทั่ว แต่กับศาลยุติธรรมที่ไม่เหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ผลออกอย่างไร แดงทั้งหลาย ก็ห้าวไม่ออก จนกว่าจะเดินออกมานอกรั้วศาล