ทีมกฎหมาย ปชป.ยื่นคณะกรมการสิทธิฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก่อนยื่นผู้ตรวจฯ ดำเนินการในวันพรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 พ.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.นนทบุรี ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่าน พล.ต.อ.วันชัน ศรีนวลนัด ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิในกระบวนยุติธรรม และนายไพบูลย์ วราหไพฑูรย์ ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขอให้พิจารณากรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นายวิรัตน์กล่าวว่า ในฐานะประชาชนชาวไทยถือเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องฉบับนี้ต่อกรรมการสิทธิฯ โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 (1) และ (2) เพื่อขอให้กรรมการสิทธิฯ เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งได้แนบเอกสารเป็นสำเนาภาพข่าวในประเด็นเกี่ยวกับ ส.ส.ร.2550 ค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซัดล้มล้างรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาด้วย
“เราใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องไว้และมีอยู่ เมื่อรัฐบาลเพิกเฉยและใช้เสียงข้างมากในสภาดำเนินการในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้มี ส.ส.ร.99 คน ทั้งที่รัฐธรรมนูญ อนุญาตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งก็ควรมีการประชามติก่อนยกร่างแก้ไข และการแก้ก็ไม่จำเป็นต้องแก้กันทั้งฉบับ แต่นี่ใช้อำนาจเผด็จการทางสภา เพื่อตั้ง ส.ส.ร.99 คนขึ้นมาทำหน้าที่ เสร็จแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และเป็นไปได้ว่าน่าจะได้รับโบนัสตอบแทน จากนายใหญ่ ซึ่งบางคนอาจจะได้รับการตอบแทนเป็นตำแหน่งรัฐมนตรี”
นายวิรัตน์กล่าวว่า ส่วนที่ตนรู้ว่า ส.ส.ร.ที่จะมีการเลือกตั้งจะเป็นคนของรัฐบาลทั้งหมด ก็เพราะดูได้จากการเลือกตั้งและฐานเสียงที่มีอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่ามี 45 จังหวัดเป็นของเขา ส่วนนักวิชาการ 22 คนก็เป็นของเขาทั้ง 100% คาดว่าตอนนี้รัฐธรรมนูญฉบับของเขาอาจจะเสร็จแล้วมีพิมพ์เขียวแล้วก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องหวังพึ่งกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ ตรวจสอบ และกรรมการสิทธิ์ฯก็เป็นหนึ่งหน่วยงานที่จะถูกยุบ เหมือน กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบอาจทำให้ถูกมองว่ากำลังดึงองค์กรที่จะถูกยุบมาเป็นพวกตนเอง นายวิรัตน์กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯ มีหน้าที่ดูแลสิทธิของมนุษยชน ฉะนั้น การกระทำใดๆ เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคล กรรมการสิทธิมีหน้าที่ดูแล ซึ่งเราก็ต่อสู้ตามกระบวนการและช่องทางที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ยื่นที่อัยการสูงสุด และวันนี้ (31 พ.ค.) ก็จะไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งองค์กรอิสระที่ยื่นก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตองค์กรใดจะถูกยุบหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องการเอาองค์กรมาเป็นพวก
ด้าน นายไพบูลย์กล่าวว่า ตามขั้นตอนเมื่อรับเรื่องแล้วก็จะนำเข้าอนุกรรมการดูว่าคำร้องมีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เป็นการดูตามอำนาจหน้าที่และบทบัญญัติของกฎหมาย และคณะกรรมการฯ ก็จะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ต่อไป ส่วนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คงต้องดูประเด็นตามคำร้องก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งการพิจารณายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด