นายกฯ เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยยูเอ็น พอใจสัมพันธ์อันดีต่อไทย ชมพัฒนาประชาธิปไตยพม่า หวังได้สนับสนุนศูนย์อพยพ 9 แห่ง และลดปริมาณผู้อพยพจากพม่า ก่อนยิ้มร่าหลังเสร็จงาน ป.ป.ส.ปัดได้สัญญาณดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขอศึกษาผลคำวินิจฉัยก่อน โยน “เฉลิม” ดูสถานการณ์ แต่เชื่อไม่มีอะไร ไม่รู้ตั้งเพื่อธรรมสำรองถูกยุบ เผยเช็กแล้วบางกอกแอร์เวย์ยันไม่มีเขมรยิงเครื่องบิน ก่อนบินไปกัมพูชา แย้มคุยปล่อยตัว 2 คนไทย
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้การต้อนรับ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรซ (Antonio Guterres) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความพอใจถึงความสัมพันธ์อันดี และความเป็นหุ้นส่วนทางด้านมนุษยธรรมที่มีตลอดมาของไทย และ UNHCR พร้อมยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมืออันดีเหล่านี้ต่อไป ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่ดีเยี่ยมของพม่า โดยยืนยันว่าไทยจะเดินหน้าสนับสนุนรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าในการพัฒนาประเทศต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความคาดหวังว่า UNHCR จะให้การสนับสนุนในสิ่งที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการ คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพทั้ง 9 แห่งในประเทศไทย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์ และหวังว่า UNHCR จะร่วมมือกับไทยดำเนินการลดปริมาณผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าที่ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทยกว่า 140,000 คน ให้ลดน้อยลงอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของ UNHCR เพื่อแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว ซึ่งรวมไปถึงการให้ผู้หนีภัยไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศที่สาม และการเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อสถานการณ์อำนวยในอนาคต
ขณะที่ ข้าหลวงใหญ่ฯ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณและแสดงความซาบซึ้งสำหรับความร่วมมือทางด้านมนุษยธรรมของไทยที่ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัย และบุคคลไร้รัฐจากหลายประเทศมาตลอด พร้อมชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ในการหารือและเจรจาต่างๆ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้เสนอรายงานคณะกรรมการบริหารของ UNHCR และได้เชิญนายกรัฐมนตรีให้ไปเยี่ยมชมสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา เพื่อศึกษาการทำงานของสำนักงานซึ่งจะได้นำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นต่อไป
ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น.ภายหลังตรวจเยี่ยมสำนักงาน ป.ป.ส.และก่อนจะเดินทางไปประเทศกัมพูชา น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ยิ้มแย้มแจ่มใสแบบนี้แสดงว่า มีสัญญาณดีจากศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ไม่ทราบหรอกค่ะ” เมื่อถามว่า รัฐบาลพร้อมรับคำตัดสินไม่ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาแบบใด ใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูก่อนว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรเราคงต้องรอฟังก่อน คงยังไม่ตัดสินใจอะไร ต้องรอผลและศึกษาข้อกฎหมายก่อนว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า พะว้าพะวังหรือไม่ระหว่างการพิจารณาตัดสินของศาล แต่ต้องไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกอย่างเราก็ต้องทำหน้าที่ ส่วนจะทำหน้าที่ที่ไหนก็ต้องทำให้เต็มที่ และวันนี้ก็มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี คอยดูแลสถานการณ์อยู่แล้ว เชื่อว่าถ้ามีอะไรก็สามารถติดต่อกันได้ “แต่คิดว่าคงไม่มีอะไร เชื่อว่าทุกคนคงจะฟังด้วยความสงบ”
เมื่อถามว่า หลังจากกลับกัมพูชาแล้วมาจะมาร่วมฉลองกับสมาชิกที่พรรคเพื่อไทย หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า กว่าจะเสร็จภารกิจที่กัมพูชากลับมาก็มืดและดึกแล้ว ส่วนที่มีข่าวว่ามีการตั้งพรรคสำรอง คือ “พรรคเพื่อธรรม” เอาไว้ตนไม่ทราบเรื่อง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสข่าวเครื่องบินพาณิชย์ของบางกอกแอร์เวย์ถูกกัมพูชายิงเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า ตรวจสอบแล้วก็ยังไม่ทราบว่าข้อมูลมาจากทางไหน เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์และ SMS ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) ก็ได้สอบถามทั้งในส่วนของกองทัพ ทางกัมพูชา และจังหวัดก็ไม่มีรายงานในเรื่องดังกล่าว
“ซึ่งเช็กล่าสุดเครื่องบินที่เกี่ยวข้องอย่างบางกอกแอร์เวย์ก็ออกมาแถลงแล้วว่าไม่มีเรื่องนี้ เป็นการกลับมาจากสภาพภูมิอากาศเท่านั้นเอง ไม่มีเรื่องนี้ ค่ะ” นายกฯ กล่าว
จากนั้นเวลา 14.00 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษ แอมแบร์ ของกองทัพอากาศไปยัง เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อการประชุมนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน Commitment to Connectivity (C2C) ตามคำเชิญของ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมทั้งหารือทวิภาคีกับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีกำหนดการเดินทางกลับในเวลา 23.00 น.วันเดียวกัน
ก่อนเดินทาง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ามีโอกาสและจังหวะเวลาก็จะหยิบยกเรื่องการให้ความช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำเปรยซอร์ ของกัมพูชา มาหารือด้วย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวรัฐบาลก็ได้มีการติดตามมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายปฏิบัติทำหน้าที่ประสานเพื่อให้การช่วยเหลืออยู่