ครม.เห็นชอบแผนพัฒนา “ดอนเมือง” ใช้คู่ขนาน “สุวรรณภูมิ” ดัน “โลว์คอสต์” ไปลงที่เดิมเต็มตัว หวังให้ประโยชน์คุ้มค่า ลดปัญหาเสื่อมสภาพของสนามบินเก่า ขณะเดียวกัน วาง 5 แนวทางแก้ปัญหา “มาบตาพุด” ครบวงจร สั่งเพิ่มแผนรับมือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม ให้ “ระยอง” นำร่องพื้นที่อุตฯเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อม มท.ศึกษาวางผังเมืองใหม่ด้วย
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักรนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศของประเทศ อีกทั้งยังเพื่อเป็นการบรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานสำรองในกรณีเกิดเหตุการณ์ต่างๆ และเพื่อเพิ่มรายได้ลดการขาดทุนสะสม รวมทั้งแก้ปัญหาการด้อยค่าทรัพย์สินของท่าอากาศยานดอนเมือง
นายชลิตรัตน์กล่าวว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลัก รองรับเที่ยวบินแบบเต็มรูปแบบ และเที่ยวบินที่มีการเชื่อมต่อ เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองให้เป็นท่าอากาศยานรองรับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์ และเส้นทางการบินระหว่างหรือในประเทศแบบจุดต่อจุด บนหลักการของความสมัครใจของสายการบิน เพื่อเป็นการใช้ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ยังได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมศุลกากร และกรมสรรพกร สังกัดกระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องของด่านตรวจพืช สัตว์น้ำ และด่านกักกันสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม บริษัท วิทยุการบินแห่งเทศไทย จำกัด ในสังกัดกระทรวงคมนาคม กรมจัดหางาน ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ด่านควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานอาหารและยา (อย.) ของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้สนับสนุนและเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน เพื่อรองรับสายการบินที่จะย้ายมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
“นายกฯ ได้กำชับให้ทุกฝ่าย ใช้สนามบินให้เต็มศักยภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องเที่ยวบินที่มีการเชื่อมต่อระหว่างสุวรรณภูมิ และดอนเมือง”
นายชลิตรัตน์แถลงอีกว่า คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในเรื่องแผนการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างครบวงจร รวมไปถึงปัญหาสำคัญในพื้นที่ เช่น ปัญหาด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การบริหารจัดการ และปัญหาด้านกายภาพโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้มีการนำเสนอควบคู่กับแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้สั่งการใน 5 เรื่องหลัก คือ 1. การซ้อมแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน และเพิ่มเติมแผนเกี่ยวกับภัยธรรมชาติเข้าไปด้วย 2. ขอให้จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่มาก อาทิ จ.ระยอง จ.พระนครศรีอยุธยา กำหนดแผนมาตรการไปสู่พื้นที่สีเขียว เพื่อให้อุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตรวจสอบคุณภาพของโรงงานอย่างเข้มงวด โดยเริ่มจาก จ.ระยอง ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ
3. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาการวางผังเมืองมาบตาพุด ให้มีการแบ่งเขตและโซนนิ่งอย่างชัดเจน ระหว่างพื้นที่สีเขียว พื้นที่ชุมชน และพื้นที่โรงงาน 4. ให้ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ติดตามผลและรายงานเพิ่มเติมในการให้อุตสาหกรรมจังหวัด จัดทำแผนป้องกันความเสี่ยง และ 5. ให้กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ไปดำเนินการสำรวจความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของประชาชนในเรื่องการตรวจสุขภาพ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป