นายกรัฐมนตรี หารือ รมว.ต่างประเทศเยอรมนี ต่อยอดเอฟทีเอไทย-อียู พร้อมขอความร่วมมือการศึกษา-สินค้าเกษตร เผย ความสัมพันธ์ไทย-พม่า และ ไทย-กัมพูชา ก้าวหน้า ด้านอีกฝ่ายเผยเตรียมเยือนไทย กันยายนนี้ จากนั้นเดินทางไปยังสถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลิน เปิดโอกาสคนไทยในเยอรมนี 40 คนเข้าพบ ชมชุมชนไทยในเยอรมนีเข้มแข็ง บินไปมิวนิคพบปะชุมชนรัฐบาวาเรีย ก่อนข้ามไปยังกรุงปารีส ฝรั่งเศส
วันนี้ (19 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 07.45 น.ตามเวลาท้องถิ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มภารกิจในการเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี วันที่ 2 ณ โรงแรม Adlon Kempinski โดยได้เปิดโอกาสให้ นายกีโด เวสเตอร์เวลเลอ (Dr.Guido Westerwelle) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เข้าเยี่ยมคารวะ และหารือข้อราชการ โดยได้มีการกล่าวถึงผลการหารือกับ นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะนำไปสานต่อและดำเนินการ โดยเฉพาะการผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เยอรมนี มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การศึกษาโดยเฉพาะระบบการศึกษา Dual System และอาชีวศึกษา ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยไทยประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อการพัฒนาประเทศ ความร่วมมือด้านมาตรฐานคุณภาพการนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งเยอรมนีจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้และอบรม เพื่อให้สินค้าบรรลุมาตรฐานในการนำเข้าสหภาพยุโรป และลดปัญหาการส่งกลับของสินค้า โดย รมว.ต่างประเทศเยอรมนี ได้ตอมรับที่จะนำความร่วมมือเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาและสานต่อ และแจ้งว่า ในช่วงเดือนกันยายนนี้ รมว.ว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งจะได้มีการติดตามกรอบการทำงานต่อไป
นอกจากนี้ รมว.ต่างประเทศเยอรมนี ยังได้สอบถามสถานะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และไทย-พม่า ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ซึ่งสำหรับกัมพูชา จะเห็นได้ว่า การค้าชายแดนมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า ประชาชนระหว่างสองประเทศสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งความตกลงในการปรับกำลังทหารจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร สำหรับพม่านั้น ไทยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดและส่งเสริมกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า และเห็นว่า สหภาพยุโรปควรจะยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่าเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการเมืองนำพม่าให้เดินต่อไปได้
จากนั้น ในเวลา 08.15 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เป็นประธานเปิดการอบรมเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมืออาชีพ ภายในโรงแรมดังกล่าวข้างต้น พร้อมกล่าวให้ความมั่นใจกับผู้ร่วมสัมมนาว่า เศรษฐกิจไทยยมีการเติบโตที่เข้มแข็ง ปริมาณนักท่องเที่ยวเยอรมนีมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น และขณะนี้ รัฐบาลกำลังลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย รวมไปถึงข้อตกลงระหว่างไทย-เยอรมนี เรื่องการพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในเยอรมนี โดยหวังว่า การอบรมสัมมนาจะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและพัฒนากิจการให้ก้าวหน้าต่อไป
ต่อมา ในเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน เพื่อพบกับชุมชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในเบอร์ลิน โดยเปิดโอกาสให้คนไทยราว 40 คน เข้าพบ และรับฟังสภาพความเป็นอยู่ในเยอรมนีของชุมชนชาวไทย ซึ่งนับเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากชุมชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 57,078 คน โดยส่วนมากเป็นสตรีไทย ที่สมรสกับชาวเยอรมัน และได้รับสัญชาติเยอรมัน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของชุมชนชาวไทยในเยอรมนี จะเป็นปัญหาทางด้านครอบครัว ภาษา และวัฒนธรรม
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้กำชับให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ให้การดูแลและคุ้มครองคนไทยอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนโครงการเพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพแก่คนไทยในเยอรมนี ตลอดจนการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นไทยในต่างแดน เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวเยอรมันมากขึ้น นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้กล่าวชื่นชมชุมชนชาวไทยในเยอรมนี ว่า มีความเข้มแข็ง จากการที่ก่อตั้งและรวมตัวกันของสมาคมต่างๆ กว่า 17 สมาคม เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพิงของคนไทย และยังเป็นเครือข่ายให้กับชาวไทยในยุโรป รวมทั้งยังเป็นตัวกลางที่ช่วยส่งเสริม และเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
ในช่วงสุดท้ายชุมชนไทยในเบอร์ลิน ยังได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวนกว่า 6 แสนบาท และสิ่งของให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยในประเทศไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยนายกฯได้กล่าวขอบคุณในน้ำใจของคนไทย ที่แสดงน้ำใจในยามที่บ้านเกิดเมืองนอนเกิดปัญหา ภายหลังสิ้นเสร็จการพบปะชุมชนชาวไทยในเมืองมิวนิก เวลา 10.00 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปยังนครมิวนิก รัฐบาวาเรีย ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที เพื่อพบปะกับชุมชนไทยในรัฐบาวาเรีย ก่อนที่จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานมิวนิก โดยเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อไป