ข่าวปนคนฯ
ดูแล้วทางออก สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา มีอยู่ 2 ทางเท่านั้น ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 12 มิถุนายน 2555
1.ปล่อยให้สมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไปเรื่อยๆ ในเรื่อง คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีหนังสือแจ้งให้ประธานรัฐสภาให้รอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องที่มีผู้ร้องว่า การแก้ไขรธน.ครั้งนี้เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา68
นั่นก็คือ สมศักดิ์ปล่อยให้อภิปรายจนหนำใจ สลับกับให้ฝ่ายส.ส.ประชาธิปัตย์รวมถึงสว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่างได้อภิปรายกันเต็มที่ แล้วก็เลิกรากันไป ถือว่ารับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นก็ประชุมระเบียบวาระอื่นๆ
2.ยอมให้มีการโหวตเสียงถามความเห็นในที่ประชุมรัฐสภาตามที่พวกส.ส.เพื่อไทยต้องการ โดยการถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ กับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการโหวตแก้ไขรธน.วาระ 3 ไปก่อนจนกว่าศาลรธน.จะวินิจฉัยเสร็จ
หากว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย คือให้รอไปก่อน ก็จบเกม ก็ต้องรอไปจนถึงกลางเดือนกรกฏาคม ที่ศาลรธน.จะวินิจฉัยเสร็จช่วงนั้น หลังมีการเปิดศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนรับฟังข้อเท็จจริงจากคู่กรณีคือทั้งฝ่ายผู้ร้องอย่าง กลุ่มพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม-วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายผู้ถูกร้องซึ่งก็จะส่งตัวแทนมาชี้แจงต่อศาลทั้งตัวแทนคณะรัฐมนตรี -พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ศาลรัฐธรรมนูญคาดว่าเมื่อเปิดศาลไต่สวนในวันที่ 5 และ 6กรกฏาคมแล้ว ก็น่าจะวินิจฉัยได้เสร็จภายในไม่เกิน 7 วันจากนั้นก็จะตกช่วงกลางเดือนกรกฏาคมพอดี
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาแล้ว ค่อยมานัดหมายประชุมรัฐสภากันอีกครั้งหนึ่ง
หากว่าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ทุกอย่างก็เดินหน้าต่อไป ก็นัดประชุมรัฐสภา ลงมติในวาระ 3ช่วงกลางเดือนกรกฏาคมไปเลย หากยังไม่มีการปิดประชุมสภาฯตอนนั้น หรือถ้าปิดไปแล้วก็อาจขอเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญหรือไม่ก็รอไปโหวตกันในช่วงเดือนสิงหาคมที่มีการเปิดสภาฯสมัยสามัญก็ยังได้
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเพื่อไทยที่มีข่าวว่าเดินสายล็อบบี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและสว.อีกหลายสิบคนแล้ว ส.ส.หลายคน เห็นว่า ควรให้โหวต “ไม่เห็นด้วย”กับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญโดยหากรวบรวมเสียงจนมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเอาด้วย ก็จะพากันขอไปตายดาบหน้าด้วยกัน
ด้วยการลงมติไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าออกมาแบบนี้ คือ มติที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลรธน. ก็จะมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ3 ในอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดไป คือประมาณ 19 มิถุนายน ซึ่งมีข่าวว่าเพื่อไทย วางล็อกวันเอาไว้แล้ว
2 ทางเลือกดังกล่าว ถือเป็นอำนาจของสมศักดิ์ ประธานรัฐสภาที่จะตัดสินใจ คือจะปล่อยให้การประชุมวันที่ 12มิถุนายนดำเนินไปเรื่อยๆ พอเห็นว่าอภิปรายกันพอสมควรแล้ว ก็สั่งยุติการประชุม แล้วไปประชุมพิจารณาวาระอื่นต่อไปคือเรื่องการให้ความเห็นชอบร่างข้อตกลงระหว่างประเทศตามรธน.มาตรา190 ที่ค้างอยู่ 6 เรื่อง
แต่มาติดปัญหาที่ว่าหากประชุมกันไปเรื่อยๆ แล้วเกิดพวกส.ส.เพื่อไทย ดันเสนอพรวดให้มีการลงมติว่าให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่าเห็นด้วยกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ควรต้องปฏิบัติตามหรือไม่ ซึ่งมีส.ส.เพื่อไทยบางคนเสนอความเห็นไปแล้วในการประชุมรัฐสภาช่วงท้ายวันที่8 มิ.ย.2555 ที่ผ่านมา
หากส.ส.เพื่อไทยยังดึงดันจะเอาแบบนี้อีกต่อไป สมศักดิ์ ก็อยู่ในสถานะลำบาก เพราะใจจริงแล้ว ก็เชื่อว่า สมศักดิ์ รู้ดีว่าหากจะดันทุรังให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรธน. ก็จะติดขัดปัญหามากมายตามมาไม่จบสิ้น
เพราะฝ่ายค้านและสว.ก็จะมีการนำมติดังกล่าวที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลรธน.ที่ให้ชลอเรื่องไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกว่า เป็นการลงมติที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องก็จะยาว บานปลายออกไปอีก
กระนั้น หากมีส.ส.เพื่อไทย เสนอเรื่องในที่ประชุมให้มีการโหวตขึ้นมาจริง สมศักดิ์ ในฐานะประธานรัฐสภา จะปฏิเสธไม่ให้เสนอก็อาจไม่ได้ถ้ามีการเสนอถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม แต่ฝ่ายค้าน-สว. ก็ต้องไม่ยอม
สุดท้ายถ้าตกลงกันไม่ได้ สมศักดิ์ ก็อาจต้องสั่งปิดประชุมกันไปอีกครั้งเหมือนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ผลการหารือของวิปสามฝ่ายคือวิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้านและวิปวุฒิสภา ไปหารือกันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ เลยต้องปิดประชุมไปเพื่อหนีปัญหาก่อน แต่หากประชุมวันที่ 12 มิ.ย.55 ยังตกลงกันไม่ได้อีก ครั้งนี้ สมศักดิ์ จะใช้วิธีการปิดประชุมหนีปัญหาอีกไม่ได้แล้ว คาดว่าจะต้องหาข้อยุติให้ได้ภายใน12 มิ.ย.นี้
การตัดสินใจว่าจะใช้ทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ข้างต้น ของสมศักดิ์ในวันที่12 มิ.ย.จึงน่าจะเป็นการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตการเมืองของ “ค้อนปลอม”อีกครั้งหนึ่ง
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ฝ่ายส.ส.เพื่อไทย-ส.ส.เสื้อแดงในพรรคกับสายทักษิณ ชินวัตรรวมถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มเห็นไม่ตรงกัน
เพราะฝ่ายส.ส.เพื่อไทยเช่น เฉลิม อยู่บำรุง-วัฒนา เมืองสุข-อภิวันฑ์ วิริยะชัย -สุนัย จุลพงษธร เห็นว่าต้องเดินหน้าชนกันให้แหลกกันไปข้าง เนื่องจากแนวร่วมที่เห็นว่าศาลรธน.ทำไม่ถูกมีมากขึ้น
ยิ่งมาได้ข้อสรุปจากคณะทำงานพิจารณาเรื่องคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสำนักงานอัยการสูงสุดที่แถลงไปเมื่อ7 มิ.ย. 2555ที่ให้ยกคำร้องที่เป็นกลุ่มเดียวกับที่ไปยื่นศาลรธน.เพราะอัยการเห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา68ฝ่ายเพื่อไทยก็ยิ่งได้ใจ เปิดแนวรบศาลรธน.ทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา กะตีให้น่วมจะได้ยอมสยบ
ส่วนฝ่ายทักษิณ มีข่าวออกมาในช่วงสุดสัปดาห์ว่าอาจยอมให้ส.ส.ในพรรคถอยก่อน เนื่องจากกลัวจะติดล็อกการเมือง เนื่องจากหากมีการโหวตแก้ไขรธน.วาระ 3 ในวันที่ 19 มิ.ย. 2555 โดยรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ตัวนายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วันนับแต่วันที่รัฐสภามีมติ
หากปล่อยขั้นตอนดังกล่าวดำเนินไป สุดท้าย ศาลรธน.ยกคำร้องในช่วงกลางเดือนกรกฏาคมก็ดีไป แต่ถ้าศาลรธน.เห็นว่า ร่างดังกล่าว มีปัญหา ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เสนอเรื่องขึ้นไปแล้ว เกิดเรื่องใหญ่แน่สำหรับยิ่งลักษณ์
ตรงนี้แหละที่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์ เป็นห่วง หากจะดันทุรังกันไป ไม่รอให้จบสิ้นกระบวนความในชั้นศาลรธน.ก่อน
เว้นแต่จะปรับแทคติกบางอย่าง เช่นเลื่อนวันประชุมรัฐสภาโหวตวาระ 3 ออกไปจาก 19 มิ.ย.55 ออกไปอีกสักระยะเพื่อให้ช่วงวันเวลาที่จะโหวตวาระ 3กับช่วงที่ต้องนำร่างรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ออกมาหลังศาลรธน.มีคำวินิจฉัยคำร้องนี้ซึ่งคงไม่เกินกลางเดือนกรกฏาคม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโผล่ขึ้นมา
เนื่องจากหากจะดันทุรังโหวตกันให้ได้ ก็จะมีปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาเช่น หากมีการโหวตไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลรธน.แล้วมีคนไปยื่นศาลรธน.ว่าการลงมติดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรธน.วินิจฉัยกรณีนี้ออกมาอีกว่า เป็นการโหวตไม่ชอบ ทำขัดรธน. ก็จะเกิดกรณี การเอาผิด-ถอดถอนส.ส.-สว.ที่ไปลงมติอีก กลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาซ้อนปัญหาเก่าไปอีก
“ค้อนปลอมดูไบ” จะเอาอย่างไร เดินหน้าก็ลำบาก ถ้าจะหยุดก็โดนพวกส.ส.ในเพื่อไทย หาว่าไม่กล้า ขี้ขลาดตาขาวขาดความเด็ดขาด ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติถูกองค์กรอื่นใช้อำนาจแทรกแซง
เกิดเป็น “ค้อนปลอม” ก็ลำบากเช่นนี้แหละ ถ้าเป็น “ค้อนของจริง”ก็ไม่มีปัญหา