xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกชี้ “อาเซียน” จะเป็น “สมรภูมิเดือด” ชิงผลประโยชน์สหรัฐฯ-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สื่อต่างประเทศรายงาน เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นแรงขับดันสำคัญที่ก่อให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างชาติมหาอำนาจ ที่ต่างต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับผลประโยชน์มหาศาลในภูมิภาคแห่งนี้ เห็นได้จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ถึงขั้นต้องยอมประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ด้วยการหันมา “เกี่ยวพัน” กับดินแดนในแถบนี้ที่เป็นบ้านของประชากรราว 600 ล้านคนให้มากขึ้น หวังสกัดกั้นมิให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากภูมิภาคนี้ไปเพียงลำพัง ทั้งที่สหรัฐฯ เองได้ตัดสินใจหันหลังให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปนานหลายสิบปีแล้ว

รายงานข่าวระบุว่า นางฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เตรียมรุกหนักด้วยการประกาศเยือนเวียดนาม ลาว ภายในสัปดาห์นี้ ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปยังกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับผู้แทนจาก 25 ชาติเอเชียแปซิฟิก และสหภาพยุโรปในเวทีประชุมด้านความมั่นคงประจำปี

ขณะที่เคิร์ท แคมพ์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่า การเยือนเวียดนาม ลาว และกัมพูชาของนางคลินตันจะมาพร้อมกับการประกาศมอบ “ความช่วยเหลืออย่างมากมายล้นเหลือ” แก่ 3 ประเทศแถบลุ่มน้ำโขงดังกล่าวที่ก่อนหน้านี้ดูจะมีความใกล้ชิดกับจีนมากกว่า

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็กำลัง “ยืมมือ” ของชาติมหาพันธมิตรในเอเชียอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ช่วยทำหน้าที่เป็น “สะพานเชื่อม” ให้สหรัฐฯ สามารถก้าวเข้ามากระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสกัดอิทธิพลของจีนได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ตระหนักดีว่าคงไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีนักหากคิดจะกระโดดกลับเข้ามาในภูมิภาคนี้เพียงลำพัง ในยามที่บทบาทและอิทธิพลของจีนได้เพิ่มสูงขึ้นจนน่าหวาดหวั่น ทั้งด้านการเมือง การทหาร และด้านเศรษฐกิจ

เอียน สโทรีย์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่สิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มตระหนักถึง “ความเข้มข้น” ของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในภูมิภาคแห่งนี้ และดูเหมือนหลายประเทศกำลังเตรียมสวมบทบาทแบบ “ตีสองหน้า” เพื่อให้ประเทศของตนได้รับผลประโยชน์สูงสุดทั้งจากสหรัฐฯ และจีน แทนการดำเนินนโยบายแบบเลือกข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากการ “เลือกข้าง” อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย อีกทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่รออยู่เบื้องหน้าก็มีค่าเกินกว่าจะนำมาเสี่ยง

นอกจากนั้น การคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมายังระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คือ อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามในปีหน้า อาจมีการเติบโตรวมกันสูงถึงร้อยละ 6.2 ยิ่งกลายเป็นแรงดึงดูดสำคัญให้สหรัฐฯ ต้องการหวนคืนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในปี ค.ศ.2013 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้เต็มที่ไม่เกินร้อยละ 2.4 เท่านั้น ขณะที่มิตรหน้าเดิมๆ อย่างชาติในยุโรป และญี่ปุ่นก็ดูจะมีการเติบโตได้ไม่เกินร้อยละ 0.9 และ 1.7 ตามลำดับ ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอเมริกันเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ ต้องกลับเข้ามาฟาดฟันกับจีนเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในภูมิภาคแห่งนี้ เพราะมีแนวโน้มสูงว่าสหรัฐฯ จะสูญเสียผลประโยชน์ทั้งทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจสูงมากจนมิอาจประเมินได้ หากปล่อยให้ประเทศในแถบนี้หันไปจับมือกับจีน หรือแม้แต่อินเดียแทน

ขณะที่นายเดวิด อเดลแมน เอกอัครราชทูตของสหรัฐฯ ประจำสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนด้านการค้าการลงทุนของสหรัฐฯ ในการเดินทางเยือนเมียนมาร์หรือพม่าในเดือนหน้า ก็ได้ออกมายอมรับโดยไม่อายผ่านทางอีเมลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานี้ไม่ต่างอะไรกับการเป็น “ศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก” ที่มีโอกาสแห่งการเติบโตอย่างมหึมารออยู่ และสหรัฐฯ จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าความพยายามของสหรัฐฯ อาจล้าหลังจีนอยู่หลายก้าว เนื่องจากในเวลานี้จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ ในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกลุ่มอาเซียนไปแล้ว โดยสัดส่วนการค้าขายกับจีนคิดเป็นเกือบร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการค้ารวมของอาเซียน ขณะที่สัดส่วนของสหรัฐฯ ยังคงอยู่แค่ราวร้อยละ 9 เท่านั้น
ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
เดวิด อเดลแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสิงคโปร์
กำลังโหลดความคิดเห็น