นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางถึงฝรั่งเศส พบทีมประเทศไทย และคณะนักธุรกิจ เตรียมเข้าพบ “ฟรองซัวส์ ออลองด์” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ “ฌอง-มาร์ค เอโรต์” นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส และภาคเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.เวลา 20.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ประกอบไปด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์, ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานออร์ลี กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยฝ่ายฝรั่งเศสให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี และคณะ อย่างเป็นทางการ ณ เรือนรับรองเกียรติยศ (Pavillon d’Honneur)
จากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปยังโรงแรม Le Westin Paris Vendöme ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักสาธารณรัฐฝรั่งเศส นับเป็นหนึ่งใน 5 ของประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและการทหารของโลก และเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ ทั้งในด้านวิทยาการ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และการศึกษา และเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางและนโยบายของสหภาพยุโรปควบคู่กับเยอรมนี ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ฝรั่งเศส ดำเนินมาอย่างราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับและทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยมีแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 1 (ค.ศ.2004-2008) เป็นพื้นฐานในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน และแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 (ค.ศ. 2010-2014) เป็นกลไกต่อยอด โดยมุ่งสาขาความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การประสานงานกันในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นที่สำคัญ อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน พลังงาน การพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ การส่งเสริมการค้า การลงทุน และการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างกัน การกระตุ้นความร่วมมือไตรภาคี เป็นต้น
ด้าน การค้า การลงทุน ฝรั่งเศสนับเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในสหภาพยุโรป มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน รวม 4,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เลนส์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้ามูลค่าสูงจากฝรั่งเศส ได้แก่ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง
ระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการสำคัญที่จะหารือข้อราชการ กับ นายฟรองซัวส์ ออลองด์ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส และ นายฌอง-มาร์ค เอโรต์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส รวมถึงศึกษาดูงานเรื่องการบริหารจัดการเมือง และการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของชีวิตคนเมืองในกรุงปารีส ทั้งนี้ มีคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทย ร่วมเดินทางไปกับนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ธุรกิจกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เสื้อผ้าและสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน การบริการด้านการแพทย์ และพลังงาน รวมทั้งผู้แทนอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย โดยคณะนักธุรกิจไทย จะร่วมสัมมนาทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักธุรกิจฝรั่งเศส เพื่อขยายลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน
กระทั่งวันที่ 20 ก.ค.เวลา 07.45 น.ตามเวลาท้องถิ่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมหารือระหว่างรับประทานอาหารเช้า กับทีมประเทศไทยในฝรั่งเศส ซึ่งประกอบไปด้วย เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐฝรั่งเศส ข้าราชการประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย สำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร สำนักงานพาณิชย์ สำนักงาน BOI สำนักงาน ก.พ.ผู้แทนไทยประจำ UNESCO ผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจากบริษัท การบินไทย ที่ประจำการ ณ กรุงปารีส โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชนและนักธุรกิจไทยที่ร่วมเดินทางเข้ารับฟังในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงผลของการเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีผลการเจรจาที่สำคัญ ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ความร่วมมือด้านการศึกษา การค้าสินค้าเกษตร และพลังงาน ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ รัฐบาลจะได้ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเจรจาและผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประเด็นที่จะมีการหารือกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจะได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการค้าเช่นกัน และจะสร้างความมั่นใจกับผู้นำฝรั่งเศสเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังสรุปการดำเนินงานในภาพรวมของหน่วยงานต่างๆ ของไทยในฝรั่งเศส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงปัญหาในการดำเนินงานต่างๆ ของทีมประเทศไทยในฝรั่งเศส เพื่อระบุแนวทางการแก้ไขปัญหา และมอบนโยบายในการทำงานต่อไป พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงความต้องการของภาคเอกชนที่ร่วมเดินทางไปด้วย ในเรื่องโอกาสการขยายตลาด และช่องทางการทำธุรกิจของภาคเอกชนไทยในฝรั่งเศส เพื่อผลักดันให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการลงทุนของไทย ตลอดจนความสนใจของนักลงทุนฝรั่งเศสในการเข้ามาร่วมทุนกับภาคเอกชนไทยและการเข้ามาประกอบธุรกิจหรือขยายการลงทุนในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและภาคเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายต่อไป
จากนั้นเวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หารือกับนักธุรกิจฝรั่งเศสจาก MEDEF International และภาคเอกชนไทย ณ โรงแรมที่พัก ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงความยินดีต่อการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสและเห็นว่ามีความสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจากการหารือกับผู้บริหารระดับสูงจาก MEDEF International และผู้แทนจากภาครัฐ มั่นใจว่าจะทั้งสองประเทศจะสามารถต่อยอดทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงโอกาสทางธุรกิจทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ความสัมพันธ์ ไทย – ฝรั่งเศสได้ยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็น “ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” อย่างครอบคลุมในทุกมิติ ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย – ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 (2553 - 2557) ที่จะเป็นกลไกสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในฐานะที่ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆของไทยในสหภาพยุโรป จากจำนวนบริษัทฝรั่งเศสที่เข้ามาลงทุนในไทยถึง 350 บริษัท ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลฝรั่งเศส และมาตรการส่งเสริมธรรมาภิบาลทางการเงินของสหภาพยุโรป จะสามารถนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และไทยจะมีส่วนสนับสนุนด้วยการอาศัยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และช่องทางการลงทุนที่มีศักยภาพจากการขยายตัวของตลาดเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558และการเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาร์ที่จะเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นประตูสู่ภูมิภาคแก่นักลงทุนฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้นโยบายของไทยจะส่งเสริมและสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพในภูมิภาค และมีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระยะเวลา 7 ปี ในวงเงินมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านยูโร ( 2 ล้านล้านบาท) เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ที่ครอบคลุมโครงการด้านคมนาคม ระบบการสื่อสาร และด่านศุลกากรสำหรับการค้าชายแดน ซึ่งจะเป็นโอกาสและช่องทางในการขยายการลงทุนของนักลงทุนฝรั่งเศสและจากสหภาพยุโรป และ รัฐบาลไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับแรงงานคุณภาพสูง และอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยเห็นว่า ฝรั่งเศสสามารถเข้ามาลงทุนเพิ่มได้ในหลายสาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน หรือ อุตสาหกรรมอากาศยาน ที่ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญ โดยรัฐบาลไทยมีโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคด้วย
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยและฝรั่งเศสมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาคอาเซียน-สหภาพยุโรป และย้ำว่าประเทศไทยเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนและการทำธุรกิจของฝรั่งเศส พร้อมกับให้ความมั่นใจภาครัฐส่งเสริมและให้การสนับสนุนจากอย่างจริงจัง หลังจากนั้นเป็นช่วงของการถามตอบ จากภาคเอกชนฝรั่งเศสที่มาร่วมงาน โดยมีคำถามในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายและแผนของรัฐบาลในการขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โทรคมนาคม พลังงานหมุนเวียน การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และการท่องเที่ยว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจต่อนักลงทุนฝรั่งเศสว่าเหล่านี้อยู่ในแผนการดำเนินการของรัฐบาล และไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนฝรั่งเศสในการเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการเหล่านี้