xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ชี้ผลโหวตค้านคำสั่งศาลฯ แค่ถอดชนวนขัดแย้งชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ (แฟ้มภาพ)
“ประธานวิปฝ่ายค้าน” เหน็บประธานสภานัดประชุมต่อหวังแก้เกี้ยวหนีข้อครหาขยายสมัยประชุมเพื่อแก้ รธน.ออกกฎหมายล้างผิด ชี้ผลโหวตญัตติต้านคำสั่งศาลฯ สะท้อน พท.บางคนจำนนต่อเหตุผล หากไม่รับคำสั่งศาลฯ จะมีปัญหาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะกับ “นายกฯ ปู” แต่ผลการลงมติแค่ถอดชนวนขัดแย้งชั่วคราว ปัญหายังไม่จบ


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปค้าน) กล่าวถึงประเด็นที่มีความกังวลว่าในการประชุมสภา วันนี้ (13 มิ.ย.) อาจจะมีการสอดไส้วาระร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติว่า ตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ มองว่าการนัดประชุมสภาฯ ในวันนี้ (13 มิ.ย.) เป็นการนัดแก้เกี้ยวเพื่อหลบข้อหาว่าขยายสมัยประชุมเพียงเพื่อพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายล้างผิดแต่เพียง 2 เรื่องเท่านั้น จึงมีความพยายามที่จะนัดประชุมสภาฯ ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อมีการนัดประชุมพวกตนก็ไม่ปัญหาแต่เหตุการณ์เมื่อวานนี้ (12 มิ.ย.) สะท้อนอะไรบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคแกนนำรัฐบาลก็มีปัญหาในเรื่องขอความคิดที่แตกต่างกัน โดยสะท้อนมาถึงในเรื่องของการลงคะแนนเสียง ซึ่งตนมองส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลายคนจำนนกับเหตุผลที่ว่าหากไม่รับฟังคำสั่งของศาลรัฐธรรมก็อาจจะมีปัญหาต่อการลงมติในวาระ 3 อีกทั้งยังเกรงว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะการเร่งรัดลงมติในวาระ 3 ในร่างรัฐธรรมนูญที่ยังมีปัญหาก็เท่ากับว่าเอารัฐธรรมนูญที่มีปัญหาไปให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วันนับแต่วันที่รับคำสั่งเท่ากับว่านายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นมลทินขึ้นทูลเกล้าฯซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง

นายจุรินทร์กล่าวว่า ผลการลงมติที่เกิดขึ้นเมื่อวานสะท้อนให้เห็นว่ามี ส.ว.หลายคนที่ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแค่การถอดชนวนเพื่อให้ความขัดแย้งยุติชั่วคราวตนเชื่อว่าเรื่องนี้ยังไม่จบและยังมีความพยายามที่จะต้องผลักดันอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ การแก้รัฐธรรมนูญ และการผลักดันกฎหมายล้างผิด เพราะถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำให้เสร็จตามใบสั่ง ซึ่งชนวนความขัดแย้งก็ยังคงค้างคาอยู่ เพียงแต่รอว่าจะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากดูจากผลการลงคะแนนพบว่ามี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยจำนวน 17 คนที่ไม่ร่วมลงมติในญัตติดังกล่าว นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนมองว่าหลายคนอาจจะมีความกังวลว่าหากมาลงมติก็จะมีความผิดติดตัวไปด้วยและจะมีผลกระทบต่อสถานะภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะคำสั่งศาลได้มีการสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่ง ส.ส.ก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

ส่วนกรณีที่นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการให้ความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปอย่างไม่ชอบฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายมาล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องในอนาคต เพราะ 3 อำนาจทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการก็คานกันอยู่ ซึ่งศาลก็มีอำนาจในฐานะตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีอำนาจในการออกกฎหมาย ทั้งนี้ เรื่องทั้งหมดต้องอยู่ที่ความสมดุลระหว่างแต่ละอำนาจว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนมองว่าปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาเรื่องอำนาจท้วงดุล แต่มีปัญหาเรื่องตัวบุคคลที่ไม่พอใจศาลและนำมาซึ่งความคิดที่ต้องการไปลบล้างอำนาจศาลโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือดำเนินการด้วยวิถีทางใดวิถีทางหนึ่ง ส่วนที่ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องไปชี้แจงต่อศาลหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถตอบได้แต่เห็นควรว่าจะต้องเป็นไปตามระเบียบ
กำลังโหลดความคิดเห็น