xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” หวั่นคลื่นใต้น้ำจ้องถล่มการเมือง อัด ปชป.หัดรู้จักแพ้บ้าง “สนธยา” แนะทุกสีฟังรอบด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วราเทพ รัตนากร (ภาพจากแฟ้ม)
เสวนาการเมืองงาน 101 ปี คึกฤทธิ์ เชิญอดีตบ้านเลขที่ 111 “วราเทพ” แนะจับตาก่อนเปิดประชุมสภา ต้องดูคำวินิจฉัยแก้ รธน.เชื่อมีคลื่นใต้น้ำ อัด ปชป.หัดรู้จักแพ้เสียบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ทำลาย ยกหาง “เสื้อแดง” อยู่ในกติกา-ไม่ใช้อาวุธ ทำคนสนใจการเมือง มั่นใจรัฐบาลอยู่ยาว “สนธยา” ชี้ การเมืองยุคใหม่เล่นนอกสภาเยอะ หนุน “แก้ รธน.-ปรองดอง” เต็มที่ แนะทุกสีฟังรอบด้าน โวเมืองชลฯ ครบทุกสีฟังทุกคน ชม “ปู” ไปไหนมีแต่คนรัก เพราะทำงานมากกว่าเล่นการเมือง ชี้ วิธีแก้เคล็ดเร่งทำงานให้รวดเร็ว

วันนี้ (27 มิ.ย.) ในการเสวนาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนการเมือง.....บทวิพากษ์จากตัวจริง” ภายในงาน “101 ปี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ 62 ปี หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ ถนนรางนํ้า นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า อีกหนึ่งเดือนข้างหน้าเป็นหนึ่งเดือนที่น่าติดตามอย่างมาก ถึงแม้จะไม่มีสภา แต่ตนก็เชื่อว่า ทุกท่านเห็นเหมือนกันว่า การเมืองนอกสภา ก็ร้อนระอุไม่แพ้ในสภา ตนมองเหมือนกับทะเลที่คลื่นลมสงบ แต่ใต้ทะเลเหมือนมีพายุ ที่ไม่รู้ว่าจะมีสึนามิมาเมื่อไหร่ เพราะมีเรื่องใหญ่เยอะทีเดียว และที่สำคัญที่สุด คือ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการไต่สวนกันในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีการไต่สวนไปในทิศทางใด หากเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ฝ่ายค้านจะมีเครื่องมือในการตรวจสอบรัฐบาล คือ มีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และพอถึงวันนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเช่นไร

“ถ้าเป็นไปในทางลบกับรัฐบาลนี้ และเป็นไปตามคำร้องของผู้ร้องที่จะให้มีการยุบพรรค อาจจะทำให้เกิดเหตุตามมาอีกมาก ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเมื่อเปิดสมัยประชุม แต่ยังมีพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติค้างอยู่ และกฎหมายที่สำคัญของรัฐบาล ก็คือ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ทำให้การประชุมสภาฯ สมัยสามัญนี้หน้าติดตามอย่างไม่กระพริบตาเลยทีเดียว เพราะมีจุดเปลี่ยนมาก และผมเชื่อว่าฝ่ายค้านจะอาศัยเวทีนี้เป็นโอกาสที่จะแสดงบทบาท” นายวราเทพ กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าได้เปิดสภามีอะไรอยู่ในใจหรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่า วิเคราะห์ตามประสบการณ์ที่มีต่อการเมืองไทย ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่อยู่บนถนนการเมือง บอกได้เลยว่าการเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน แทบจะบอกล่วงหน้ากันเป็นวันต่อวัน เนื่องจากระบบของเรายังไม่ใช่ระบบที่มั่นคงเป็นประชาธิปไตย มีบรรทัดฐานที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่กลับเปลี่ยนแปลงได้แค่คิดเรื่องเปิดสภา ขึ้นมาก็คิดว่าอาจจะมีอะไร แต่ยังไงสภา ก็ต้องเปิด ไม่มีอะไรทำให้สภา เปิดไม่ได้ แต่มีคลื่นใต้น้ำขนาดใหญ่อยู่ก็หวังว่าจะไม่เกิดและอยากให้กลับมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการรัฐสภา เราบอบช้ำกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2475 ที่มีการปฏิวัติมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าในโลกนี้ประเทศไทยคงติดอันดับต้นๆ ที่มีการปฏิวัติ และเป็นที่น่าคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่พูดไม่ใช่จะบอกว่ามีปฏิวัติ แต่ไม่ควรที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงนอกจากเปลี่ยนในระบอบประชาธิปไตย

“ถ้าเรามีการเลือกตั้งการเปลี่ยนแปลงก็มีแค่ 2-3 อย่าง ก็คือ ปรับคณะรัฐมนตรี ยุบสภาหรือลาออกเท่านั้น นี่คือระบบที่มาจากประชาธิปไตย แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบนอกประชาธิปไตยก็ยากที่จะปรับขึ้นมาฟื้นความเชื่อมั่นกับสังคมโลก 80 ปีกับประชาธิปไตยเราก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ขณะที่คนอื่นก็มองและแสวงหาประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยมีมาแล้วกลับมองแค่ว่า อะไรเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ความเห็นของฝ่ายที่มีอำนาจต้องชนะและกลับสู่อำนาจอันนี้น่ากลัว ยังไม่มีอะไรชัดที่จะเปิดสภา ได้หรือไม่ได้ เพียงแค่พูดเอาไว้เท่านั้น” นายวราเทพ กล่าว

เมื่อถามว่า ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ปรองดอง รัฐบาลควรที่จะผลักดันเรื่องไหนก่อนกัน เพราะติดปัญหาทั้งคู่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายวราเทพ กล่าวว่า ตนมองว่ารัฐบาลไม่ได้ยื่นทีเดียวใน 1-2 เดือนแรก รัฐบาลต้องไปแก้วิกฤติมหาอุทกภัยและนโยบายเร่งด่วนที่ได้ประกาศไว้ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ได้หาเสียงไว้ วันนี้ถูกตีความว่าเสียงข้างมากต้องฟังเสียงข้างน้อย ผมเห็นด้วยที่เสียงข้างมากฟังเสียงข้างน้อย แต่เสียงข้างน้อยต้องเป็นเสียงที่มีเหตุผล จังหวะเวลาผมมองไม่เห็นว่าเร็วหรือช้าเกินไป แต่ความเข้าใจและยอมรับเหตุและผลของฝ่ายตรงข้าม ตอนนี้ตนเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย มีความเห็นเป็นแนวเดียวกับรัฐบาล ในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเราเปิดใจกว้างและมองว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2550 เกิดจากการปฏิวัติและยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ถึงแม้จะมีการลงประชามติแต่เหมือนกับประชาชนถูกมัดมือชกให้รับไปก่อนและค่อยแก้ทีหลัง แต่คนที่รับไปแล้วและให้แก้ทีหลังมาวันนี้กลับบอกไม่ควรแก้ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มีพูดไว้หมดว่าใครพูดอะไรทำอะไรเอาไว้

“รัฐธรรมนูญปี 2550 มีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลนี้หยิบยกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาเมื่อตอนหาเสียง ประชาชนก็เลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลถึงแม้จะเลือกด้วยความนิยมตัวนายกฯ และนโยบาย แต่เรื่องนึงที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงคือการแก้รัฐธรรมนูญ พอมาเป็นรัฐบาลก็แก้ตามกระบวนการ แต่การยอมรับเหตุและผลสำคัญกว่าจังหวะเวลาซึ่งไม่ได้เร็วไปเลย เพียงแต่มีหลายๆ เรื่องซ้อนๆ กันอยู่ อีกทั้งการพูดเพื่อให้เกิดมุมทางการเมืองต้องยอมรับว่า ฝ่ายค้านมีความชำนาญที่จะหยิบยกเรื่องขึ้นมาเพื่อให้มันฮอตๆ ได้ทั้งนั้น” นายวราเทพ กล่าว

นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง รัฐบาลก็แสดงความชัดเจนที่จะไม่เป็นผู้นำในการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง และได้อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นผู้ที่เสนอ ตัว พ.ร.บ.ไม่ใช่เข้าสภา มาแล้วทุกอย่างจะจบทันที ยังมีกระบวนการอย่างอื่นอีก ตนยังไม่มั่นใจว่าหาก พ.ร.บ.ปรองดองผ่านสภา แล้วจะผ่านวุฒิสภาหรือไม่ โดยจะผ่านแบบไหนและแก้แค่ไหน แต่ที่เป็นห่วงและมีประเด็นเดียวก็คือเรื่องตัวบุคคล ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่ต่างประเทศ โดยมองว่าเป็นการช่วยเหลือคนๆ เดียว ตนมองว่าการออกกฎหมายเพื่อช่วยคนเพียงคนเดียวเป็นไปไม่ได้ และในร่างก็ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าไม่ใช่การช่วยเหลือเฉพาะเจาะจง ระยะเวลาที่เข้ามาไม่ถึงกับไม่เหมาะสม เพียงแต่ว่าจังหวะการนำเสนอและพูดคุยอธิบายอาจจะต้องยอมรับว่าฝ่ายรัฐบาลเสียเปรียบ เพราะเวลาพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่หายไปคือความเข้าใจกันในสภาฯ สมัยตนและนายสนธยาเมื่อ 20 ปีก่อนที่เข้ามาเป็น ส.ส.สมัยแรก บรรยากาศการพุดคุยของนักการเมืองเมื่อเทียบกับปัจจุบันต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเห็นต่างไม่มีการพูดคุยกัน มีแต่การเผชิญหน้า อะไรที่จะออมชอมกันได้ที่ไม่ได้เป็นการฮั้วกันเพื่อประโยชน์ทางการเมืองก็ต้องมาคุยกัน แต่เดียวนี้เท่าที่ทราบไม่มีเลย มีแค่พูดตอนกดไมค์ตอนพูดกับประธานสภาฯ ตรงนี้แหละคือปัญหา ตนไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะกลับมาหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องทึ่ทำหน้าที่อยู่ในสภาฯ ซึ่งเป็นนัการเมืองอาวุโสของแต่ละฝ่าย น่าจะหารือกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นบั่นทอนความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา และบั่นทอนอาชีพของนักการเมือง ซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะสมเลย เพราะมีการแสดงภาพการพูดและกิริยาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ส่วนประเด็นหลักที่รัฐบาลนำเข้ามาขึ้นอยู่ที่การยอมรับ เพราะหากยอมรับก็สามารถพูดคุยกันได้ โดยการยอมรับก็คือการลดทิฐิของแต่ละฝ่ายหันหน้าเข้ามาคุยกัน เรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่องปรองดองเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่ใช่ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งไม่มีแน่นอน แต่เมื่อคิดว่าทำเพื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและไม่หันหน้ามาคุยกันก็ไปไม่ได้” นายวราเทพ กล่าว

เมื่อถามอีกว่า ยังมีคนกลางที่มากบารมีเหลืออยู่ไหมที่พร้อมจะเชื่อมความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่าย นายวราเทพ กล่าวว่า ตนคิดว่าเหลือ แต่คนกลางจะลงมาเป็นตัวกลางหรือเปล่า ทุกๆ คนคิดเหมือนกันว่าทำไมไม่จบ ทุกคนอยากให้จบโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่จะจบยังไงก็ตามประเทศต้องไปต่อได้ ความขัดแย้งลดลง ปัญหาต่างๆ ยุติ แต่กลับจบกันไม่ได้ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจทั้งๆ ที่มีการพยายามสร้างตลอดมาตั้งแต่เกิดความขัดแย้ง คนกลางมีแต่ไม่อยากเป็นคนกลางมากกว่า และอาจจะไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า ทุกๆ คนที่ติดตามข่าวสารและสนใจการเมืองคงจะพอมองออกว่าจะจบด้วยคนกลางคนไหน แต่หากไม่มีคนกลางเลย คนเล่นถ้ากลับไปอยู่ในระบบของสภาฯ ทุกอย่างจะจบลงตรงนั้น ประชาธิปไตยเขาวางกติกาไว้แล้วว่ามีการเลือกตั้ง มีสภา มีรัฐบาล แต่ในสภายังไม่สามารถพูดคุยกันได้ ก็ไม่ต้องหาคนกลาง ให้คนที่คุยกันไม่ได้ให้มาคุยกันได้เสียก่อน พูดง่ายๆ ก็คือ เอาประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยมาคุยกันให้ได้ ตนไม่มั่นใจว่าวันนี้ยิ่งคุยจะยิ่งไปกันใหญ่หรือเปล่า

“เดี๋ยวก็ต้องรอมาดูว่าเปิดสภาจะมีอะไรเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่มีความเห็นตรงกันเลยแม้แต่เรื่องเดียว ผมก็เสียใจเหมือนกันแม้จะไม่ได้อยู่ในสภาฯ มาหลายปี เพราะน่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ถูกแต่กลับลดลง ซึ่งขาดเสน่ห์ที่อยู่ในคนไทย คือคนใจเย็นมีอะไรมาปรึกษาหารือกัน หากมีเรื่องใหญ่ๆ อาจกลายเป็นเรื่องเล็กได้ เรื่องที่พอจะยอมรับได้ก็ไม่มี คนกลางจึงแทบไม่ต้องมีเลย ผมกลัวว่าคนกลางข้างนอกไม่มีใครอยากเจ็บตัวมาเป็นคนกลาง เพราะถ้าเลือกมาเป็นคนกลาง การเจรจาประนีประนอมไม่มีทางที่จะเสมอกัน เพราะหากเจรจาไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ก็ถูกมองว่าไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้หาคนกลางยาก และคนที่พอเป็นกลางได้วันนี้อาจจะไม่มีใจเป็นกลางแล้วก็ได้หากไปถามก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วอาชีพของท่านอนาคตของท่านที่อยู่ในแวดวงการเมืองจะถูกมองไปในทางลบและอำนาจพรรคการเมืองถูกบั่นทอนลง” นายวราเทพ กล่าว

นายวราเทพ กล่าวอีกว่า การที่ระบบรัฐสภาเสื่อมลง ต้องโทษนักการเมืองจะโทษคนอื่นคงไม่ได้ เพราะตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต่างโทษกันไปมา เราต้องมาดูว่านอกสภาฯ เกิดอะไรขึ้น การเมืองนอกสภาฯ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพียงแต่ว่า ต้องทำให้ชัดว่าเป็นพรรคการเมือง และต้องเคารพในกติกา ความเสื่อมคนที่เริ่มก็คือนักการเมือง นักการเมืองที่ดีและยอมรับในกติกาก็มีทุกพรรค การเผชิญหน้าเป็นไปอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เข้าใจว่าเกิดจากอะไร แต่ต้องยอมรับกันว่า เมื่อมีการเลือกตั้งและมีผู้ชนะ แต่ฝ่ายที่แพ้กับยอมรับไม่ได้กับเสียงของประชาชน ฝ่ายที่แพ้ต้องกับมาคิดว่าแพ้ด้วยเหตุผลใดและต้องพยายามสร้างการยอมรับกับประชาชนเพื่อให้กับมาเป็นฝ่ายชนะ โดยแสดงความเห็น และทำเรื่องที่ประชาชนจะยอมรับตนเอง ไม่ใช่ตั้งหน้าทำลายฝ่ายที่ชนะอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตัวเองกลับมาชนะ และเป็นที่เห็นกันว่าประชาชนไม่ชอบวิธีการเช่นนี้

“พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ฝ่ายค้านพยายามที่จะชนะการเลือกตั้งโดยจากมุมมองของผม ผมเห็นว่าเขาใช้วิธีจะทำลายฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ตัวเองกลับมาชนะ ไม่ใช่ทำเพื่อให้ประชาชนยอมรับ ทั้งๆ ที่ผลออกมาก็ยังแพ้อยู่ ทำไมเขาถึงไม่เปลี่ยนวิธี หวังว่าความเสื่อมในสภาจะหมดไปโดยเร็ว เปิดสภาครั้งนี้จะเห็นบรรยากาศดีๆ มีการพูดจากันด้วยเหตุและผล สิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็ให้หมดไปและไม่ทำให้เกิดขึ้นอีก” นายวราเทพ กล่าว

เมื่อถามว่า กังวลกับการเมืองนอกสภา หรือไม่ เพราะอาจจะลุกลามจนทำให้เกิดการล้มกระดานขึ้นมา นายวราเทพ กล่าวอีกว่า เรามีบทเรียนและประสบการณ์แล้ว ระบบของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เขาได้เรียนรู้และสร้างกิจกรรม ที่ไม่น่าเป็นห่วงให้เกิดการเปลี่ยนที่ไม่ถูกต้อง เขาเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่พรรคการเมือง แม้จะมี ส.ส.ก็ตาม ผมมองว่าไม่น่าเป็นห่วงเพราะการแสดงออกมาอยู่ภายใต้กติกาและไม่มีการใช้อาวุธ ทำผิดกฎหมาย อาจจะมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เรื่องปัญหาจราจรแต่ก็เป็นเรื่องปกติ ทั่วโลกก็มีการเมืองนอกสภาฯ และขอชื่นชมว่าเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนรู้ประชาธิปไตยและสนใจการเมืองจากนอกสภา เราเองเสียอีกที่เป็นนักการเมืองไม่สามารถส่งเสริมให้ประชาชนสนใจการเมืองเท่ากลุ่ม นปช.เขาสามารถทำให้คนมาฟังปราศรัยได้มาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย นักการเมืองจะปราศรัยต้องเสียเงินให้คนมาฟัง อย่างน้อยที่สุดก็ค่ารถเพื่อให้มาฟัง แต่นี่มาฟังแถมยังมีการรับบริจาคเงินอีกด้วย แม้ตนจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องโดยตรงกับ นปช.เพราะได้ไปสัมพันธ์อยู่บ้าง ส่วนกลุ่มอื่นตนก็ไม่แน่ใจ อีกทั้งพรรคเพื่อไทยกับ นปช.มีแนวทางการเมืองคล้ายๆ กันหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปกป้องประชาธิปไตย ความน่าเป็นห่วงอย่างเดียวตอนนี้ก็คืออาจมีกระบวนการเข้ามาแทรกแซงเจตนารมณ์ของกลุ่มนอกสภาฯ ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องมวลชนจำนวนมากที่การดูแลยังไม่ทั่วถึง มีการแทรกซึมแทรกซ้อนจนทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ แต่ที่มีการอ้างว่าการเมืองนอกสภา ทำให้มีการเมืองนอกระบบและทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมา ตนเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น

เมื่อถามว่า เสถียรภาพของรัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวราเทพ กล่าวว่า มั่นคงแน่นอน และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลเผชิญเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดการยื่นตีความการแก้รัฐธรรมนูญและเกิดประเด็นปัญหาว่าจะล้มระบอบประชาธิปไตยหรือล้มล้างการปกครอง เสถียรภาพของรัฐบาลตนเชื่ออยู่ที่สภาฯ ส่วนหนึ่ง อีกส่วนอยู่ที่การยอมรับของประชาชน ถ้าตราบใดที่รัฐบาลนี้ทำงานเพื่อประชาชนในเรื่องที่ดีๆ ไม่มีข้อครหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน การบริหารที่ล้มเหลวสร้างความเสียหาย ตนเชื่อว่าเสถียรภาพรัฐบาลก็ยังมั่นคงอยู่

“นายกรัฐมนตรีมีเสถียรภาพในการยอมรับ เห็นได้จากผลสำรวจที่มีแต่เพิ่มขึ้น เพราะมีความมุ่งมั่นและเอาใจใส่การทำงาน ส่วนเรื่องของนโยบายและงานที่ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชน ซึ่งถ้าไม่มีเทคนิเคิล น็อกเอาท์ รัฐบาลไม่ล้มแน่นอน แต่ถ้ามีเรื่องนั้นขึ้นมาก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ขณะนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ประชาชนไม่ยอมรับในรัฐบาล”นายวราเทพ กล่าว

นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองที่อาจกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล ตนเชื่อว่าวันที่เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมา ต้องรอดูตอนเปิดประชุมสภาฯ แต่ตนเชื่อว่าถ้าเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านไปได้ เรื่อง พ.ร.บ.ปอรดอง จะไม่หนักหนาอะไรแล้ว เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อาจจะกลับเข้ามา เพราะประเด็นที่สำคัญคือแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า

เมื่อถามต่ออีกว่า จากผลสำรวจที่ออกมาประชาชนมองว่าการเมืองสร้างแต่ปัญหาอย่างเดียว ในฐานะนักการเมืองรู้สึกท้อหรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่า เพิ่งจะกลับมาเล่นการเมือง แต่ประชาชนสนใจการเมืองมากขึ้น เห็นได้จากมีการเลือกข้าง ต่อไปนี้ประชาชนจะต้องเป็นเจ้าของพรรคการเมือง เวลาหาเสียงก็มีอาสาสมัครไปช่วยหาเสียง ไม่จำเป็นต้องไปจ้างหัวคะแนนเวลาหาเสียง ในความเบื่อของประชาชนก็มีความสนใจ เวลาเลือกตั้งก็มีประชาชนมาใช้สิทธิมากขึ้น เสียดายที่มีการแก้กฎหมายทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองยากขึ้น ตนมองว่าในอนาคตประชาชนจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แต่ที่เบื่อนั้นเป็นเพียงแค่ความรู้สึก

นายวราเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุชาติ ธาดาดำรงเวช รมช.ศึกษาธิการ ออกมาระบุถึงเสถียรภาพของรัฐบาลว่าจะอยู่ได้ไม่ถึงสิ้นปีว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะคนที่ออกมามาพูดเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผมคิดว่าถ้าเอาประเด็นเรื่องนี้มาขยายจะไม่เกิดอะไรกับสังคมมากนัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คงไม่ติดใจอะไรมากนัก

ด้าน นายสนธยา คุณปลื้ม แกนนำพรรคพลังชล และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (สมาชิกบ้านเลขที่ 111) กล่าวในการเสวนาว่า เมื่อประมาณ 20 ปี ที่แล้วตนได้มีโอกาสสนทนาทางการเมือง ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ซึ่งท่านเป็นต้นแบบทางการเมืองของตน สำหรับช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตนอยู่บ้านเลขที่ 111 ซึ่งเป็นกฎกติกาทางการเมืองที่ถูกกำหนดขึ้นมา คือ ห้ามใช้สิทธิทางการเมือง ตนพูดอยู่เสมอว่าช่วง 5 ปี เราทำงานการเมืองภายใต้ข้อจำกัด แต่เราได้ทำเต็มที่เท่าสามารถทำได้ จะเห็นว่า บทบาททางการเมือง เรื่องการเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับประเทศ ถ้าเราสามารถเข้ามามีบทบาทได้ ในฐานะบ้าน 111 ตนได้กลับมาทำงานการเมืองที่ จ.ชลบุรี นำกรอบการทำงานใหญ่มาทำชลบุรีโมเดลเพื่อพัฒนาบ้านเรา จะเห็นว่า จ.ชลบุรี เป็นเหมือนประเทศไทยที่ย่อขนาดลงมา เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองแห่งกิจกรรม และกีฬา ซึ่งตนได้ทำในส่วนของฟุตบอล สมาคมกีฬาชลบุรี นำยุทธศาสตร์ตอนเป็นรัฐมนตรีไปใช้ในการพัฒนา โดยเฉพาะกีฬาอาชีพฟุตบอล ซึ่งถือเป็นโมเดลในการทำงาน และขยับขึ้นมาทำงานในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ที่เป็นการพัฒนาจากกลุ่มมาเป็นพรรคพลังชล ซึ่งตนเข้าไปยุ่งไม่ได้ แต่ตนได้เป็นที่ปรึกษา ถือว่าเป็นการสร้างการทำงานทางการเมืองอีกระดับหนึ่ง ที่มีการพัฒนามากจากในพื้นที่และขยายเป็นพรรคการเมืองต่อไป

เมื่อถามถึงอุณหภูมิการเมืองร้อน นายสนธยา กล่าวว่า ตนมองว่า การเมืองในปัจจุบันออกมานอกสภามากกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก และมีการปฎิบัติในหลายๆ เรื่องที่เมื่อก่อนเราเคยมองและหัวเราะคนอื่น แต่กลับมาเกิดขึ้นในบ้านเรา ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน จุดในการเล่นการเมืองกลายเป็นพื้นที่ไม่จำกัด ทุกรูปแบบเป็นการทำงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย กลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นมาใหม่ จะมองว่าเป็นเรื่องแปลกเรื่องไม่ดีก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ตนมองว่า การไม่มีข้อจำกัดและมีการขยายวงรูปแบบทุกๆด้าน ความคิดตนใช้คำว่าไม่ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องติดตามต่อไป เราอาจมองว่า 1 ส.ค.อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองอีกตอนหนึ่ง หลังที่ปิดสมัยประชุมมาด้วยความร้อนแรงเข้มข้น ในวันที่ 1 ส.ค.ถ้าเดินหน้าหรือสร้างเป้าหมาย ถ้ามองว่าเป็นการพักยกเพื่อไปเตรียมสรรพกำลังเข้ามาลุยกันอีกครั้ง ก็จะเกิดการร้อนแรงไม่น้อยกว่าที่ผ่านมา วันนี้เราจะต้องตั้งรับให้ดี ตนก็พยายามติดตามและดูการตั้งรับ รองรับสถานการณ์การเมืองหลังจากที่เปิดสภาจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามถึงเงื่อนไขที่ทำให้การเมืองร้อน คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง นายสนธยา กล่าวว่า 1.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ดำเนินการหลังเข้ามาทำงานแล้ว โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมา เราเห็นข้อที่จะต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นหลายขึ้นหลายข้อ ซึ่งได้มีจัดการเสวนา ตั้งคณะกรรมการ มีการศึกษาหลายๆ เรื่องราวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสมัยเลือกตั้งก็ตกผลึกไประดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยเพราะเป็นการสร้างสิ่งที่เป็นกติกาในการเดินหน้าของประเทศให้ดีขึ้น อาจจะไม่ดีที่สุดแต่เป็นสิ่งที่ตนคิดว่าดีกว่า โดยมีเป้าหมายเพื่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน เพราะเราดูจุดอ่อนจุดแข็งแล้วว่าเป็นอย่างไร

2.พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เรื่องนี้ตนพูดอยู่ตลอด ก่อนออกจากบ้าน 111 ก็มีการพูดคุยกัน ในเรื่องการสร้างความปรองดอง ตนเห็นด้วยในการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น แต่เรื่องการสูญเสียไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ ก็แล้วแต่ เหตุผลสถานการณ์หรือด้วยอารมณ์ สิ่งต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบในแต่ละเหตุการณ์ มีเฉพาะในแต่ละเวลา ซึ่งเหตุการณ์หรือเหตุผลอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ณ เวลานี้มันคนละเวลา ถ้ามาช่างน้ำหนักเปรียบเทียบกันตนว่าเป็นคนละเรื่องกัน เหมือนเวลาที่เราทะเลาะกันสองคน เป็นเรื่องที่สองคนคุยกันได้ แต่ถ้ามีคนที่สามในส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็จะทำให้เกิดผลในเรื่องความลงตัว บางครั้งก็ต้องยอมๆ เสียกันบ้าง จะให้อีกฝั่งเสียฝั่งเดียวอีกฝั่งได้ฝั่งเดียวก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ถ้าให้ทุกอย่างมีความลงตัว ก็เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นแนวทางที่และหลายๆ คน รวมถึงประชาชนต้องการให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งการนำสองเรื่องเข้ามานั้นเราไม่คัดค้าน เพื่อที่จะได้หาจุดการสร้างความลงตัว

นายสนธยา กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องความเห็นของสถาบันพระปกเกล้าฯ นั้น ตนคิดว่าเป็นข้อคิดเห็นที่เราควรรับฟัง เหมือนกับกรณีของอู่ตะเภาที่สุดท้ายเดินหน้าตามาตรา 179 และนำเข้าสู่สภาเพื่อรับฟังความเห็น ซึ่งเป็นการสร้างทางออกให้เกิดขึ้น เหมือนกับเรื่องการปรองดองมาถึงวันนี้ หากมองว่า พ.ร.บ.ปรองดอง สามารถที่จะได้แต่แค่เพียงเลื่อนวาระเข้ามา และยังไม่ได้เดินหน้าต่อไปไหน มีเรื่องความเห็นที่แตกต่าง ถ้าได้มีการปรึกษาหารือให้ลงตัวก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ตนเชื่อว่าหากมีการนำเอาเข้าสภาอีก ก็จะเกิดปัญหาขึ้น แต่ถ้ามีการหารือหาทางออกอย่างจริงจังและไม่ยึดทิฐิในสิ่งที่ตนเองจะเอาอย่างเดียวตนคิดว่าจะเดินหน้าต่อไปได้ วันนี้เห็นชัดเจนแล้วว่าถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่างผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าจะคัดค้านทั้งในและนอกสภา จึงถือว่าเป็นการตั้งเป้าทางการเมือง ตนมองว่าวัฒนธรรมการเมืองปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนอย่างชัดเจน ตนยังโชคดีได้มีโอกาสพูดคุยใกล้ชิดกับนักการเมืองระดับใหญ่หลายท่าน แต่ในยุคก่อนและปัจจุบันนักการเมืองคุยกันทั้งในและนอกสภา มีวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน วิปร่วมรัฐบาลของสองฝ่ายที่คุยกันเพื่อหาจุดลงตัวในการเดินหน้าต่อ ทำให้สามารถเดินหน้าไปได้ จึงเป็นสิ่งที่เราควรมอง ณ วันนี้อาจจะมองว่าถึงทางตันทั้งสองเรื่อง แต่ทางตันนั้นมีเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เพื่อไปสู่เป้าหมายได้

นายสนธยา กล่าวต่อว่า ในสภาคนที่มีเสียงข้างมากจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งเป็นหลักการในระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญเป็นกติกาที่ยอมรับกันมาในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการยอมรับ ในแง่ของการนำเสนอหลักการ เหตุผล เสียงสนับสนุน การอภิปรายคัดค้าน สุดท้ายก็ต้องมีการลงมติ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นกติกาหายไป แต่เป็นการชนะหรือวิธีการใดๆ ก็แล้วแต่ที่คนภายนอกมองมาต่อนักการเมือง ทำให้ความศรัทธาต่อระบอบการเมืองน้อยลง กลายเป็นว่าคนปัจจุบันให้น้ำหนักติดตามเรื่องการเมืองมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

“ผมมองว่าในปรัชญาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยใช้เสียงข้างมากยังอยู่กันแบบนี้ มันก็จะเดินหน้ากันแบบนี้ ไม่สามารถเดินหน้าตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับที่ไม่อยู่ในระบบสภาก็ลำบาก แต่ละฝ่ายก็จะยกเหตุผลของตัวเองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูก ก็หวังอยู่ว่าจะสามารถหาจุดลงตัวและสามารถไปได้ ส่วนแนวทางและความลงตัวก็คงต้องหาต่อไปแบบนี้หรือ” นายสนธยา กล่าว

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการเมืองนอกสภาและในสภา นายสนธยา กล่าวว่า ในสภาเป็นการเล่นในระบบ นอกสภาเป็นการสร้างมวลชนเพื่อสนับสนุนแนวคิดการเมืองของแต่ละกลุ่ม ทุกวันนี้เรามีเสื้อแดง ก่อนหน้านี้เรามีพันธมิตร ทุกวันนี้เรามีช่องสีฟ้า ถ้าท่านไม่อยู่ซีกไหน ลองดู 3 ช่องสลับไปมา เรื่องเดียวกันคิดคนละแบบ ในฐานะที่ตนเป็นคนกลางไม่มีสี กลิ่น รส เรามองอะไรสิ่งที่จะเกิดกับบ้านเมืองมากที่สุด คนที่ดูช่องเดียวทุกวันฟังก็จะไปข้างหนึ่ง ก็จะเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะเป็นแนวทางหนึ่งในการทำงานทางการเมือง ในการสร้างมวลชน และเล่นการเมือง แต่ถ้าเราสามารถทำให้แนวคิดของแต่ละท่านที่ฟังและดู ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

“เมืองชลฯ ครบทุกสี ทั้งแดง เหลือง ปชป.ตรงนี้ที่เราอยู่ได้ เพราะกลุ่มชลบุรีฟังทุกคน หาข้อสรุปในบ้านของเราเอง บางครั้งเราค่อนข้างทำงานหนัก แถมเหนื่อย การยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามองว่าเป็นการเมือง การสร้างมวลชน ความคิดและศรัทธาในแต่ละกลุ่มซึ่งเป็นการต่อสู้ทางการเมืองหลักหนึ่ง สุดท้ายผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำลายบ้านเมือง แต่ก็ต้องหาจุดลงตัวคนเราถอยกันได้เพื่อหาจุดลงตัว รัฐบาลก็ถอย เมื่อแนวทางต้องผ่านต้องไปต้องมีจุดที่ทำให้หยุด รัฐบาลก็ถอยไม่ใช่ดันทุรัง ถ้าเราถือว่ามือเรามากกว่าและพยายามไป โดยไม่คิดว่าวันข้าวหน้าเป็นอย่างไรก็อาจจะพัง แต่วันนี้รัฐบาลโดยท่านนายกฯ เห็นว่ามันติดตรงนี้ก็ถอยออกมาก็ได้ ก็มาดูว่าต่อไปเราจะเดินหน้าอย่างไร คนที่จะต้องคุยกันคือคนที่อยู่บนเวที เพราะคนที่อยู่บนเวทีจะเป็นคนบอกคนข้างเวทีให้สนับสนุนแนวคิดของแต่ละคน เราคงไม่อยากให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองจริงๆ ถ้าวันนี้เรามองว่ามันตันแล้ว แต่ทางตันก็ยังมีซ้ายขาว ถ้าเราเลือกไปซ้ายไปขวามันก็ไปได้ คนในเวทีนี่แหละที่จะทำให้บ้านเมืองเดินไปได้” นายสนธยา กล่าว

เมื่อถามถึงการทำนายเสถียรภาพของรัฐบาล นายสนธยา กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่ถ้าคนชอบก็จะฟัง การทำนายจากอะไรก็แล้วแต่เป็นความคิดของแต่ละท่านที่เชื่อ ถ้าเราประเมินจากข้อเท็จจริง อย่างในครั้งนี้เรื่องการเดินหน้า ซึ่งมีการประเมินจากข้อเท็จจริงว่าถ้าเดินไปในลักษณะนี้จะเกิดอะไรแบบไหน ทุกศาสตร์โดยเฉพาะโหราศาสตร์ทำไมถึงมีการแก้เคล็ดแก้กรรม บอกว่าไม่ดีก็มีวิธีแก้ ในเรื่องการเมืองต้องมีวิธีแก้ ในเมื่อเราดูดวงอาจารย์บอกว่าต้องอยู่เกินกว่าปีใหม่ต้องทำยังไง บอกราหูเข้าพระเสาร์แทรกต้องทำยังไง มันมีทางออกหมด ทางการเมืองตนมองว่าในการเดินหน้าต่อไปจุดที่ทำให้การเมืองเดินไปได้ เท่าที่ผ่านมาสังเกตดูว่าการทำนายตรงนี้จะไป ตรงนี้จะไม่รอด ตรงนู้นจะพังก็ผ่านได้ตลอด จะผ่านมาด้วยสีข้างถูกำแพง หรือสถานการณ์ยังไง แต่ทุกคนก็มีวิธีคิดทางออก ตนมองว่าถ้าไม่เดินบนกำแพงแล้วถือค้อนถือแชลงทุบกำแพง ก็เดินหน้าต่อ หรือถอยมาดูก่อนว่าจะไปอย่างไร ดูอย่างสมัยพรรคความหวังใหม่ลาออกหมด ก็ยังอยู่ตนก็ประหลาดไม่มีฝ่ายค้าน สิ่งเหล่านี้เมื่อถึงเวลาตึงเครียดก็เห็นทางออก การเมืองนั้นมีจุดเปลี่ยนมาตลอดจนถึงปัจจุบัน มันอยู่ที่เราเดินหน้าจะไปอย่างไร

เมื่อถามถึงเงื่อนไขหรือตัวแปรอะไรที่รัฐบาลควรระวังให้อยู่ครบวาระ นายสนธยา กล่าวว่า วันนี้การทำงานเพื่อเป็นไปตามนโยบายที่ประกาศเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์

“นายกฯ ท่านทำงานอย่างเดียวถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่พูด ซึ่งเป็นเสน่ห์ของท่านอย่างหนึ่ง ทำงานคนก็เห็น อย่างการไป ครม.สัญจร ชลบุรี มีแต่คนอยากเห็นตัวจริงของนายกฯ และชื่นชอบนายกฯเพราะท่านเป็นคนทำงาน ไม่เอาการเมืองมากเกินไป ในฐานะที่เป็นนายกฯ ก็ต้องเอาการเมืองบ้าง แต่ท่านเป็นคนทำงาน จึงทำให้คนอยากมาสัมผัส ท่านแวะหนองมน คนที่นั่นไม่ใช่เสื้อแดงทุกคนก็เข้ามาหา เพราะมองด้วยเหตุผล เป็นคนที่มีเสน่ห์ ความงาม เป็นจุดที่ทำให้เรื่องการเมืองคนที่ได้สัมผัสความมุ่งมั่น ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาหลายเรื่องจะเบาลง หากมุ่งทางการเมืองอย่างเดียวจะเกิดผลกระทบหลายเรื่อง แต่เดินหน้าการทำงานให้เกิดประโยชน์การเมืองมากที่สุด สิ่งที่จะกระทบก็จะมีเกราะป้องกัน ตนเชื่อว่า ถ้าคนแยกแยะความคิดผลสัมฤทธิ์ทางนโยบาย ก็เหมือนมีฟิล์มบางๆ มาเป็นเกราะทำให้คนมองดูว่าเรื่องการเมืองก็มีการทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้จุดเปลี่ยนทางการเมือง เป็นสิ่งมาช่วยป้องกัน ผมเชื่อว่าการทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อประชาชนจะเป็นการแก้เคล็ดได้ดีที่สุดของรัฐบาล รัฐบาลทำทั้งนโยบาย ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว การเมืองก็เดินหน้า” นายสนธยากล่าว

เมื่อถามว่า ความรู้สึกส่วนตัวหลายคนมีความเห็นว่านักการเมืองช้าอยู่กับที่ ฐานะนักการเมืองรู้สึกอย่างไร นายสนธยา กล่าวว่า ยอมรับ เพราะที่ผ่านมาค่อนข้างมีความวุ่นวายทางการเมืองตลอดเวลา อยู่ที่เราจะทำให้สังคมยอมรับกลับคืนมาขนาดไหน เพราะบ้านเมืองวุ่นวายทางธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ ทุกวันเราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสร้างให้เกิดจุดเริ่มต้นให้คนมองการเมืองด้วยความศรัทธา ตนเชื่อว่ามุมมองที่คนมองข้างนอกเข้ามาข้างในกับคนข้างในเวทีมองนั้นต่างกัน แต่สุดท้ายอยู่ที่บทสรุปภาพรวมนี้เป็นอย่างไร ซึ่งในอนาคตต้องเกิดเครื่องหมายบวกและสิ่งที่ดี

“อยากให้ทุกอย่างเป็นในทางที่ดี เพราะปัจจุบันเราอยู่ท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน เราเองต้องมีกติกาของภูมิภาค เมื่อเข้ามาแล้วเรามองว่าประเทศเราจะมีความสามารถในการแข่งขันครบทุกด้านได้ขนาดไหน ผมเชื่อว่าทุกคนก็มีการเตรียมตัว การเมืองก็จะเป็นคนกำหนดกติกาการบริหารประเทศ กำหนดนโยบายไปสู่เป้าหมาย ที่ต้องพิจารณารอบด้านทุกอย่างที่เป็นตัวแปร อยากให้ทุกคนทุกฝ่ายคำนึงถึงทุกๆ เรื่อง” นายสนธยา กล่าว
สนธยา คุณปลื้ม (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น