xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” แนะรัฐจับตากรีซหลังเลือกตั้ง รับมือกระทบส่งออกไทยหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
อดีตรัฐมนตรีคลังจับตาสถานการณ์หลังพ้นเลือกตั้งกรีซมีผลต่อยุโรปอย่างไร รับหากกำลังซื้อลดกระทบต่อการค้าแน่ แต่ชี้ยังไม่ถึงขั้นทำไทยวิกฤตทันที ห่วงกระทบเอสเอ็มอีกลางและเล็ก จี้รัฐเร่งแก้ปากท้องมากกว่าการเมือง พร้อมดูมาตรการรับมือ ระบุ “กิตติรัตน์” ตั้งเป้าจีดีพีเกินความจริง แนะคุยกระทรวงอื่น-เอกชน

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากการเลือกตั้งกรีซต้องรอดูสถานการณ์โดยรวมว่าจะมีผลอย่างไรต่อการรวมตัวของกลุ่มประเทศยุโรป และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรปอย่างไรต่อไป ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมาก ดังนั้น หากกำลังซื้อจากประเทศในกลุ่มยุโรปลดลงก็จะส่งผลต่อการค้าขายทั้งทางตรงกับยุโรป และทางอ้อมกับประเทศที่เป็นคู่ค้าของยุโรปอีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การคลังของประเทศขณะนี้ ยังไม่ทำให้เกิดผลถึงขั้นวิกฤติต่อไทยในทันที ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกกับประเทศยุโรปเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น แต่ก็ยังต้องระวังผลกระทบทางอ้อม ซึ่งเรื่องนี้ก็จะเป็นประเด็นรุมเร้าของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ถ้ามีปัญหาเรื่องอุปสงค์ที่ลดลงจากวิกฤติยุโรปก็จะยิ่งเป็นปัญหา

“จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนจากรัฐบาล ซึ่งอยากให้รัฐบาลมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องมากกว่าปัญหาการเมือง ทั้งนี้ แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่พิมพ์แบงก์เองได้ยังประสบวิกฤตได้ ขนาดประเทศยุโรปที่รวมตัวกันสิบกว่าประเทศยังประสบวิกฤตด้วย ดังนั้นประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ พึ่งพาการส่งออกต้องหามาตรการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวอีกว่า กรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ออกมาประเมินว่าจีดีพีปีนี้การส่งออกจะขยายตัว 15% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าจะขยายตัวเพียง 8% นั้น แต่จะเห็นว่าที่ผ่านมา 4 เดือนการส่งออกยังติดลบ ดังนั้นตัวเลข 15% อาจจะเป็นการตั้งความหวังมากกว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งประเด็นขณะนี้เราต้องปรับสมดุลการออกส่งให้มากขึ้น พัฒนาให้ระบบเศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ จากการประเมินสถานการณ์แก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมายังไม่เห็นออกมาพูดถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากนัก ปล่อยให้รัฐมนตรี 1-2 คนออกมาพูดถึงการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีการกำหนดท่าทีทิศทางที่ชัดเจนจากผู้นำสูงสุดของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายกิตติรัตน์นั้น ที่ผ่านมาเห็นความตั้งใจในหลายเรื่อง แต่การทำงานต้องทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ซึ่งต้องสอดคล้องกัน รวมทั้งต้องหารือกับภาคธุรกิจ เอกชน ไม่ใช่แค่การทุบโต๊ะสั่งเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น