นายกฯ ประชุมทีมไทยมอบนโยบายเดินทางเยือนเยอรมนี หวังพัฒนาความสัมพันธ์ เพิ่มมูลค่าการค้า ขอทุกหน่วยงานสร้างภาพลักษณ์ชาติ ชูสยามมีศักยภาพเข้มแข็ง สัมพันธ์ที่ดีกับพม่า เป็นศูนย์กลางอาเซียน พร้อมสั่ง 2 กระทรวงให้ผู้เชี่ยวชาญเมืองปรับค่ามาตรฐานสินค้าไทย ก่อนถกภาคเอกชน
วันนี้ (18 ก.ค.) ที่ประเทศเยอรมนี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทย ระหว่างอาหารเช้า (Working Breakfast) ณ โรงแรม Adlon Kempinski โดยทีมประเทศไทยประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการค้า สำนักงานการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนเยอรมนี เพื่อให้เยอรมนีตระหนักถึงความสำคัญของไทย และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเยอรมนี เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ และเพิ่มมูลค่าการค้าให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยถือว่าวิกฤตของเศรษฐกิจยุโรปจะเป็นโอกาสของไทย และจะต้องสนับสนุนให้มีการเดินหน้าการค้าและการลงทุน ด้วยศักยภาพของไทยและอาเซียนที่เป็นตลาดที่กำลังเติบโต รวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจ พัฒนาการและเสถียรภาพทางการเมือง โดยขอให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันทำงาน เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ ทีมประเทศไทยได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์และนโยบายการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปของเยอรมนี และเยอรมนีให้ความสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียน และเล็งเห็นว่าไทยมีศักยภาพที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แม้ผ่านวิกฤตทางการเมืองและภัยธรรมชาติที่ผ่านมาไทยสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมาร์ ซึ่งเป็นประเทศที่เยอรมนีสนใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการค้า การลงทุน และพลังงาน และไทยเองมีจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ ถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่จะเชื่อมโยงไปประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีการพัฒนาการเชื่อมโยง โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่จะเป็นการเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาค และการชี้แจงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทางการค้าและการลงทุนของไทยในเยอรมนี เช่น การตรวจสอบมาตรฐานการนำเข้าสินค้าของไทย โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาโดยให้ผู้เชี่ยวชาญของเยอรมนีไปให้ความรู้และปรับมาตรฐานต่างๆให้ตรงกันและเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งการเข้มงวดในการออกใบรับรองคุณภาพสินค้าให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการตีกลับสินค้าด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมหารือกับคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำในสาขาเกษตรและอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว การแพทย์ทางเลือก และการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ อัญมณี เครื่องประดับ และเครื่องแต่งกาย รวมทั้งผู้แทนสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนสมาคมอื่นๆ ที่เดินทางร่วมไปกับคณะทางการ และรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอ และของภาคเอกชนไทยในด้านการลงทุนและการประกอบธุรกิจกับเยอรมนี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการแก้ปัญหาแบบองค์รวม และรัฐบาลพร้อมที่จะดำเนินงานอย่างเต็มที่ และขอให้ภาคเอกชนเสนอยุทธศาสตร์ เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับของรัฐบาล รวมทั้ง การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ข้อมูล การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า และช่องทางการจัดจำหน่าย โดยขอให้ภาคเอกชนร่วมกันกับภาครัฐและถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะเติบโตไปด้วยกันทั้งนี้ ภาคเอกชนแสดงความเข้าใจในการดำเนินงานของรัฐบาล และยินดีสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขณะนี้ภาคเอกชนกำลังปรับตัวเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย