xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส...พิมพ์เขียวรธน.เพื่อไทย เช็คบิลศาลกดหัวตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

กำหนดนัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันอังคารที่ 5 มิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … วาระ 3 คงไม่มีเหตุให้เลื่อนการประชุมออกไป จากผลพวงความร้อนแรงในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพรบ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. …ของสภาผู้แทนราษฏร

ร้อนระอุทั้งในและนอกห้องประชุมสภาฯ ถึงขั้นส.ส.หญิงของพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ต้องฉุดกระชากลากถูกเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฏรกัน จนคนนึกว่า เป็น “สภาไต้หวัน”กันแล้ว และก็ยากจะรู้ได้ว่า

อนาคตของสภาฯชุดนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังจากรัฐสภาโหวตวาระ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายน ก็คงดำเนินต่อไปแน่นอน เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คืออีกแผนหลักของทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยในการวางแผนยึดอำนาจการเมืองไทยทุกอย่างเพื่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลได้ยาวนานที่สุดและปลอดภัยมากที่สุด ลดทอนอำนาจอื่นๆ ทั้งองค์กรอิสระ-ตุลาการ เพียงแต่ขั้นตอนมันล่าช้า กินเวลานาน และความแน่นอนสู้การออกพรบ.ปรองดองไม่ได้ จึงทำให้ต้องผุดกฎหมายปรองดองขึ้นมาแบบรีบเร่ง

“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”จึงขอให้ประชาชนให้ความสนใจในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างกระชั้นชิด เพราะจากการที่เพื่อไทยพยายามเร่งรัดออกกฎหมายปรองดองแสดงให้เห็นแล้วว่า ความคิดในการช่วยเหลือทักษิณ ชินวัตรและหวังทำลายฝ่ายตรงข้าม เป็นบทพิสูจน์ที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ทั้งหมดคือเรื่องที่มีอยู่จริง

แม้ตอนนี้จะมีความพยายามขวางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยวิธีการทางกฎหมายเช่นการที่ส.ส.ประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

กรณีนี้นักกฎหมายมหาชนบางสำนัก ก็ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่รับคำร้อง ด้วยเหตุว่ารัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้วินิจฉัยได้เพราะรัฐธรรมนูญจะให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแค่ว่า พรบ.หรือพระราชกำหนดหรือระเบียบ คำสั่ง อะไรต่างๆ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

จะเป็นเช่นนี้หรือไม่ ก็ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร

ณ จุดนี้ จึงมองไปข้างหน้าก่อน สำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าหากทุกอย่างราบรื่นไม่มีปัญหา กระบวนการต่างๆ ก็จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว หากรัฐสภาโหวตเห็นชอบในวาระ 3 ก็จะต้องไปทำกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อย เช่น การคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดละ 1 คน -การเตรียมเลือกส.ส.ร.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คน-การรับรองผลการเลือกส.ส.ร. เป็นต้น

ถึงจะยังไม่เห็นหน้าค่าตา ส.ส.ร.ทั้ง 99 คน ยังไม่รู้ว่าส่วนใหญ่เป็นสายไหน จะเป็นสายเพื่อไทยเกินครึ่งจนกุมเสียงส.ส.ร.ได้ ที่จะมีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะมีสายประชาธิปัตย์แซมเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันจะเริ่มต้น ก็เริ่มเห็นเค้าลางบางอย่างแล้วว่า ฝั่งเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร เริ่มเตรียมการสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วว่าต้องการให้ออกมาตรงกับพิมพ์เขียวที่ฝ่ายเพื่อไทยวางไว้อย่างไร

ดูได้จากการวีดีโอลิงค์ของทักษิณ ที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อ 19 พ.ค. 2555 จะเห็นได้ว่า ทักษิณ ให้ความสำคัญกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาก มีการเน้นย้ำบอกคนเสื้อแดงว่าขอให้คนเสื้อแดงติดตามการยกร่างรธน.ฉบับใหม่และช่วยกันเลือกส.ส.ร.ที่เป็นนักประชาธิปไตย มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแม้ทักษิณจะไม่ได้พูดตรงๆ แต่ก็ตีความได้ไม่ยากว่า ต้องการบอกคนเสื้อแดงในแต่ละจังหวัดว่าขอให้เลือกผู้สมัครส.ส.สายเพื่อไทยและคนเสื้อแดง

ที่ชัดมากไปกว่านั้นก็คือ ความคิดและคำพูดของแกนนำพรรคเพื่อไทยในสาย 111 ไทยรักไทย ทั้งโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร-พงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรมว.ยุติธรรม-จาตุรนต์ ฉายแสง ที่พ้นโทษแบนคดียุบพรรคไทยรักไทยไปแล้วเมื่อ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา

ซึ่งทั้งโภคิน-พงษ์เทพ-จาตุรนต์ ได้กล่าวแสดงความเห็นทางการเมืองในงานเสวนาที่โรงแรมรามาการ์เดนส์เมื่อ 30 พ.ค. 2555 ที่พวก 111 ทรท.ไปจัดงานนับถอยหลังปลดล็อกการเมืองห้าปีกัน ในหัวข้อ ” 5 ปีที่ฟันฝ่า เดินหน้าประเทศไทย”

แนวคิดเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพวก 111 ทรท.ที่ก็คือแกนนำพรรคเพื่อไทย ถูกนำเสนอและถอดความคิดบนเวทีแห่งนี้ น่าสนใจไม่น้อยเพราะมันพอจะบอกให้รู้ถึงเข็มทิศร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าฝั่งเพื่อไทยต้องการให้มันออกมาแบบไหน

จาตุรนต์ ฉายแสง ที่มีข่าวว่าเป็นแคนดิเดทรัฐมนตรีหากมีการปรับครม. ในอีก 1-2 เดือนนี้ เมื่อถูกพิธีกรถามบนเวทีว่า บทบาทของ 111 ทรท.ทางการเมืองจะเข้าไปทำงานในฝั่งบริหารได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ “จาตุรนต์”ชิ่งตอบไปว่า เรื่องนี้คงตอบไม่ได้ แต่บอกได้ว่า หน้าที่สำคัญของ 111 ทรท.ที่มีมากกว่านั้นคือ ต้องช่วยในเรื่องการรณรงค์ต่อประชาชนให้เห็นความสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จะต้องทำให้ออกมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“จาตุรนต์”พยายามบอกว่าโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างกลไกไม่ให้ประชาชนปกครองตัวเองได้ ถ้าจะให้บ้านเมืองพ้นวิกฤต ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและและแก้กฎหมายสำคัญหลายฉบับเช่นพรบ.พรรคการเมือง เพื่อไม่ให้ยุบพรรคกันได้ง่าย ไม่เช่นนั้นหากปล่อยให้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยังคงอยู่ จะเป็นผลเสียต่อประชาธิปไตย

ที่น่าสนใจ หากใครได้ติดตามชมการถ่ายทอดสดการเสวนาดังกล่าวผ่านทีวีเสื้อแดง เอเซีย อัพเดท จะพบว่า เนื้อหาคำพูดของทั้งโภคิน-จาตุรนต์-พงษ์เทพ มุ่งย้ำไปที่ความพยายามจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการรื้อโครงสร้างของฝ่ายศาล จนถึงขั้นบอกให้ศาลต้องแสดงจุดยืนการเมืองว่าไม่เอารัฐประหารอีกต่อไป

ทั้งที่ศาลไม่สามารถแสดงความเห็นการเมืองใดๆ ได้ แต่พวกแกนนำพรรคเพื่อไทยเหล่านี้ก็กลับจะลากศาลให้มาเกี่ยวข้องการเมือง จนเห็นได้ชัดว่า ฝั่งเพื่อไทย คงจ้องรื้ออำนาจศาลแน่นอน

อย่างการที่”จาตุรนต”พูดบนเวทีว่าหลังจากนี้ต้องไม่ให้ฝายตุลาการเข้ามาแทรกแซงการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ด้วยการที่ศาลยุติธรรมทั้งหมดต้องออกมาเป็นมติว่าศาลจะต่อต้านอำนาจการรัฐประหาร จะไม่ยอมรับคำสั่งรัฐประหารว่าเป็นคำสั่งที่ชอบเหมือนเช่นที่ผ่านมาแล้ว

ที่แรงกว่านั้นก็รายนี้พงษ์เทพ เทพกาญจนาอดีตผู้พิพากษา-อดีตรมว.ยุติธรรม ที่บอกว่า ถึงเวลาที่ตุลาการต้องถูกตรวจสอบ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยต้องให้ฝ่ายศาลถูกตรวจสอบได้ และต้องให้การมีอยู่ของฝ่ายตุลาการยึดโยงกับประชาชน โดยอ้างว่าตุลาการจะเข้มแข็งต้องจำกัดตุลาการที่เลวออกไปจากวงการ อีกทั้งพงษ์เทพ พยายามจะบอกว่า ในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2548มีคนในฝ่ายตุลาการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณทั้งก่อนและหลัง 19 ก.ย. 49

“มีคนในกลุ่มนี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยึดอำนาจทำแบบเปิดเผยโดยไม่อาย แล้วก็มีคนในวงการศาลตอนนั้นไปรับตำแหน่งทั้งรัฐมนตรี ป.ป.ช. คตส. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหลัง 19 ก.ย. 49 สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมไม่เชื่อถือวงการตุลาการ”

“ทีมข่าวการเมือง”ขอบอกว่า เราเห็นด้วยที่อำนาจทุกระบบ ต้องถูกตรวจสอบได้ ต้องยึดโยงกับประชาชน อย่างที่แกนนำเพื่อไทยอย่างพงษ์เทพพยายามจะสื่อสาร แต่สิ่งที่พงษ์เทพไม่ได้บอกก็คือ อำนาจทุกอำนาจก็มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันอยู่แล้ว อย่างฝั่งศาล ก็มีการตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้น เพราะวงการตุลาการเรื่องมัวหมองอะไรต่างๆ แม้เพียงนิดเดียว นอกจากอยู่ในสังคมไม่ได้แล้ว ก็ยังมีบทลงโทษที่เฉียบขาดจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการหรือก.ต.

เพียงแต่พงษ์เทพพยายามโยงไปถึงวงการตุลาการทั้งหมดว่าเชื่อถือไม่ได้ ขาดความเป็นกลาง เพียงเพราะไม่พอใจคนบางคนที่ทำให้ตัวเองโดนตัดสิทธิการเมือง อดเป็นส.ส.-อดเป็นรัฐมนตรี หากจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ควรพูดเป็นรายบุคคลว่าเป็นอย่างไร ไม่ควรเหมารวมทั้งหมด แล้วเอาความคับอกคับใจนั้นมาเหมารวมว่าฝ่ายตุลาการตรวจสอบไม่ได้ ขาดการถ่วงดุล เพียงเพื่อนำมาเสริมน้ำหนักให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากจะมีการเข้าไปรื้อศาล จะได้ไม่ถูกต่อต้าน

เช่นเดียวกับ แนวคิดของ โภคิน พลกุลหนึ่งในทีมกฎหมายของเพื่อไทยที่พูดแล้วทักษิณฟังมากที่สุดคนหนึ่ง ก็ย้ำบนเวทีดังกล่าวว่า สิ่งสำคัญของการเมืองต่อไปนี้คือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแนวคิดของโภคินก็เหมือนคนอื่นๆในเพื่อไทยที่พยายามจะอ้างแต่ว่า รธน.ปี 50 ไม่ได้อย่างงั้น ต้องแก้-ต้องรื้อให้หมด

แล้วก็เสนอแนวคิดที่ตรงกับความคิดของพวกวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำนิติราษฎร์คือเสนอว่าต่อไปนี้ตุลาการศาลสูงทั้งหมดต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสาธารณะด้วยไม่ใช่แค่ยื่นป.ป.ช.อย่างเดียว รวมถึงองค์กรอิสระด้วย แถมยังเสนอด้วยว่า ควรให้ต่อจากนี้ไปนอกจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด-ประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว ผู้พิพากษาศาลสูงอย่างเช่น ศาลฎีกาก็ควรต้องต้องผ่านความเห็นชอบได้รับการรับรองจากรัฐสภาด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้อยู่ในอำนาจทั้งหมดถูกตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ จะได้หมดข้อกล่าวหาเรื่องการไปรังแกกัน

รู้แนวคิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของแกนนำเพื่อไทยแบบนี้แล้ว ขนาดตอนนี้ยังไม่ทันเห็นหน้าตาของส.ส.ร.กันเลย ก็เสนอให้รื้ออำนาจต่างๆ กันมากมายทั้งศาล-องค์กรอิสระ โดยอ้างแต่ว่าเพื่อให้ตรวจสอบได้ ให้ยึดโยงกับประชาชน

แต่ลึก ๆ แล้วก็คือ หวังเปิดช่องให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงได้มากกว่า เอาไว้ถึงตอนร่างรธน.ฉบับใหม่ คงได้เป็นประเด็นร้อนตามมาเหมือนการผลักดันร่างพรบ.ปรองดองแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น