xs
xsm
sm
md
lg

“สุรเกียรติ์” ซัดสภาทำปรองดองผิดที่ผิดเวลา ชี้ต้องประชาเสวนาก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต รมว.กต.ชี้สถาบันถูงโยงความขัดแย้งตั้งแต่ปี 48 ระบุการอ้างเพื่อประโยชน์ไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะไทยไม่มีระบบโฆษกของกษัตริย์ทำคนเข้าใจผิดจนนำไปสู่ความคับแค้นใจต่อผู้เสียประโยชน์ แนะเลิกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม หนุนเปิดเวทีแก้ ม.112 ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมแต่เวลานี้ยังไม่พร้อม ยันเริ่มปรองดองที่สภาผิดที่ผิดเวลา ต้องทำประชาเสวนาก่อน ให้ คอป.-ส.พระปกฯ เริ่ม

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในเวทีการเสวนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ ชุดโครงการ “ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดอง” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่า นับตั้งแต่ปี 2548 มีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งที่ซับซ้อน ภายใต้โครงสร้างอำนาจ ที่ไม่เท่าเทียมค่อนข้างมากโดยมีการโจมตีสถาบันทั้งที่เริ่มต้นจากความรู้สึก ถึงกระทั่งที่มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งนำไปสู่การป้องกันและตอบโต้การโจมตีเหล่านั้น อีกทั้งมีการนำไปสู่การใช้สถาบัน เพื่อสนับสนุนจุดยืนของตนเอง ทั้งการอ้างสถาบันทั้งในที่ลับและที่แจ้งเพื่อประโยชน์ต่างๆ นานา

“ที่สำคัญคือไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะประเทศไทยไม่มีระบบโฆษกของพระมหากษัตริย์ เหมือนกับบางประเทศ แต่โฆษกของพระมหากษัตริย์ไทยกว่า 60 ปีที่ผ่านมานั้น คือ งานของพระองค์ท่าน เมื่อเกิดการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ต่างๆ นั้นก็ทำให้เกิดการเข้าใจผิดต่อสถาบันและสมาชิกของสถาบันที่นำไปสู่ความน้อยใจ คับแค้นใจของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ประโยชน์จากการกล่าวอ้างนั้น ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตาม” นายสุรเกียรติ์กล่าว

นายสุรเกียรติ์กล่าวต่อว่า นี่คือรากเหง้าของปัญหาข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางรากเหง้าอื่นๆ ของโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคมไทย สำหรับทางออกนั้นจะต้องหยุดการโจมตีที่ไม่เป็นธรรมต่อสถาบัน ที่จะทำให้การตอบโต้หยุดด้วย อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่มีมาโดยตลอด และก็คงจะมีได้บ้าง แต่เมื่อมีการโจมตีและใส่ความที่ไม่เป็นความจริงมากขึ้น ถึงเวลาต้องหยุดการกล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ของตน และถึงเวลาที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะโตและแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ด้วยตนเองได้แล้ว

นายสุรเกียรติ์ยังกล่าวถึงกรณีมาตรา 112 ว่าควรต้องมีเวทีที่จะออกแบบวิธีการหรือรูปแบบที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เพื่อการเสวนาที่สร้างสรรค์และเคารพพัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าจะดำรงอยู่อย่างไร แต่ช่วงเวลาในขณะนี้คงยังไม่เหมาะสมนัก โดยเชื่อว่าคณะกรรมการกลั่นกรองที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วนจะช่วยทำให้มาตรา 112 ในโครงสร้างที่จำเป็นต่อวัฒนธรรมไทยดำเนินต่อไปได้

นอกจากนี้ นายสุรเกียรติ์ยังกล่าวถึงแนวทางของการปรองดองด้วยว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกที่ประเทศไทยเริ่มต้นพูดเรื่องการปรองดองในสภาฯ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว สภาฯ เป็นโครงสร้างที่ไม่ปรองดอง เนื่องจากมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่มีฝ่ายค้านที่ไหนจะมีหน้าที่ปรองดองรัฐบาล

“ผมเห็นว่าเราคงจะเริ่มผิดที่และเริ่มเร็วเกินไป โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า การปรองดองน่าจะเริ่มทำกันในสังคมก่อน ทั้งในระดับประชาเสวนาหาทางออก (Public Deliberate) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและทางออกของคนทั่วประเทศ โดยทำคู่ขนานไปกับ เสวนาหาทางออก (Deliberative Dialogue)” นาย.สุรเกียรติ์กล่าว

ส่วนกลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งกันในขณะนี้นั้น นายสุรเกียรติ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าไม่มีใครสามารถเป็นคนกลางได้ เราต้องสร้างคนกลางที่ไม่ใช่คน เพราะอาจหาคนไม่ได้และก็ไม่ควรจะหา ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ กลุ่มของผู้หาช่องทางหรือผู้เอื้อกระบวนการให้ เช่น คอป. สถาบันพระปกเกล้า หรือองค์กรอื่นๆ ดึงคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาเสวนาหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวคิดการปรองดอง เช่น เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี พรรคการเมือง 2-3 พรรค ฝ่ายความมั่นคง ตุลาการ ฝ่ายวิชาการและสื่อ

“เสวนาเพื่อให้ได้ประเด็นที่รับได้และรับไม่ได้ร่วมกัน บางประเด็นขับเคลื่อนได้ บางประเด็นต้องใช้เวลา เมื่อเริ่มเห็นใกล้กัน ในขณะที่ภาคประชาสังคมก็เริ่มเห็นคล้อยไปด้วย จึงค่อยนำเสนอต่อสภาฯ ให้เกิดผลเชิงปฏิบัติ โครงสร้างการเผชิญหน้าในสภาฯ ก็จะไม่เป็นปัญหา และจะเป็นกระบวนการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคม เป็นแนวทางที่สร้างกระบวนการที่ทำงานได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและความมีส่วนร่วม เพราะปรองดองเป็นเรื่องของทุกคน ที่สำคัญจะสร้างความเป็นผู้ใหญ่ ให้กับสังคมในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องหันไปหา นาย ก.หรือนาย ข.จากประเทศอื่น” นายสุรเกียรติ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น