xs
xsm
sm
md
lg

“รอยล” เชื่อปีนี้น้ำไม่ท่วม ยกเว้นพื้นที่ต่ำ อยู่ริมตลิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยล จิตรดอน (แฟ้มภาพ)
“รอยล” ระบุปีนี้น้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 20% การระบายน้ำดีขึ้น เชื่อไม่ท่วมเหมือนปีที่แล้ว เว้นพื้นที่ต่ำและอยู่ริมตลิ่งมีโอกาสบ้างแต่ไม่มาก เผยติดตั้งมีเดียบอกซ์ช่วยรู้สถานการณ์น้ำ ป้องกันได้ทัน

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการทำงานของมีเดียบอกซ์ (Media Box) และตัวตรวจวัดปริมาณน้ำว่า อาจมีบางเวลาที่เสียบ้าง แต่จุดดีเป็นระบบเรดาร์ติดตั้งที่สะพานใหญ่ทั้งหมด โอกาสที่จะเสียหายต่ำมากเมื่อน้ำหลากมา ความเป็นเรดาร์ไม่สัมผัสลำน้ำ ความแม่นยำเป็นมิลลิเมตร ติดตั้งแล้ว ใช้ Real Time GPS ความละเอียดแม่นยำสูงมาก ไปเทียบที่ตลิ่ง วัดที่ตัวระดับน้ำ เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลางเราจะเห็นทั้งหมด อย่างเช่นที่ผ่านมาแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน ถ้าต้องการผันน้ำจากแม่น้ำยมมาลงแม่น้ำน่านก็จะทำให้รู้ได้ว่าระดับน้ำของแม่น้ำสองสายต่างกันอย่างไร ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และกรมชลประทานก็ได้ร่วมมือทำให้แม่น้ำน่านต่ำกว่าแม่น้ำยมและดึงเอาน้ำที่เอ่อบริเวณ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลกเข้ามาที่แม่น้ำน่านก็สามารถแก้ปัญหาน้ำเอ่อได้ภายใน 2-3 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ปีนี้ประเมินว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ นายรอยลกล่าวว่า ปีนี้ฝนน้อยกว่าปีที่แล้วกว่าร้อยละ 20 และการระบายน้ำดีขึ้นเยอะ แต่พื้นที่ต่ำที่เสี่ยงแถวริมตลิ่งยังคงมีโอกาสท่วมอยู่บ้าง แต่จะน้อยกว่าปีที่แล้วมาก ส่วนอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติ (Media Box) ในปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 500 เครื่อง แต่อาจไม่ถึงเพราะเริ่มแรกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพิ่งจะมาสนใจในช่วงหลังเนื่องจากกลัว แต่เมื่อเอาของจริงเข้าไปสาธิตส่วนใหญ่มีอินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ ประกอบกับการใช้งานด้วยระบบรีโมตคอนโทรล

ส่วนสาเหตุที่ท้องถิ่นยังไม่สนใจคิดว่าส่วนใหญ่เป็นความเคยชินว่าจะแก้ปัญหาอะไรจะต้องการโครงสร้าง ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยข้อมูล แต่พอเห็นข้อมูลก็สะท้อนว่าเขาก็สามารถจัดการได้ว่าจะระบายน้ำอย่างไรทัน หลบอย่างไรทัน เพราะที่แล้วมาเป็นความเคยชินที่ว่าเมื่อน้ำจะท่วมจะต้องทำฝาย หรือทำสระ แต่ลืมคิดไปว่าถ้ารู้ล่วงหน้าสัก 7 วัน หรือ 3 วัน ก็จะเริ่มสื่อกันได้ว่าข้อมูลก็สามารถช่วยได้ การจัดการก็เป็นหัวใจหนึ่งที่สำคัญ

ส่วนระดับความแม่นยำของข้อมูลนั้น นายรอยลกล่าวว่า ปีที่แล้วประมาณร้อยละ 80 ถึงร้อยละ 85 ในบริเวณแผนที่ฝน ดังนั้นเราจะต้องรออีกขั้นหนึ่งในการร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา และขยายให้รูปแบบการพยากรณ์อากาศควบคู่ไปกับการพยากรณ์น้ำทะเลจะทำให้แม่นขึ้น ส่วนเรื่องการส่งกลับข้อมูลมาให้ส่วนกลางนั้นยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาใช้ข้อมูล เพราะไม่ได้ลงแค่มีเดียบอกซ์ แต่ต้องลงไปทำร่วมกับท้องถิ่นเพื่อสามารถทำแผนที่ระดับตำบลเองได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ อบต.ส่วนใหญ่มีแผนที่น้ำเป็นของตัวเองหมดแล้วว่าแหล่งน้ำเป็นอย่างไร อะไรคือคลอง อะไรคือสระ ตรงไหนจะต้องดูแลอย่างไร และไม่ใช่เพียงรู้แค่ท้องถิ่นของตัวเอง ยังสามารถรับรู้พื้นที่ท้องถิ่นรอบข้างได้ด้วยในการวางแผนรับมือก้อนน้ำและบริหารจัดการน้ำร่วมกันทั้งพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ข้างเคียงด้วย

ส่วนศักยภาพที่ไม่เท่ากันนั้น มองว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะต้องเริ่มทำงานร่วมกันหาคำตอบร่วมกัน การสื่อสารถึงกันเป็นเรื่องง่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตทั้งหมด มีเว็บไซต์ที่สามารถโพสต์ข้อมูลเข้ามา

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถคาดการณ์น้ำได้หรือไม่รวมไปถึงการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะมีความจำเป็นอย่างไร นายรอยลกล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราก็ต้องการเหลือพื้นที่ไม่เสี่ยงเอาไว้ ถึงตอนนี้ความเสี่ยงลดลงแต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ และสิ่งที่เห็นในพื้นที่ ถ้าไม่มีแหล่งน้ำในเวลาที่หน้าน้ำมาโดยเฉพาะอันดามันขณะนี้มีความรุนแรงขึ้น พื้นที่สะแกกรังน้ำท่วมมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ก็ต้องหันมาทำพืชฤดูแล้ง และหลังจากนั้นก็ทำบ่อบาดาลจึงทำให้แผ่นดินทรุดและป่าข้างบนก็พังไปด้วย จึงเป็นปัญหางูกินหาง ดังนั้นจึงต้องหาจุดสมดุลกันให้ได้ว่าจะทำแหล่งน้ำอย่างไรให้ป่าสามารถดีขึ้นได้ด้วย

ต่อข้อถามว่าหลังจากแจกมีเดียบอกซ์ไปแล้วจะมีการประเมินอย่างไร นายรอยลกล่าวว่า อยากให้สื่อมาร่วมประเมินการทำงานตรงนี้ด้วย ทั้งนี้งบประมาณการจัดทำเครื่องมีเดียบอกซ์นั้นอยู่ที่ราคา 3,000 บาท ผลิตจากประเทศจีน ส่วนวงรอบการประเมินผลการทำงานจะเป็นประมาณเดือนสิงหาคมพร้อมกับการทำแผนที่น้ำระดับตำบล พร้อมปฏิเสธกรณีที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ชลอการทำทีโออาร์เปลี่ยนระบบน้ำทั้งระบบไปก่อน เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น