“พล.อ.มาร์ติน อี.เดมพ์ซีย์” ผบ.ทหารสูงสุดสหรัฐฯ ระบุนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา ไม่มีวาระซ่อนเร้นจากเพนตากอน เผยในอนาคตไทย-สหรัฐฯ จะร่วมมือช่วยเหลือด้านมนุษยชน ภัยพิบัติ พร้อมยืนยันให้ความสำคัญภูมิภาคอาเซียน หลังห่วงมา 10 ปี
ที่กองบัญชาการกองทัพไทย วันนี้ (5 มิ.ย.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้การต้อนรับ พล.อ.มาร์ติน อี.เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา หรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองบัญชาการกองทัพไทย ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย. 2555 โดยมีการจัดพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ และจากนั้นได้เข้าพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพ 2 ประเทศ ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือด้านการทหาร และการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวภายหลังการหารือว่า ถือว่าไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์มายาวนานนับเกือบ 180 ปี มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้น และจะร่วมมือกันเพื่อก้าวไปข้างหน้าทั้งการฝึกร่วมเทคโนโลยีต่างๆ
พล.อ.เดมพ์ซึย์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เยีอนเมืองไทย และได้พบกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน โดยสหรัฐอเมริกาจะให้ความสนใจในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาไปให้ความสนใจที่อื่น ดีใจที่จะมาสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในฐานะมิตรประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงกลาโหมอเมริกา (เพนตากอน) เข้าไปเกี่ยวข้องโปรแกรมนาซาเกี่ยวกับการตรวจสภาพอากาศที่อู่ตะเภา พล.อ.เดมพ์ซีย์กล่าวว่า เพนตากอนไม่ได้มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการของนาซาที่อู่ตะเภา ซึ่งเป็นเรื่องขององค์กรด้านพลเรือนที่ดูในเรื่องอวกาศของสหรัฐฯที่เป็นข้อตกลง และโครงการของเพนตากอนที่ดำเนินการที่อู่ตะเภาเป็นในเรื่องของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และในกรณีภัยพิบัติ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและนาซา ไม่มีวาระซ่อนเร้นในการที่จะนำอากาศยานเข้ามาตรวจสภาพอากาศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการที่จะมาใช้สนามบนอู่ตะเภา ที่สำคัญเพนตากอนไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวเตือนรัฐบาลถึงกรณีองค์การการบินอวกาศของสหรัฐอเมริกา (นาซา) ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาของประเทศไทยในการดำเนินการโครงการศึกษาชั้นบรรยากาศ เพราะอาจมีวาระซ่อนเร้น ยัดไส้ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (เพนตากอน) เพื่อพัฒนาดาวเทียมสอดแนมในภูมิภาคอาเซียน