xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” ตีปี๊บเชิญบริษัทไทย-เทศแข่งทำแผนแก้น้ำท่วมทั้งระบบ งบฯ 3 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี (แฟ้มภาพ)
“ปลอดประสพ” เชิญชวนบริษัทไทย-เทศร่วมแข่งทำแผนแก้น้ำท่วมทั้งระบบ ใน 14 เมกะโปรเจกต์ วงเงิน 3 แสนล้าน ครอบคุลม 25 ลุ่มน้ำ แจงเหตุเชิญต่างชาติร่วมหวังในเรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศได้ของดีที่สุด ยันไม่เอื้อประโยชน์ใครเป็นพิเศษ ดีเดย์รับทีโออาร์สัปดาห์หน้า ก่อนให้เวลา 1 เดือนทำแผนให้เสร็จ

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้จัดทำทีโออาร์สำหรับการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมานำเสนอแผนแม่แบบ หรือคอนเซ็ปชวลแพลนวางแผนป้องกันปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยหลังจากนี้จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมแข่งขัน ในส่วนของบริษัทต่างชาตินั้น กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ประสานงานแจ้งไปยังบริษัทตามประเทศต่างๆ ด้วย โดยวงเงินทั้งหมดที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะมีประมาณ 3 แสนล้านบาท จากวงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท โดย 5 หมื่นล้านบาทที่หักไปนั้น แบ่งเป็นส่วนที่ถูกใช้ไปก่อนหน้านี้ 4 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนของการอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมนำไปปรับปรุงซ่อมแซมถนนต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย และอีก 1 หมื่นล้านบาทถูกเก็บไว้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมคราวก่อน

นายปลอดประสพกล่าวว่า ในเอกสารทีโออาร์ฉบับนี้จะประกอบด้วยแผนงานที่คณะนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กอนช.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้พิจารณาและนำเสนอ ครม. รวมไปถึงใช้ชี้แจงในศาลรัฐธรรมนูญในกรณีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 3.5 แสนล้านบาท มาก่อนหน้านี้ โดยจะประกอบไปด้วย 2 เรื่องใหญ่ คือเรื่องที่เกี่ยวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8 ลุ่มน้ำ จำนวน 8 โครงการใหญ่ และเรื่องที่เกี่ยวลุ่มน้ำอื่นอีก 17 ลุ่มน้ำ จำนวน 6 โครงการใหญ่

สำหรับคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้ามาร่วมแข่งขันนั้น นายปลอดประสพชี้แจงว่าจะเป็นรูปแบบของบริษัทเดี่ยวหรือบริษัทร่วมทุนก็ได้ หากเป็นบริษัทต่างชาติต้องมีบริษัทไทยร่วมด้วยอย่างน้อย 1 บริษัท ทั้งนี้บริษัทที่เข้ามาต้องมีประสบการณ์ในการทำงานของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือหากเป็นบริษัทร่วมทุน แต่ละบริษัทก็ต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท

“เอกสารนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะติดระเบียบราชการ โดยตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป บริษัททั้งในและต่างประเทศสามารถมาขอรับเอกสารทีโออาร์ได้ที่สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ หรือที่คณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เมื่อรับไปแล้วบริษัทต่างๆ จะรวมตัวกันอย่างไรต้องแจ้งให้เราทราบ เพื่อที่จะประกาศบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนต่อไป ก่อนมอบให้จัดทำคอนเซ็ปชวลแพลนมานำเสนอ เบื้องต้นคาดว่าจะให้เวลาประมาณ 1-3 เดือน”

นายปลอดประสพกล่าวด้วยว่า ในขั้นตอนสุดท้ายรัฐบาลจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 3 กลุ่มบริษัทเท่านั้น แล้วจะเลือกให้เหลือเพียง 1 กลุ่มบริษัทที่จะเป็นผู้ออกแบบงานโครงสร้าง หรือดีเทลดีไซน์ รวมทั้งหมดจะมี 14 โครงการใหญ่ในวงเงิน 3 แสนล้านบาท ซึ่งกว่าที่โครงการเหล่านี้จะแล้วเสร็จคงต้องใช้เวลาหลายปี เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจและไม่ขัดต่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านที่ออกไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันว่าจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และจะเห็นแก่บริษัทสัญชาติไทยมากกว่าคนอื่น แต่ที่ต้องให้ต่างชาติเข้ามาร่วมด้วยก็เพราะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศได้สิ่งที่ดีที่สุด สำหรับต่างชาตินั้นเราไม่เจาะจงไปที่ประเทศใดเป็นพิเศษแน่นอน โดยตนจะหาโอกาสเชิญทูตหรือผู้แทนพาณิชย์ของประเทศต่างๆ มาชี้แจงในเรื่องนี้ด้วย

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในส่วนของ 14 โครงการใหญ่เบื้องต้นประกอบด้วย แผนจัดการว่าด้วยเรื่องอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การฟื้นฟูปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิม ระบบเตือนภัยและพยากรณ์ การผันน้ำ แผนเผชิญเหตุ ผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการจัดการพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิงถาวร รวมทั้งการแก้ตัวบทกฎหมายใหม่ หรือการตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ เช่น กระทรวงน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทที่เข้ามาแข่งขันอาจจะเสนอโครงการที่จำเป็นเพิ่มเติมเข้ามาอีกได้ แต่ต้องแยกออกมาเฉพาะเรื่อง โดยไม่เกี่ยวกับงบประมาณ 3 แสนล้านบาทที่มีอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น