คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน ถกสาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบปัจจุบันสาระสำคัญ-ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังเข้าใจไม่ตรงกัน มอบหมายผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ศึกษารวบรวม ก่อนทำความเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยน-ล้มล้างหรือไม่ ชี้ ครอบคลุมการแก้ไขมาตรา 291 และการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 68 “กิตติศักดิ์” เผย การแก้รัฐธรรมนูญอาจกระทบระบอบการปกครอง แต่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกิตติศักดิ์ ปรกติ โฆษกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงประเด็นที่เป็นสาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตกลงว่าจะมีการพิจารณาเรียงเป็นหมวดไป ซึ่งเรื่องที่พูดกันมาก คือ สาระสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใช้บังคับ แก่กรณีนั้นๆ หรือมาตรา 7 เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน แม้จะมีผลการศึกษาอยู่ค่อนข้างมากก็ตาม ทางคณะกรรมการจึงมอบให้ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ที่เป็นกรรมการอยู่ ไปทำการศึกษารวบรวมความหมายของประเด็นดังกล่าว เพื่อนำมาพูดคุยในการประชุม และวางแนวทาง ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แท้จริงคืออะไร ในการประชุมครั้งหน้า หลังจากนั้น ก็จะมีการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของการชุมนุม การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และขอบเขตสิทธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่
“เรื่องระบอบการปกครอง ขณะนี้ก็เชื่อมโยงกับปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 291 บัญญัติว่า ห้ามมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ที่พูดกันตอนนี้ หรือที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ก็คือ เรื่องของการล้มล้าง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บัญญัติคำนี้ ดังนั้น ทางคณะกรรมการ เห็นว่า การจะบอกว่าเป็นการเปลี่ยน หรือเป็นการล้มล้าง เราจะต้องมีความเข้าใจที่ถ่องแท้เสียก่อน ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันเป็นอย่างไร โดยการพิจารณาของคณะกรรมการ ก็จะครอบคลุมทั้งมาตรา 291 และ 68 ซึ่งที่เราเริ่มเรื่องนี้ก่อน เพราะมันเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายกิตติศักดิ์ กล่าวและว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะกระทบต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ว่างเว้นมาจากการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน และการประชุมครั้งนี้มีคณะกรรมการ เข้าร่วมประชุมเพียง 5 คน จากทั้งหมด 10 คน คือ นายวิษณุ เครืองาม ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายบวรศกดิ์ อุวรรณโณ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ นายจรัส สุวรรณมาลา และ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ