xs
xsm
sm
md
lg

พบที่ดินประวัติศาสตร์ “ทุ่งมะขามหย่อง” เปลี่ยนหลายมือ ก่อน “อำพน” ซื้อให้นายกฯ ทูลเกล้าถวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
เผยปูมหลังที่ดินประวัติศาสตร์ “ในหลวง” เคยเสด็จฯ เกี่ยวข้าวเมื่อปี 2539 พบเคยเปลี่ยนมือหลายทอด คุณยายวัย 79 ปีโอดถูกทิ้งร้างไร้การดูแล ก่อนตกเป็นของนายทุนตระกูล “เตชะศิริวรรณ” แต่ปล่อยให้ทำนาโดยไม่คิดค่าเช่าที่ พบ “อำพน” เลขาธิการ ครม.ดอดขอซื้อที่ดิน 20 ล้าน แฉนายกฯ ใช้ทีมงานโทร.แจ้งสื่อขอแก้ข่าวเป็นถวายในนามส่วนตัวไม่เกี่ยวกับตระกูลชินวัตร

หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) เปิดเผยว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ดินแปลงนาที่เคยทรงเกี่ยวข้าวที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในการเสด็จพระราชดำเนินทุ่งมะขามหย่อง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ระบุว่าการถวายครั้งนี้เป็นการถวายในนามของครอบครัวชินวัตร ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินประวัติศาสตร์ เป็นที่ดินที่อยู่บริเวณใกล้กับทุ่งมะขามหย่อง และเราก็อยากรักษาไว้ รอให้เรียบร้อยก่อนค่อยเปิดเผยรายละเอียดในภายหลัง ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ รายงานในวันเดียวกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้ทีมงานโทรศัพท์มาแก้ข่าวกับสื่อมวลชน ถึงการให้สัมภาษณ์เรื่องการถวายที่ดินดังกล่าว ที่ตอนแรกระบุว่า ถวายในนาม “ตระกูลชินวัตร” แต่ขอแก้เป็น “ถวายในนามส่วนตัว” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร โดยทีมงานให้เหตุผลว่า ตัวนายกฯ พูดผิด ซึ่งทำให้สื่อมวลชนต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา บางคนมีการเปรียบเทียบกับกรณีของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่ถูกคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปลดออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ด้วยเหตุผลว่าสื่อสารกันไม่เข้าใจ ถึงขนาดระบุว่าควรปลดตัวนายกฯ ตามนายปิยสวัสดิ์ไปด้วยข้อหาสื่อสารกับสื่อมวลชนและประชาชนไม่รู้เรื่อง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของที่มาที่ไปของที่ดินผืนดังกล่าว พบว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้สัมภาษณ์คุณยายสวัสดิ์ พรหมทัต อายุ 79 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31/2 ม.2 ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งบ้านอยู่ติดกับทุ่งมะขามหย่อง ได้ลงไปในพื้นที่แปลงนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยทรงเกี่ยวข้าวเมื่อปี 2539 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนของทุ่งมะขามหย่อง ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 (ถนนปทุมธานี-บางปะหัน) ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ในพื้นที่หมู่ 2 ต.บ้านใหม่ พร้อมชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันไม่มีเหลือสภาพเค้าโครงหรือสิ่งใดที่แสดงว่าเคยเป็นที่พระองค์ท่านทรงเกี่ยวข้าวเลย โดยเป็นเพียงแค่ข้าวนาปรังของเกษตรกรที่เช่าที่จากนายทุนทำนาเท่านั้น แต่ส่วนด้านหน้ายังเหลือคลองขนาดเล็กกว่าประมาณ 1.5 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร ที่ราดคอนกรีตสำหรับนำน้ำจากทุ่งมะขามหย่องเข้ามาในทุ่งนาที่พระองค์ท่านเคยเสด็จมาเท่านั้น ส่วนป้ายที่บ่งบอกว่าเป็นที่ดินประวัติศาสตร์ไม่มีให้เหลือให้เห็นแล้วเช่นกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีป้ายขนาดใหญ่จัดข้อความและมีเสาหัวกลึงงดงามเป็นจุดที่ติดป้านไว้ ทั้งหมดไม่เหลือให้เห็น

• คุณยายงงถูกนายทุนฮุบที่ดิน-เผยสำนักพระราชวังเคยติดต่อขอซื้อที่ก่อนน้ำท่วม

คุณยายสวัสดิ์เปิดเผยว่า เดิมที่แปลงนาแห่งนี้เป็นของนางมณี เสถียรพจน์ ชาวบ้าน ต.บ้านใหม่ และต่อมามีการซื้อขายเปลี่ยนมือหลายทอด โดยช่วงปี 2539 มีนายทวี พันธุ์เสือ ชาวบ้าน ต.บ้านใหม่ เป็นคนเช่าที่นาแปลงนี้ทำกิน ต่อจากนั้นทราบว่าล่าสุดที่นาแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายทุนคนหนึ่งใน จ.ระยอง ตนเองในฐานะชาวบ้านก็งงกับทางราชการ เพราะสถานที่นี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของชาติไทย แต่ทำไมไม่มีใครคิดจะทำให้สถานที่แห่งนี้สมเกียรติ ทรงคุณค่าแก่ลูกหลาน และประวัติศาสตร์การทำนาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ก็ถูกทิ้งร้างไร้การดูแล ซึ่งก็มีการทำนาปลูกข้าว เข้าใจว่าเป็นที่นากรรมสิทธิ์ของเจ้าของ ไม่ใช่ที่ดินของหลวง แต่ราชการก็ควรติดต่อซื้อคืนมาเพื่อทำ อีกทั้งตรงจุดนี้ติดทุ่งมะขามหย่อง และติดถนนสายสำคัญ เป็นถนนสายหลักของการเดินทางไปภาคเหนือที่ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา หากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ก็จะดีมาก

นอกจากนี้ คุณยายสวัสดิ์เปิดเผยอีกว่า เมื่อก่อนน้ำท่วมปี 2554 สำนักพระราชวังติดต่อผ่าน อบต.ภูเขาทอง และ อบต.บ้านใหม่ มาว่าที่นาที่ในหลวงเกี่ยวข้าวอยู่ตรงไหน ตนเองก็มาดูและทุกฝ่ายในชุมชนก็พยายามที่จะตามหาเจ้าของที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยสำนักพระราชวังแจ้งว่า อยากจะขอติดต่อซื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่ตรงที่ในหลวงทรงเกี่ยวข้าวเพื่อมาทำสถานที่รำลึกถึงพระองค์ท่านที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรโดยเฉพาะชาวนา แต่ทุกอย่างก็อยู่ระหว่าประสานงานและเงียบกันไปถึงวันนี้

• “อำพน” ซื้อที่ดิน 20 ล้าน โอนกรรมสิทธิ์ก่อนนายกฯ ออกข่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ประสานกับกรมที่ดินให้ติดต่อเจ้าของแปลงนาเพื่อซื้อพื้นที่แปลงนาดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนิน ณ ทุ่งมะขามหย่อง และทุ่งภูเขาทอง โดยสำหรับพื้นที่แปลงนาเป็นของตระกูล “เตชะศิริวรรณ” เป็นเจ้าของร่วม รวม 4 คน ประกอบด้วยนายมานิตย์ เตชะศิริวรรณ, นายทวีศักดิ์ เตชะศิริวรรณ, นางสาวพรพัฒน์ เตชะศิริวรรณ และนางสาวปัทมา เตชะศิริวรรณ

โดยที่ดินดังกล่าว มีพื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ 3 งาน แต่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนนสายปทุมธานี-บางปะหัน ไป 1 งาน คงเหลือ 7 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันมีนายทวี พันธุ์เสือ อยู่บ้านเลขที่ 77/13 ต.วัดตูม อ.พระนครศรีอยุธยา ใช้พื้นที่นาปลูกข้าวมาตั้งแต่ปี 2537 และไม่เคยจ่ายค่าเช่าที่นา เนื่องจากไม่มีบุคคลใดในตระกูลเตชะศิริวรรณมาเก็บค่าเช่าที่นา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายทวีมีโอกาสพบกับผู้แทนของตระกูลเตชะศิริวรรณ พร้อมแจ้งให้ทราบว่าได้เข้ามาทำนาตั้งแต่ปี 2537 และยังไม่เคยพบกับเจ้าของที่ดินเลย อย่างไรก็ตาม พื้นที่แปลงนาจำนวน 7 ไร่ 2 งาน ได้มีการติดต่อซื้อขายในวงเงิน 20 ล้านบาท และจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 22 พ.ค. ก่อนจะเป็นข่าวไปเมื่อวานนี้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้อำนวยการแขวงการทางพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่แปลงนาอยู่ตรงข้ามกับทุ่งมะขามหย่อง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเกี่ยวข้าวและเปิดประตูน้ำเข้านา
ข่าวในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อ 11 พ.ค. 55
คุณยายสวัสดิ์ พรหมทัต อายุ 79 ปี ชาว ต.บ้านใหม่ ชี้ให้เห็นถึงพื้นที่แปลงนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยทรงเกี่ยวข้าวเมื่อปี 2539 (ภาพจากมติชนออนไลน์)
ข่าวจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ 21 พ.ค. ระบุว่านายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ติดต่อซื้อที่ดินดังกล่าว
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น