“คอป.” ออกจดหมายเปิดผนึก ห่วงสถานการณ์รุนแรง หลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองอย่างรวบรัด เร่งรีบ คำนึงถึงผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าประเทศชาติ จี้ “รัฐบาลปู-ส.ส.เพื่อไทย” ทบทวน แนะจัดเวทีเสวนาระดมความเห็นก่อนดำเนินการ ขณะเดียวกันยังเสนอ ศาล รธน.ควรละเอียดรอบคอบในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของคดี พร้อมให้ตำรวจดำเนินการกับผู้ชุมนุมอย่างเคารพหลักสิทธิและเสรีภาพตามกรอบกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ได้ออกจดหมายเปิดผนึก ในนามคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เรื่องข้อเสนอแนะของ คอป.ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
“โดยเนื้อหาระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ คอป.มีความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่า หากกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติดำเนินการอย่างไม่เหมาะสมโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวอาจบานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่นำมาซึ่งความรุนแรงและความสูญเสียที่มิอาจประเมินได้
เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมและส่งเสริมให้เกิดความปรองดองของ คนในชาติ คอป. ขอเน้นย้ำถึงการยึดถือและปฏิบัติตามหลักการสำคัญที่ปรากฏในข้อเสนอแนะตามรายงานความคืบหน้า คอป. ครั้งที่ ๓ โดยเฉพาะข้อ ๓.๑ ว่า “กระบวนการปรองดอง เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา ความอดทน และการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนในประเทศ…การดำเนินการใดๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยพยายามที่จะรวบรัดหรือเร่งรัดกระบวนการปรองดองนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เอื้อต่อบรรยากาศของการปรองดอง ทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความพร้อมในการเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออกไปสู่ความเข้าใจที่ดีของคนในสังคมและการปรองดองในชาติต่อไป ดังนั้น การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปรองดองจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ โปร่งใส และตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”
นอกจากนี้ คอป.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตุลาการ กลุ่มบุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติทุกฝ่าย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ คอป.เห็นว่าการกระทำใดๆ เพื่อเร่งรัดให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยรัฐสภาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม และเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ อันอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ในอนาคต คอป. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาทบทวนการเร่งรัดเพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อลดกระแสความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม รวมทั้งป้องกันมิให้เกิด การเคลื่อนไหวใดๆ อันอาจเป็นการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้
นอกจากนี้ คอป.เห็นว่ารัฐบาล รัฐสภา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจัดให้มีเวทีสาธารณะและเวทีประชาเสวนา รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูล เหตุผลความจำเป็น ข้อคิดเห็น และประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและสังคมทุกภาคส่วนได้รับทราบและมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพิจารณาและแสดงความคิดเห็นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ร่างพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการใช้ สิทธิทางการเมือง และการกระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง อันเป็นเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมของสังคมต่อการก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นร่วมกัน
ข้อ ๒ คอป. เห็นว่ารัฐสภาเป็นสถาบันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของรัฐสภา คอป. มีความกังวลต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ว่าจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ไม่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่ของรัฐสภา คอป. เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งบรรทัดฐานที่ดีในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน และเป็นการส่งเสริมบรรยากาศอันดีในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ข้อ ๓ คอป. เห็นว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น องค์กรตุลาการเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นสถาบันหลักในการรักษากฎหมายและธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในการนี้ จึงมีความจำเป็นที่องค์กรตุลาการต้องรักษาไว้ซึ่งหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและยึดถือหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ซึ่งต้องพึงกระทำอยู่แล้วตามปกติ แต่ในภาวะที่ประเทศชาติมีความขัดแย้งเช่นนี้ องค์กรตุลาการยิ่งต้องใช้ ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในการมีคำสั่ง การวินิจฉัย คำร้อง หรือการพิจารณาพิพากษาคดีใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง
ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังเป็นพิเศษในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีและหลักกฎหมายด้วยความเที่ยงธรรม โดยคำนึงถึงหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หลักความเป็นกลาง หลักทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจตุลาการโดยชอบด้วยกระบวนการ ตามกฎหมาย และการตีความตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ เพราะหากสาธารณชนเกิด ความเคลือบแคลงสงสัยว่าองค์กรตุลาการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความถูกต้องตามกฎหมายและประสาทความยุติธรรมให้กับสังคมโดยชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรมแล้ว อาจนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตุลาการ ระบบกฎหมาย และหลักนิติธรรมของประเทศได้
ข้อ ๔ คอป. เรียกร้องให้ประชาชนและสังคมทุกภาคส่วนเคารพกระบวนการตามกรอบของกฎหมายภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเคารพสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็นตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยใช้กระบวนการทางสันติวิธีเพื่อจัดการความขัดแย้ง และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง
ข้อ ๕ คอป. เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการควบคุมฝูงชนดำเนินการโดยเคารพหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกรอบรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๖ คอป. เรียกร้องให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทุกฝ่าย พึงตระหนักว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อประเทศไทย ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่นำเอาข้อได้เปรียบทางการเมืองมาใช้เป็นประโยชน์ ในการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและความแตกแยกของคนในสังคมเพื่อความได้เปรียบเฉพาะหน้า และขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียย้อนกลับมาอีก และร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง